เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 3

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 3

 

ปัญหาการทำนมาซรวมหรือการแยกช่วงเวลาระหว่างทั้งสองนมาซ

 

เมื่อเราตกลงให้มีการประชุมต่อ หลังจากนมาซเสร็จแล้ว ก็มีสมาชิกในที่ประชุมท่านหนึ่งชื่อว่า ท่านนาวาบ อับดุลก็อยยูม คาน ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในบรรดาผู้รู้และเป็นผู้มีเกียรติในบรรดาอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ท่านเป็นสุภาพบุรุษระดับปัญญาชน ชอบใฝ่หาวิชาความรู้และความชัดแจ้ง ท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า ในระหว่างที่บรรดาผู้รู้รับดื่มน้ำชากันอยู่นี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอหยิบยกประเด็นปัญหานอกหัวข้อเรื่องที่เรากำลังจะพูดคุยกันขึ้นเสนอต่อท่านสักข้อหนึ่ง แต่ในความคิดของข้าพเจ้ารู้สึกมีความสงสัยและรู้สึกกังวลใจอย่างมากทีเดียว

 

ซุลฏอนฯ : เรียนเชิญ ถามมาได้ ข้าพเจ้าพร้อมที่จะรับฟังคำถามของท่านเสมอ

 

ท่านนาวาบ : ข้าพเจ้าใฝ่ฝันที่จะพบกับผู้รู้ของชีอะฮ์มานานแล้ว เพื่อจะถามเขาว่า ทำไมพวกชีอะฮ์จึงถือปฏิบัติในสิ่งที่ขัดแย้งกับแบบฉบับของท่านนบี(ศ็อลฯ) แม้กระทั่งการนมาซที่พวกเขาทำรวมกันระหว่างซุฮ์ริกับอัศริ และมัฆริบกับอีชาอ์ ?

 

ซุลฏอน : ประการแรก บรรดาท่านผู้รู้ในที่ประชุมนี้ทั้งหลาย ต่างก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ทัศนะของบรรดานักปราชญ์นั้นมีความแตกต่างกันในประเด็นปัญหาส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย(ฟุรูอ์)ค่อนข้างมาก อย่างเช่น บรรดาอิมามทั้งสี่มัซฮับของพวกท่าน ก็มีทัศนะทางวิชการด้านศาสนบัญญัติ ที่แตกต่างกันในระหว่างพวกท่านกันเองมากมายหลายเรื่อง เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างพวกเรากับพวกท่านกรณีปัญหาในส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย(ฟุรูอ์)เช่นนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก

 

  ประการที่สอง คำพูดของท่านที่กล่าวว่า พวกชีอะฮ์อยู่กับความขัดแย้งต่อแบบฉบับของท่านนบี(ศ็อลฯ) เป็นการตั้งข้อกล่าวหา เป็นคำพูดที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่ประการใด ทั้งนี้ ก็เพราะท่านนบี(ศ็อลฯ)ทำนมาซรวมกันอย่างเป็นเนืองนิจ และแยกนมาซในบางโอกาส

 

ท่านนาวาบพูดพลางหันหน้าไปขอความเห็นต่อบรรดานักปราชญ์ในที่ประชุมและตั้งคำถามคนเหล่านั้นว่า ความจริงเรื่องนี้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)แยกทำเป็นเนืองนิจและทำรวมกันในบางโอกาสมิใช่หรือ?

 

ท่านฮาฟิซ กล่าวตอบพลางหันหน้าไปหาท่านนาวาบ ท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้ทำการรวมสองนมาซในช่วงเวลาเดียวกัน ในสองกรณีเท่านั้น คือในยามเดินทาง กับในกรณีที่มีอุปสรรคเช่น ฝนตกและอื่นๆที่คล้ายกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะไม่สร้างความยุ่งยากแก่ประชาชาติของท่าน

 

ส่วนในยามปกติ ถ้าไม่มีปัญหาอุปสรรค ที่ต้องทำนมาซรวม ท่านก็ทำการแยกช่วงเวลา ข้าพเจ้าสงสัยว่า ท่านซัยยิดคงจะสับสนเกี่ยวกับกฎของการเดินทางกับยามปกติ

 

ซุลฏอน : หามิได้ ข้าพเจ้ามิได้สับสนในเรื่องนี้เลย ข้าพเจ้ามีความมั่นใจในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป แม้กระทั่งรายงานต่างๆที่ถูกต้อง(ศอฮีฮ์)ของพวกท่านเองก็ระบุไว้ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ทำการรวมสองนมาซในช่วงเวลาเดียวกัน ในยามปกติ โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ

 

ท่านฮาฟิซ : บางที อาจเป็นไปได้ว่า ท่านพบเรื่องเช่นนั้น ในรายงานต่างๆของพวกท่านเอง แล้วคิดเอาเองว่าเป็นบทรายงานของฝ่ายเรา

 

ซุลฏอน: มิได้ ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ เพราะเหตุว่า บันทึกรายงานของฝ่ายชีอะฮ์ทั้งหมด ล้วนอนุญาตให้ทำสองนมาซรวมกันในช่วงเวลาเดียวกันอยู่แล้ว บทรายงานในตำราของฝ่ายเรามีความชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนที่ยังมีปัญหาถกเถียงกัน ว่าทำนมาซรวมกันได้หรือไม่ได้นั้น จะมีก็เพียงแต่ในหมู่นักรายงานฝ่ายท่านเท่านั้น แน่นอนเราได้อ้างถึงหลักฐานที่เชื่อถือได้ และกล่าวถึงสารบบการรายงานของพวกท่าน  ซึ่งล้วนเป็นฮะดีษและเป็นคำบอกเล่าที่ชี้ชัดในประเด็นนี้อย่างมากมาย

 

ท่านฮาฟิซ : ท่านสามารถระบุบทรายงานและฮะดีษต่างๆที่กล่าวถึงเรื่องนี้ แล้วสามารถระบุถึงตำราอ้างอิงหลักฐานนั้นให้แก่พวกเรา ได้หรือไม่ ?

 

ซุลฏอน: ได้ แน่นอน นี่คือ มุสลิม บิน ฮัจญาจ ท่านได้รายงานไว้ในศอฮีฮ์ของท่าน ในบทว่าด้วยการรวมระหว่างสองนมาซในยามปกติ โดยอ้างสารบบการรายงานของท่าน จากท่านอิบนุอับบาส ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้ทำนมาซซุฮ์ริ และอัศริรวมกัน และทำนมาซมัฆริบกับอิชาอ์รวมกัน ในยามที่ไม่มีเหตุน่ากลัวใดๆ และไม่ใช่เดินทาง ท่านรายงานต่อไปอีก โดยอ้างสารบบการรายงานของท่าน จากอิบนุอับบาส ที่ได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้นมาซกับท่านนบี (ศ็อลฯ) แปดร็อกอะฮ์รวมกันและเจ็ดร็อกอะฮ์รวมกัน (27)

 

คำบอกเล่าในความหมายเดียวกันนี้ ท่านอิมามอะห์มัดบินฮันบัลก็ได้รายงานไว้ในตำรามุสนัดของท่านเล่ม 2 หน้า 221 และท่านได้ผนวกฮะดีษหนึ่งจากรายงานของอิบนุอับบาสเสริมเข้าไปอีกที่ท่านได้กล่าวว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ทำนมาซที่เมืองมะดีนะฮ์ ในช่วงที่พำนักอยู่ มิใช่ในช่วงเดินทาง เจ็ดร็อกอะฮ์ (มัฆริบ-อิชาอ์) และแปดร็อกอะฮ์ (ซุฮ์ริ-อัศริ)

 

ท่านมุสลิม รายงานคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในตำราศอฮีฮ์ของท่านจนถึงข้อความในฮะดีษที่ 57 โดยอ้างสารบบการรายงานของท่าน จากอับดุลลอฮ์ บิน ชะฟีก ที่กล่าวว่า ท่านอิบนุอับบาสกล่าวปราศรัยแก่พวกเราในวันหนึ่งหลังจากนมาซอัศริแล้วจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดินแล้วเริ่มมองเห็นดวงดาวทำให้ประชาชนพูดว่า นมาซเถิด นมาซเถิด แต่ท่านอิบนุอับบาสก็มิได้ใส่ใจกับพวกเขา ทำให้คนตระกูลตะมีมคนหนึ่ง ตะโกนขึ้นในยามนั้นโดยไม่เว้นวรรคว่า นมาซเถิด นมาซเถิด

 

ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า “เจ้าจะสอนแบบฉบับของท่านศาสดาให้แก่ฉันกระนั้นหรือ? เจ้าไม่มีมารดาแน่แล้ว

 

แล้วท่านกล่าวว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ทำนมาซรวมระหว่างซุฮ์ริกับอัศริและมัฆริบกับอิชาอ์

 

ท่านอับดุลลอฮ์บินชะกีก กล่าวว่า ในใจของฉันรู้สึกสับสนต่อเรื่องนั้นยิ่งนัก ฉันจึงไปหาท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ แล้วถามท่านฉันจึงเชื่อถือคำพูดของท่าน

 

ท่านมุสลิม รายงานไว้ในศอฮีฮ์ของท่านฮะดีษที่ 58 นี่เป็นอีกฮะดีษหนึ่งที่มีสายสืบมาจากท่านอับดุลลอฮ์บินชะกีก อัลอุก็อยลีย์ ท่านกล่าวว่า ชายคนหนึ่งพูดกับท่านอิบนุอับบาส (เพราะท่านกล่าวปราศรัยยืดยาวมาก) ว่า นมาซเถิด แต่ท่านอิบนุอับบาสยังนิ่งเฉยจากนั้นเขาก็ยังกล่าวว่า นมาซเถิด แต่ท่านอิบนุอับบาสก็ยังนิ่งเฉย ต่อจากนั้นเขาก็ยังกล่าวอีกว่า นมาซเถิด แต่ท่านอิบนุอับบาสก็ยังนิ่งเฉยอีกแล้ว ท่านกล่าวขึ้นว่า เจ้าไม่มีมารดาแน่แล้ว เจ้าจะสอนเราในเรื่องการนมาซกระนั้นหรือ ขณะที่เราเคยทำสองนมาซรวมกันในสมัยท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ)

 

ท่านริซกอนีย์ซึ่งเป็นนักปราชญชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของพวกท่านรายงานไว้ในตำราของท่าน”ชะเราะฮ์มุวัฏเฏาะมาลิก 1 หน้า 263 การทำสองนมาซรวมกันรายงานจากท่านนะซาอีย์ จากสายรายงานของอุมัรว์บินฮะร็อม จากอิบนุชะอ์ซาอ์ ท่านกล่าวว่า แท้จริงท่านอิบนุอับบาสทำสองนมาซ (ซุฮ์ริและอัศริ) และสองนมาซ (มัฆริบกับอิชาอ์) รวมกันที่เมืองบัศเราะฮ์และท่านได้บอกว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ทำนมาซอย่างนี้

 

ท่านมุสลิมรายงานไว้ในตำราศอฮีฮ์ ท่านมาลิกรายงานไว้ในตำราอัล-มุวัฏเฏาะท่านอะห์มัดบินฮันบัลรายงานไว้ในตำรามุสนัด ท่านติรมิซีย์รายงานไว้ในตำราศอฮีฮ์บทว่าด้วยการทำสองนมาซรวมกัน โดยอ้างสารบบการรายงานของพวกเขาเอง จากท่านซะอีด บิน ญุบัยร์ ซึ่งรายงานจากอิบนุอับบาส ที่กล่าวว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ)ทำนมาซซุฮ์ริ และอัศริรวมกันและทำนมาซมัฆริบกับอิชาอ์รวมกันที่เมืองมะดีนะฮ์ โดยไม่มีเหตุที่น่ากลัว และไม่มีฝนแต่ประการใด มีคนถามท่านอิบนุอับบาสว่า ท่านมีจุดประสงค์ใดในการกระทำเช่นั้น ? ท่านกล่าวว่า ท่านนบี(ศ)ต้องการจะไม่ให้มีความยุ่งยากแก่คนใดในหมู่ประชาชาติของท่าน

 

นี่คือ บทรายงานบางส่วนของพวกท่านในเรื่องนี้ ทั้งที่ยังมีนอกเหนือจากนี้อีกมาก แต่บางทีอาจมีคนกล่าวว่า มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าอนุญาตให้รวมสองนมาซในช่วงเวลาเดียวกันได้ แม้จะไม่มีอุปสรรคอันใดและมิใช่เดินทางโดยนักปราชญ์ของพวกท่านได้ตั้งชื่อบทไว้ในตำราศอฮีฮ์และมุสนัดของพวกเขาไว้ภายใต้ชื่อบทว่า “การทำสองนมาซรวมกัน” แล้วในบทนั้นพวกเขายังได้กล่าวถึงรายงานต่างๆที่อนุญาตให้ทำนมาซรวมกันได้โดยไม่มีข้อแม้ใดทั้งสิ้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเดินทางหรือในยามปกติจะมีหรือไม่มีอุปสรรคใดก็ตาม

 

ถ้าหากมิใช่ความหมายนี้ บรรดานักปราชญ์เหล่านั้นก็จะต้องตั้งชื่อบทไว้เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับนมาซรวมในยามปกติและอีกบทหนึ่งเกี่ยวกับนมาซรวมในยามเดินทางแต่โดยที่พวกเขามิได้ทำอย่างนี้  พวกเขาพรรณนาถึงรายงานต่างๆในบทเดียวกัน หมายความว่า เป็นหลักฐานแสดงว่า อนุญาตให้นมาซรวมกันโดยไม่มีเงื่อนไข

 

ท่านฮาฟิซ : “แต่ทว่าข้าพเจ้าไม่เคยพบรายงานเหล่านั้น และไม่ปรากฏว่าจะมีรายงานว่าด้วยเรื่องนี้ในหนังสือศอฮีฮ์บุคอรีเลย”

 

ซุลฏอน: ประการแรก เพียงเท่าที่บรรดาเจ้าของตำราศอฮีฮ์เล่มอื่นได้บันทึกคำบอกเล่าและรายงานฮะดีษ ตามมาตรฐานที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของฮะดีษนั้นไว้แล้ว เช่น มุสลิม ติรมิซีย์ นะซาอีย์ อะห์มัดบิน ฮันบัล และหนังสือชัรรอฮ์ ศอฮีฮ์มุสลิม บุคอรี และบรรดานักปราชญ์ใหญ่ๆของพวกท่าน ยกเว้น บุคอรีคนเดียว ยังไม่ถือว่ารายงานใดๆของท่านเหล่านั้นเพียงพอ ต่อการยืนยันโดยมาตรฐานที่จำเป็นในการตรวจสอบอีกหรือ ? ถ้าเป็นเช่นนั้น จุดมุ่งหมายและจุดประสงค์ของเราได้ยืนยันความถูกต้องแล้ว ?

 

ประการที่สอง ท่านบุคอรีได้สนับสนุนรายงานบทนี้ไว้ในศอฮีฮ์ของท่านแล้ว แต่ทว่าอยู่ในหัวข้ออื่น นั่นคือในบทว่าด้วย”การยืดเวลานมาซซุฮ์ริออกไปถึงเวลอัศริ”จาก “กิตาบมะวากีตุศศอลาฮ์” และยังมีปรากฏในบทว่าด้วย “ซิกรุลอิชาอ์วัลอิตมะฮ์”และบทว่าด้วย “วักตุลมัฆริบ”

 

ขอได้โปรดตรวจสอบบทรายงานเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วท่านจะพบว่า รายงานบอกเล่าทุกประการเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานว่า อนุญาตให้ทำสองนมาซรวมกันในช่วงเวลาเดียวได้ ดังที่ถูกนำมาอ้างไว้ก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน

 

การทำสองนมาซรวมกันตามทัศนะของบรรดานักปราชญ์ทั้งสองฝ่าย

 

ผลสรุป ก็คือ ถ้าหากรายงานฮะดีษเหล่านี้ถูกนำมาอ้างโดยนักปราชญ์ทั้งสองฝ่ายพร้อมกับยืนยันความถูกต้องของฮะดีษนั้นในตำราศอฮีฮ์ของพวกเขา ก็หมายความว่านักปราชญ์เหล่านั้นอนุญาตและยินยอมให้ทำนมาซรวมได้นั่นเอง หาไม่แล้วแน่นอนพวกเขาจะไม่บันทึกรายงานต่างๆเหล่านี้ไว้ในตำราศอฮีฮ์ของพวกเขาแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับ ท่านอัลลามะฮ์อันนูรีย์ ที่อธิบายไว้ใน”ชะเราะฮ์ศอฮีฮ์มุสลิม” ท่านอัสก็อลลานีย์ ท่านกิสฏ็อลลานีย์ และท่านซะกะรียา อัล-อันศอรีย์ ที่ได้บันทึกในหนังสือ “ชะเราะฮ์ศอฮีฮ์บุคอรีย์” ของพวกเขา และทำนองเดียวกับท่านริซกอนีย์ ที่บันทึกไว้ใน “ชะเราะฮ์มุวัฏเฏาะมาลิก”และนอกเหนือจากนี้ บรรดานักปราชญ์ชั้นอาวุโสคนอื่นๆของพวกท่าน ยังได้กล่าวถึงรายงานบอกเล่าบทนี้ โดยให้ความเชื่อถือและรับรองความถูกต้อง และยืนยันอย่างชัดเจนว่า รายงานฮะดีษเหล่านี้ให้ความหมายว่าอนุญาตและยินยอมให้ทำสองนมาซรวมกันในยามปกติได้ ถึงแม้จะไม่มีเหตุอุปสรรคและไม่มีฝนก็ตาม

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากผ่านบทรายงานของท่านอิบนุอับบาสและให้การรับรองในความถูกต้องของบทรายงานแล้ว พวกเขายังไดก้มีหมายเหตุกำกับไว้ว่า รายงานฮะดีษนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า อนุญาตให้ทำนมาซรวมได้โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้มนุษย์คนใดในหมู่ประชาชาติตกในความยุ่งยากลำบากนั่นเอง

 

ท่านนาวาบ : แต่เขาก็ยังพูดแปลกอยู่ดี คือ ถ้าหากรายงานบอกเล่าเหล่านี้มีระบุอยู่อย่างชัดเจนและมากมายหลายกระแสจริงว่า อนุญาตให้ทำสองนมาซรวมกันได้แล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรที่บรรดานักปราชญ์ของเราจะขัดแย้งกับเรื่องนั้น ทั้งในแง่ของกฎเกณฑ์และภาคปฏิบัติ  

 

ซุลฏอน: ขอยอมรับว่าเป็นความจริง และต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพูดตรงๆว่า น่าเสียใจยิ่งนัก ที่บรรดาปราชญ์ของพวกท่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติที่ชัดเจนและบทรายงานที่ถูกต้อง(ศอฮีฮ์)อีกมากมายหลายเรื่อง ไม่เฉพาะแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว

 

ยังมีความเป็นจริงอีกมากที่ท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้ระบุเป็นข้อบัญญัติและกล่าวอย่างชัดเจนไว้ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิต แต่แล้วพวกเขามิได้นำพามาปฏิบัติ หากแต่พวกเขาได้ตีความให้เป็นอื่น ปิดบังอำพรางข้อบัญญัตินั้นไปจากประชาชนทั่วไป และข้าพเจ้าจะเปิดเผยความจริงเหล่านี้บางประการแก่พวกท่าน ในช่วงอธิบายและถกกันในหัวข้อเรื่องตำแหน่งอิมาม และอื่นๆอีก อินชาอัลลอฮ์


เชิงอรรถ


(27) “แปด”ในที่นี้ หมายถึง จำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซซุฮ์ริและอัศริรวมกัน “เจ็ด”หมายถึง จำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซมัฆริบและอิชาอ์รวมกันในยามปกติ (ผู้แปลเป็นอาหรับ)

 

โปรดติดตามตอนต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง-


-เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 1


-เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 2

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม