เอกภาพในแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์(อ) ตอนที่ 1

 

ในบทความนี้ขอนำเสนอ  เรื่องราวที่เกี่ยวกับ “เอกภาพ” ในแนวทางของอะฮลุลบัยต์ วะฮ์ดะห์ หรือ เอกภาพนั้น ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กำชับ และส่งเสริมต่อประชาชาติอิสลามไว้อย่างหนักแน่น และท่านศาสดา(ศ็อลฯ) เอง ก็ได้กำชับมุสลิม ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เช่นเดียวกัน ทั้งโดยคำพูดวาจาและการปฏิบัติของท่าน(ศ็อลฯ) เราจะเห็นว่า ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ใช้ความพยายามในการทำให้ประชาชาติอิสลามมีความสามัคคี และเป็นหนึ่งเดียวมาโดยตลอด และยังสั่งเสียให้ออกห่างจากความขัดแย้งและความแตกแยกและท่านก็ไม่เคยที่จะอนุญาตให้มุสลิมมีความขัดแย้งกันในหมู่พวกเขาเอง

 


อิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความคิดเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม ตัวอย่าง เช่น ความเท่าเทียมกันในเรื่องของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และสีผิว


ด้วยเหตุนี้เอง วิทยาการจากอัลกุรอาน และแนวทางของศาสดา(ศ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์(อ) จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกัน เราจะเห็นว่า บรรดาผู้ตามศาสดา(ศ็อลฯ) อย่างแท้จริง คำพูดและการกระทำของเขา จะมีอัลกุรอาน และแบบอย่างตามวิถีชีวิตของศาสดา(ศ็อลฯ) เป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหว ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ศาสนาหรือการพิทักษ์รักษาอิสลาม หรือการต่อสู้กับแนวคิดที่บิดเบือนและหลงผิด


ในบทความนี้ จะขอนำเสนอถึงประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นของวะฮดะห์ ความสำคัญของวะฮ์ดะห์ และความหมายที่ถูกต้องของวะฮดะห์ และอธิบายวิธีการสร้างความเป็นเอกภาพในแนวทางของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์(อ)ของท่าน ในการพิทักษ์ ปกป้องศาสนา และการวิเคราะห์ถึงแนวคิดในเรื่องของเอกภาพทั้งภาคความรู้และภาคปฏิบัติ


1. ความสำคัญของเอกภาพในทัศนะของอัลกุรอาน

 

เอกภาพ หรือ วะฮ์ดะห์ ในอิสลาม คือ สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ได้อธิบายแก่เราแล้ว ถึงความสำคัญของมัน และในด้านการเมืองและสังคมมุสลิม วะฮดะห์ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชาตินี้สามารถยืนหยัดและพัฒนาสังคมไปสู่ความสงบสุขและความเจริง


เอกภาพ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชาติอิสลาม มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นเวทีใดก็ตาม และในด้านตรงข้าม ความแตกแยก ความขัดแย้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากความอัปยศและความปราชัย อันนำไปสู่หายนะ ทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ ทั้งสังคมโดยรวม และส่วนบุคคล


การเรียกร้องสู่เอกภาพ และความสามัคคีกันในหมู่มุสลิม และการออกห่างจากความแตกแยก จึงเป็นคำสั่งหนึ่งจากอัลกุรอาน และวิถีชีวิตของศาสดา(ศ)  อะฮลุลบัยต์ (อ) และบรรดาเอาลียาอัลลอฮ์


 อัลกุรอานกล่าวว่า


وَ عْتَصمُوا بحَبْل‌ للّه‌ جَميعاً وَلاَ تَفَرِّقُوا
 

และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ์ โดย พร้อมเพรียงกันทั้งหมด และจงอย่าได้แตกแยกกัน


ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน : 103

 

ดังนั้น เอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชาติอิสลาม คือ ความจำเป็นอันสำคัญ ซึ่งเป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าต่อบรรดามุสลิม ทุกๆคน และการกระทำใดก็ตามที่นำไปสู่ความแตกแยก จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย และสร้างความเสียหายกับสังคมของเขาเอง และจะทำให้สังคมนั้นอ่อนแอ ดังที่ อัลกุรอานอันจำเริญ ได้กล่าวไว้ว่า

 

 
وَلاَتَنَازَعُوا فَتَفْشَلُوا وَتَذْهَب‌َ ريحُكُم‌ْ

 

และพวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าได้ขัดแย้งกัน เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าย่อท้อและจะทำให้ความเข้มแข็งของพวกเจ้าหมดไป


ซูเราะฮ์อัลอันฟาล : 46

 

ดังนั้น จากอัลกุรอาน ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเอกภาพนั้น คือ การเคลื่อนไหวไปในทิศทางตามคำชี้นำของพระผู้เป็นเจ้า และการปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของศาสดา(ศ็อลฯ) และเอาลียาของพระองค์


ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วะฮ์ดะห์ คือ สิ่งที่สอดคล้องกับ ความเห็นของสติปัญญาและทัศนะของศาสนบัญญัติ และการขัดแย้งและแตกแยกหรือการโจมตีในประเด็นทางความเชื่อบางประการ ซึ่งอยู่ในลำดับหลัง เตาฮีด นะบูวะห์ และมะอาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับอนุญาตให้สร้างความขัดแย้ง


ผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาของศาสดามูฮัมมัด(ศ็อลฯ) จะต้องตระหนักอยู่เสมอและไม่ลืมว่า หนึ่งในภารกิจหลักและปฏิบัติการหลักของท่าน คือ การสร้างความสามัคคี เอกภาพ และความรักให้เกิดขึ้นในก้นบึ้งจิตใจให้กลายมาเป็นพี่น้องในหมู่มุสลิม ดังที่อัลกุรอาน อันทรงเกียรติ ได้กล่าวว่า


وَذْكُرُوا نعْمَةَ للّه‌ عَلَيْكُم‌ْ اذْ كُنْتُم‌ْ أَعْدَاءً فَاَلِّف‌َ بَيْن‌َ قُلُوبكُم‌ْ فَاَصْبَحْتُم‌ بنعْمَته‌ اخْوَاناً
 

และพวกเจ้าจงรำลึกถึง ความโปรดปรานของพระองค์อัลลอฮ์ ที่มีต่อพวกเจ้าทั้งหลาย เมื่อครั้งที่พวกเจ้านั้นต่างเป็นศัตรูกันและพระองค์ได้ทรงประสานระหว่างหัวใจของพวกเจ้า ต่อมาพวกเจ้าก็เปลี่ยนมาเป็นพี่น้องกันโดยความกรุณาของพระองค์


ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน : 103

 

ในยุคต้นของอิสลามนั้น ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไม่เคยอนุญาตให้เกิดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นต้นเหตุ จะนำมาซึ่งความแตกแยกและความขัดแย้ง ทั้งในความคิดหรือสังคม ในมุมของชีอะฮ์ อิมามียะฮ์ เราจะเห็นเช่นกันว่า บรรดาอิมามจะยับยั้งไม่ให้เกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ และแนวทางของ อะมีรุลมุอ์มินีน (อ) ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านได้ดำรงนโยบายในการรักษาเอกภาพ เพื่อปกป้องพิทักษ์ศาสนา ได้ให้บทเรียนกับมุสลิม ครั้งเมื่อท่านถูกลอบสังหาร ชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนก็ต้องเผชิญอุปสรรคของความแตกแยก และตกอยู่ในหลุมพรางแห่งฟิตนะฮ์


อิมามอาลี บิน อะบี ฏอลิบ (อ) ได้กล่าวถึง ประเด็นนี้ไว้ว่า


“ตราบใดที่ประชาชาติต่างๆก่อนหน้านี้ ยังคงรักษาเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวได้ พวกเขาก็จะยังคงพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง สามารถรักษาศักดิ์ศรีได้สำเร็จ พวกเขาจะได้เป็นผู้ปกครอง และผู้สืบทอดมรดกในแผ่นดิน และจะได้เป็นผู้นำของโลก”


นะฮ์ญุลบะลาเฆาะ : คุตบะฮ์ที่ 5

 

จากการศึกษาแนวทางของอิมามอาลี (อ) ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายหลักของท่าน (อ) คือ การรักษารากฐานอิสลามและการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในสังคม และในประเด็นเรื่อง คิลาฟะฮ์ หรือ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาประการแรกที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติอิสลามในกรณีนี้ ท่านอิมามไม่อนุญาตให้สร้างความแตกแยกด้วยประเด็นนี้ และห้ามไม่ให้ทำลายรากฐานความสามัคคีในประชาชาติด้วยเช่นกัน

 

บทสรุป


จากหลักฐานในอัลกุรอานและวิถีชีวิตของศาสดา(ศ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์(อ) ชี้ให้เห็นว่า ความจำเป็นประการหนึ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม คือ เอกภาพ ถือว่าเป็นปัจจัยในการพัฒนาสังคมสู่ความเจิรญ และเกียรติยศ ส่วนด้านตรงข้าม ความแตกแยกเป็นสิ่งที่อัลกุรอาน และซุนนะฮ์ ได้สอนแก่เราให้หลีกเลี่ยง พร้อมทั้งยังอธิบายอีกว่าหากความแตกแยกเกิดขึ้น มันจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเสื่อมเสีย ความอ่อนแอและความหายนะในสังคม

 

บทความโดย Muhammad Behesti


ขอขอบคุณเว็บไซต์เอบีนิวส์ทูเดย์