เอกภาพในแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์(อ) ตอนที่ 3

การสร้างเอกภาพที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับสติปัญญา

 

ในด้านภาษา วะฮ์ดะห์ หมายถึง การทำให้เป็นหนึ่ง หรือการทำให้สองสิ่งที่สามารถรวมกันได้ เป็นหนึ่งเดียว
ความหมายของวะฮ์ดะห์ ระหว่างมัซฮับ และวะฮ์ดะห์ในประชาชาติอิสลาม คือ ทุกๆนิกายได้ละทิ้งความขัดแย้งและร่วมกันในสิ่งที่มีจุดร่วมเหมือนกัน ไม่ได้หมายถึง การทำให้หลักความเชื่อของทุกคนเหมือนกัน และเลือกอันหนึ่ง หรือ การบังคับให้นิกายอื่นมีความเชื่อเหมือนตน ในประเด็นเรื่องวะฮ์ดะห์ในอิสลาม จะต้องพิจารณาที่วะฮ์ดะห์ในทางนิกายและวะฮ์ดะห์ในอุมมัตอิสลาม และการแยกจากกัน จะนำอันตรายมาสู่มัน
เป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายของบรรดาผู้รู้ที่มีความเป็นห่วงและหวงแหนต่อศาสนาอิสลาม และเหล่าผู้ปกป้องเอกภาพของศาสนานี้ ไม่ได้ทำการจำกัดนิกายให้เหลือเพียงนิกายเดียว และปฏิเสธนิกายอื่นๆ เพราะ วิธีการนี้ ป็นสิ่งที่ ไม่สอดคล้องกับเหตุผลและสติปัญญาและไม่สอดคล้องกับวิชาการความรู้ แต่มันยังเป็นการสุมไฟแห่งความแตกแยกให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป
การอธิบายอย่างง่ายสำหรับเรื่องนี้คือ” ถ้าหากผู้รู้คนหนึ่งตัดสินว่าเอกภาพ คือ การลบคำว่า มัซฮับออก แล้วกล่าวว่า โดยการข่มและบังคับให้ผู้อื่นยอมรับหลักศรัทธาของตน แล้วอ้างว่า นี่คือ วิธีการสร้างเอกภาพ มันจะให้ผลตรงข้ามกับสิ่งที่เขาได้อ้างไว้ เพราะเขาได้วางเงื่อนไขว่า จะสร้างเอกภาพต้องตามเขาเสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามหรือยึดถือแนวคิดแบบเดียวกับเขา ก็ไม่มีทางสร้างเอกภาพขึ้นมาได้ วิธีนี้คือ การสร้างเอกภาพโดยให้เชื่อแบบเดียวกับที่เขาเชื่อ ศรัทธาแบบเดียวกับที่เขาศรัทธา และหากปฏิเสธแล้ว เขาก็จะไม่ถูกถือว่าเป็นมุสลิม


การวางเงื่อนไขเอกภาพแบบนี้ ไม่ใช่สิ่งอื่น นอกจากการเพิ่มความแตกแยกให้มีมากขึ้น ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า มนุษย์เราไม่อาจสร้างเอกภาพได้ หากบังคับให้คนเชื่อหรือคิดเหมือนกัน จะร้อยเรียงสังคมเป็นหนึ่งเดียวจำต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”


และอุลามาอ์ ผู้รักในเอกภาพในแต่ละยุคสมัย ก็ไม่ได้แสวงหาเอกภาพ โดยการข่มและบังคับให้ผู้อื่นยอมรับ ความเชื่อของตน พวกเขาต่างรู้ดีว่า การละไว้ซึ่งความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรับมือกับการเผชิญหน้ากับศัตรูของศาสนา


จุดร่วมกันของมุสลิม คือ พวกเขามีความเชื่อและศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า มีความศรัทธาต่อระบบนะบูวะห์ มีความศรัทธาศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีความศรัทธาต่อมะอาด หรือวันแห่งการคืนกลับ วันแห่งการตัดสินตอบแทน ยึดถืออัลกุรอาน และซุนนะฮ์ของศาสดา เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต นมาซ โดยมีกิบละฮ์ เป็นทิศทาง บำเพ็ญฮัจญ์ จ่ายซะกาต ถือศีลอด และอื่นๆ อันเป็นคำสอนหลักของศาสนา โดยรวมแล้ว มุสลิม คือ คนที่มีโลกทัศน์และมีวัฒนธรรมร่วมกัน และมีประวัติศาสตร์อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และเฉิดฉายมาอย่างยาวนาน


หากว่า เรื่องหลักๆ หรืออูศูลุดดีน มีความเหมือนไม่มีแตกต่างกัน ดังนั้น การแตกแยกและความขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักสติปัญญา

 

วะฮ์ดะห์ในมุมมองของวิชาเทววิทยาและแนวทางของศาสดา (ศ็อลฯ)

 

ในยุคสมัยของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) นั่นยังไม่มีความขัดแย้ง และการแตกแยกเกิดขึ้นใน ประชาชาติอิสลาม มุสลิมทุกคนต่างยึดถือศาสดา เป็นแกนหลัก พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวและมีความสามัคคี ทว่าจากการที่มุสลิมทุกคนถือว่า พวกเขาปฏิบัติตามท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และวิถีทางของท่าน


แต่ปัจจุบัน เรากลับเห็นว่า มุสลิม บางกลุ่มได้พยายามละทิ้งแนวทางในการสร้างความสามัคคีของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ในขณะที่ท่านศาสดาได้เรียกร้องให้ ทุกๆคนไปสู่เอกภาพตามคำสั่งของอัลกุรอานและไม่เคยยอมให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น


ศาสดา คือ ผู้ที่ทำการญิฮาดในทุกแนวรบเพื่อคงไว้ซึ่งศาสนาและเตือนประชาชาติอิสลาม ถึงอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในหมู่มุสลิมเสมอ


เราสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า ศาสดา(ศ็อลฯ) ของเรา ได้แสดงบทบาทอันเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ ในการสานสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีและสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ


โดยบทบาทของท่านศาสดา มีตัวอย่างดังนี้


1. ความพยายามในการรวมอุมมัตเป็นหนึ่งโดยการใช้อัลกุรอาน เป็นแกนหลัก


2. การสอนให้ผู้คนในสังคม มีวัฒนธรรมร่วมกัน การวางหน้าที่ต่างๆให้กับทุกๆคน และการวางรากฐานในการปฏิบัติงาน โดยให้ประชาชน มีส่วนร่วมและปรึกษาหารือกัน ทั้งในเรื่องทางศาสนาและเรื่องทางการเมืองหรือแม้กระทั่งเรื่องครอบครัว


3. การถอนรากถอนโคนรากฐานที่ทำให้เกิดความแตกแยกทั้งในภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ ตัวอย่าง ทางประวัติศาสตร์ จะบอกเราเองว่า ศาสดา ได้เปลี่ยนอาหรับที่ฆ่ากันได้ เพียงแค่เรื่อง นามสกุลให้กลายมาเป็นพี่น้องได้อย่างไร


ตามหลักของวัฒนธรรมแบบศาสดา เหตุผลต่างๆที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งทางอารมณ์และปัจเจกสังคม และอื่นๆ จะต้องหมดไป ซึ่งในยุคสมัยดังกล่าว เมื่อปัญหาเกิดขึ้นทุกคนจะกลับไปหาท่านศาสดาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ในการสร้างสันติต่อชาวคัมภีร์นั้น ท่านศาสดาได้เรียกร้องและเชิญชวนพวกเขา ให้มีความสามัคคี โดยอาศัยจุดร่วมเหมือนกัน คือ ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังที่เราจะเห็นในอัลกุรอานว่า


قُل‌ْ يَا أَهْل‌َ لْكتَاب‌ تَعَالَوْا الَي‌ كَلمَةٍ سَوَاءٍ بَيْنَنَا وَبَيْنَكُم‌ْ
 

จงกล่าวเถิดว่า โอ้ชาวคัมภีร์ ! จงมายังถ้อยคำหนึ่งซึ่งเท่าเทียมกันระหว่างเราและพวกท่าน

 


ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน : 64


และในเชิงการเมือง และภาคสังคมนั้น ศาสดามูฮัมมัด ยังได้ทำสนธิสัญญาระหว่างมุสลิม กับชาวคัมภีร์ อย่างที่เราได้ศึกษากันในประวัติศาสตร์อีกด้วยเช่นกัน บางกรณี ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ผู้ศรัทธา คือ เรือนร่างอันเดียวกัน

 

บทสรุป


การมีจุดร่วมเหมือนกัน คือ ความดีงามของคำสอนในแต่ละศาสนา และการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธา คือ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นให้วจนะอันเปี่ยมด้วยวิทยปัญญาของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)

 

บทความโดย Muhammad Behesti


ขอขอบคุณเว็บไซต์เอบีนิวส์ทูเดย์