คุณธรรมและความคาดหวังของอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ที่มียังผู้ศรัทธา
คุณธรรมและความคาดหวังของอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ที่มียังผู้ศรัทธา
ท่านอิมามฮาซัน อัล อัสกะรีย์ เปรียบเสมือนดาวดวงที่สิบเอ็ดในท้องนภาแห่งตำแหน่งอิมาม (ผู้นำ) ของสายธารอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ท่านกำเนิด ณ เมืองมะดีนะฮ์ เมื่อวันที่ 8 เดือนรอบิอุซซานี ปีฮ.ศ. ที่ 232 และเสียชีวิต (ชะฮีด) พลีในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ที่เมืองซามัรรออ์ เมื่อวันที่ 8 เดือนรอบิอุลเอาวัล ฮ.ศ. 260 ระยะเวลาในการเป็นอิมามของท่านนั้นเพียงแค่หกปี
ท่านอิมามฮาซัน อัล อัสกะรีย์ ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองซามัรรออ์ ประเทศอิรัก พร้อมกับบิดาของท่านตั้งแต่อายุสี่ขวบ ท่านอยู่ในการเฝ้าสังเกตจับตามองของผู้ครองในสมัยนั้นอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาและที่นั่นเองที่ท่านได้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในนาม “อัสกะรีย์”
ความคาดหวังและคำสั่งเสียต่างๆ ของท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ในฐานะที่เป็นอิมามท่านสุดท้ายที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคม ซึ่งหลังจากการจากไปของท่าน ยุคแห่งการเร้นกายระยะสั้น (ฆ็อยบะฮ์ ซุฆรอ) และครั้งยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์ กุบรอ) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) บุตรชายของท่านจะเริ่มต้นขึ้น
ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานที่ประชาชนและสังคมจะถูกยับยั้งจากการสัมผัสกับการปรากฏของท่านในสังคมนั้น นับว่าควรค่าอย่างมากต่อการให้ความสำคัญและการใคร่ครวญ และนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทรงคุณค่า ทั้งนี้เนื่องจากท่านคืออิมาม (ผู้นำ) ของมวลมนุษยชาติ และท่านย่อมทราบดีว่ามันจะเป็นสิ่งที่ยังคุณประโยชน์ต่อบรรดาผู้เป็นที่รักและบรรดาพลพรรคของท่าน และจะเป็นการโน้มนำพวกเขาไปสู่ความดีงามและคุณธรรมต่างๆ
ซึ่งในเนื้อหาต่อไปนี้ คือบางส่วนจากคำสั่งเสียของท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ที่มียังผู้ศรัทธาทั้งหลาย :
أُوصیکُمْ بِتَقْوَى اللّهِ وَ الْوَرَعِ فى دینِکُمْ وَالاْجْتَهادِ لِلّهِ وَ صِدْقِ الْحَدیثِ وَ أَداءِ الأَمانَةِ إِلى مَنِ ائْتَمَنَکُمْ مِنْ بَرٍّ أَوْ فاجِر وَ طُولُ السُّجُودِ وَ حُسْنِ الْجَوارِ. فَبِهذا جاءَ مُحَمَّدٌ(ص)
“ฉันขอสั่งเสียท่านทั้งหลายให้มีความยำเกรงอัลลอฮ์ มีความเคร่งครัดในศาสนาของพวกท่าน อุตสาห์พยายามเพื่ออัลลอฮ์ มีวาจาสัจ ปฏิบัติตามความไว้วางใจต่อผู้ที่ไว้วางใจพวกท่าน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ตาม การสุญูดอย่างยาวนาน และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เนื่องจาก (ศาสดา) มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาเพื่อสิ่งเหล่านี้”
صَلُّوا فى عَشائِرِهِمْ وَ اشْهَدُوا جَنائِزَهُمْ وَ عُودُوا مَرْضاهُمْ وَ أَدُّوا حُقُوقَهُمْ، فَإِنَّ الرَّجُلَ مِنْکُمْ إِذا وَرَعَ فى دینِهِ وَ صَدَقَ فى حَدیثِهِ وَ أَدَّى الاْمانَةَ وَ حَسَّنَ خُلْقَهُ مَعَ النّاسِ قیلَ: هذا شیعِىٌ فَیَسُرُّنى ذلِکَ
“ท่านทั้งหลายจงนมาซร่วมในหมู่ชนทั้งหลายของพวกเขา เข้าร่วมในพิธีศพของพวกเขา เยี่ยมผู้ป่วยของพวกเขา รักษาสิทธิต่างๆ ของพวกเขา เพราะแท้จริงคนใดจากพวกท่านหากมีความเคร่งครัดในศาสนาของตน มีความสัจจริงในคำพูดของตน ปฏิบัติตามความไว้วางใจและมีมารยาทที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ ก็จะมีผู้กล่าวว่า นี่คือชีอะฮ์ สิ่งนั้นก็จะทำให้ฉันปิติยินดี”
إِتَّقُوا اللّهَ وَ کُونُوا زَیْنًا وَ لا تَکُونُوا شَیْنًا، جُرُّوا إِلَیْنا کُلَّ مَوَدَّة وَ ادْفَعُوا عَنّا کُلَّ قَبیح، فَإِنَّهُ ما قیلَ فینا مِنْ حَسَن فَنَحْنُ أَهْلُهُ وَ ما قیلَ فینا مِنْ سُوء فَما نَحْنُ کَذلِکَ
“ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด! และจงเป็นเครื่องประดับ (สำหรับเรา) และอย่าเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความอับอาย (สำหรับเรา) จงดึงทุกความรักมาสู่เรา และจงปัดป้องทุกสิ่งที่น่ารังเกียจออกไปจากเรา เพราะแท้จริงความดีงามใดก็ตามที่มีผู้กล่าวเกี่ยวกับเรา เราคือผู้ที่คู่ควรต่อมัน และความเลวร้ายใดก็ตามที่มีผู้กล่าวเกี่ยวกับเรา เรามิได้เป็นเช่นนั้น”
لَناحَقٌّ فى کِتابِ اللّهِ وَ قَرابَةٌ مِنْ رَسُولِ اللّهِ وَ تَطْهیرٌ مِنَ اللّهِ لا یَدَّعیهِ أَحَدٌ غَیْرُنا إِلاّ کَذّابٌ
“สำหรับเรามีสิทธิที่ถูกกำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน มีความเป็นเครือญาติใกล้ชิดต่อท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์และได้รับการชำระมลทินจากอัลลอฮ์ ไม่มีผู้ใดอื่นจากเราที่จะกล่าวอ้างมัน นอกจากผู้โป้ปด”
أَکْثِرُوا ذِکْرَ اللّهِ وَ ذِکْرَ الْمَوْتِ وَ تِلاوَةَ الْقُرانِ وَ الصَّلاةَ عَلَى النَّبِىِّ(ص) فَإِنَّ الصَّلاةَ عَلى رَسُولِ اللّهِ عَشْرُ حَسَنات، إِحْفَظُوا ما وَصَّیْتُکُمْ بِهِ وَ أَسْتَوْدِعُکُمُ اللّهَ وَ أَقْرَأُ عَلَیْکُمْ السَّلامَ
“ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงอัลลอฮ์และความตายให้มาก จงอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้มากและจงซอละวาต (ขอพร) ให้แก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ให้มาก เพราะแท้จริงการซอละวาตให้แก่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์นั้นจะมีผลรางวัลสิบความดีงาม ท่านทั้งหลายจงระวังรักษา (และปฏิบัติตาม) สิ่งที่ฉันได้สั่งเสียไว้แก่พวกท่าน ฉันขอฝากฝังพวกท่านไว้กับอัลลอฮ์ และฉันขอกล่าวสลามอำลาต่อพวกท่าน ” (1)
แหล่งอ้างอิง :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 75, หน้าที่ 372
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ