ผู้ที่มีมารยาททรามจะมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสังคม

ผู้ที่มีมารยาททรามจะมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสังคม

 

พฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์นั้นมีอิทธิพลและผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตทางสังคม ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องนี้ ด้วยเหตุที่ว่ามนุษย์จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น จะต้องคบหาสมาคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องมีมารยาทที่ดีงาม แสดงออกซึ่งความรักและความเอื้ออาทรต่อทุกคน เพื่อจะทำให้สังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวเราเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข มีความสดใสและมีชีวิตชีวา

 

     คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า ส่วนหนึ่งจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สามารถดึงดูดหัวใจของประชาชนมาสู่ศาสนาอิสลามได้อย่างง่ายดายนั่นก็คือ การมีมารยาทที่ดีงามและจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาของท่าน โดยกล่าวว่า :

 

وَ اِنَّكَ لَعَلي خُلُقٍ عَظيمٍ

 

“และแท้จริงเจ้านั้นอยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่” (1)

 

     ในอีกโองการหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า หากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีมารยาทที่ไม่ดีหรือมีจิตใจที่แข็งกระด้างแล้ว ประชาชนก็จะเตลิดหนีไปจากท่าน โดยกล่าวว่า :

 

فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لاَنفَضُّواْ مِنْ حَوْلِكَ

 

“เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์ ที่เจ้า (มุฮัมมัด) ได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบๆ ตัวเจ้า” (2)

 

     มารยาทที่เลวทราม คือบ่อเกิดของความชั่วและความผิดบาปจำนวนมาก ตามวจนะคำสอนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มันคือบาปประการหนึ่งที่จะไม่มีโอกาสในการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) และทุกครั้งที่ผู้มีมารยาททรามต้องการที่จะกลับตัวกลับใจ เขาก็จะกระทำบาปอื่นอีก ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

اَبَى اللّهُ لِصاحِبِ الْخُلْقِ السَّيِّىءِ بِالتَّوبَةِ. فَقيلَ: يا رَسول اللّهِ، وَ كَيْفَ ذلِكَ؟

 

قالَ : لاِنـَّهُ اِذا تابَ مِنْ ذَنـْبٍ وَقَعَ فى اَعْظَمَ مِنَ الذَّنـْبِ الّذى تابَ مِنْهُ

 

“อัลลอฮ์ทรงปฏิเสธ (ที่จะยอมรับ) การเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) ของผู้ที่มีมารยาททราม”

 

    มีผู้ถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” ท่านกล่าวว่า “เนื่องจากเมื่อเขาสารภาพผิดแล้ว เขาก็จะเข้าสู่การกระทำบาปอื่นที่ใหญ่กว่าบาปที่เขาได้เคยกระทำ” (3)

 

    บางทีเหตุผลของสิ่งนี้อาจเป็นเพราะว่า พฤติกรรมที่ไม่ดีและการมีมารยาททรามนั้นจะติดตัวอยู่กับมนุษย์ตลอดไป ไม่สามารถแยกออกจากเขา แม้ว่าผู้มีมารยาททรามจะสำนึกผิดจากบาปหนึ่ง แต่ด้วยผลของความมีมารยาททรามของเขานั่นเองที่จะชักนำเขาไปสู่ความชั่วและบาปอื่น ในกรณีเช่นนี้เขาจะต้องใช้ความอุตสาห์พยายามอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมารยาทของตนเอง

 

    ส่วนหนึ่งจากผลของความมีมารยาททรามและพฤติกรรมที่เลวร้ายนั้น คือความชิงชังและความรังเกียจจากผู้คนทั้งหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่มีมารยาททรามจะสูญเสียเพื่อนและมิตรสหาย การเป็นที่ยอมรับในสังคมก็จะค่อยๆ หมดไป ตัวอย่างเช่น หากเขามีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เขาก็จะสูญเสียลูกค้าไปในที่สุด และหากเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลาย มารยาทที่เลวทรามของเขาก็จะเป็นเหมือนกับกลิ่นเหม็นที่ไม่น่าพึงปรารถนา ซึ่งจะทำให้ผู้คนเตลิดออกไปจากเขา สิ่งนี้จะทำให้เขาถูกโดดเดี่ยวไปจากสังคม และจะทำให้เขาต้องพบกับความทุกข์ทรมานและความขมขื่นในการดำเนินชีวิต ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

اَلسَّيِّئُ الْخُلُقِ كَثيرُ الطَّيْشِ مُنَغَّصُ الْعَيْشِ

 

“ผู้ที่มีมารยาททราม จะมีความผิดพลาดมาก และจะมีชีวิตที่ขมขื่น” (4)

 

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอาน บทอัลกอลัม โองการที่ 4

 

(2) อัลกุรอาน บทอาลุอิมรอน โองการที่ 159

 

(3) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 73, หน้าที่ 229, ฮะดีษที่ 12

 

(4) ฆุรอรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 1604

 

 บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ