ประโยชน์ของการท่องจำอัล-กุรอาน

ประโยชน์ของการท่องจำอัล-กุรอาน

 

การท่องจำอัล-กุรอานมีความประเสริฐมากมายดังที่ได้นำเสนอริวายะฮ์ไว้ในบทก่อนหน้านี้แล้ว บทนี้จะนำเสนอประโยชน์ของการท่องจำ

 

อัล-กุรอานในเชิงสรุปดังนี้

 

๑. ได้ร่วมทางไปพร้อมกับผู้ถือสาส์นของอัลลอฮ์

 

พระองค์ทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอานว่า

 

كَلَّا إِنَّهَا تَذْكِرَةٌ فَمَن شَاء ذَكَرَهُ  في صُحُفٍ مُّكَرَّمَةٍ 

مَّرْفُوعَةٍ مُّطَهَّرَةٍ  بِأَيْدِي سَفَرَةٍ  كِرَامٍ بَرَرَةٍ 

 

หามิได้ (มิได้เป็นดั่งที่คิด) แท้จริงอัล-กุรอานเป็นข้อเตือนใจ ดังนั้น ผู้ใดประสงค์ก็ให้รับข้อเตือนใจนั้น ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์อันทรงเกียรติ ที่ได้รับการเทิดทูนได้รับความบริสุทธิ์ ด้วยมือของเทวทูตผู้ทรงเกียรติ ทรงคุณธรรม ( ๑)


อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า นักท่องจำอัล-กุรอานถ้าหากปฏิบัติตาม

 

อัล-กุรอานเขาจะได้อยู่ร่วมกับเทวทูตผู้ทรงเกียรติและทรงคุณธรรมของอัลลอฮ์(ซบ.) ( ๒)

 


คำพูดของอิมาม (อ.) เป็นการสนับสนุนอัล-กุรอานที่กล่าวข้างต้น หมายถึงบรรดานักท่องจำอัล-กุรอานที่ปฏิบัติตนเคร่งครัดตามโองการต่าง ๆ จะได้อยู่ร่วมกับมลาอิกะฮ์ผู้มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ (ซบ.)


๒. จะได้รับฐานันดรที่สูงส่งที่สุดของสวรรค์


ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ฐานันดรของสวรรค์มีจำนวนเท่ากับโองการอัล-กุรอาน เมื่อมวลมิตรของอัล-กุรอานได้เข้าสวรรค์ จะมีเสียงกล่าวกับเขาว่า จงขึ้นมาข้างบนและจงอ่านอัล-กุรอานเถิด เพราะแต่ละโองการคือฐานันดรของสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ จะไม่มีฐานันดรใดสูงไปกว่าฐานันดรของนักท่องจำอัล- กุรอาน( ๓)

 


อีกด้านหนึ่งจะพบว่าสวรรค์จะประทานให้กับบุคคลที่ประพฤติคุณงามความดี และมีจิตใจที่สูงส่ง ดังนั้น ถ้ามนุษย์ยิ่งประกอบคุณงามความดีและมีจิตใจสูงส่งมากเท่าใด ฐานันดรในสวรรค์ของเขาก็จะสูงส่งตามไปด้วย


บุคคลที่ท่องจำอัล-กุรอานทั้งเล่ม เท่ากับได้รับฐานันดรทั้งหมดของสวรรค์ ( ๖๒๓๖ โองการ) เท่ากับเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง สถานที่พำนักของเขาใกล้ชิดอัลลอฮ์ (ซบ.)


๓. ห่างไกลจากการลงโทษ


ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่ทรงลงโทษบุคคลที่หัวใจของเขาเปี่ยมล้นไปด้วยอัล-กุรอาน ( ๔)


จุดประสงค์ของหัวใจในอัล-กุรอานและริวายะฮฺหมายถึง จิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าหัวใจของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก


หัวใจที่อยู่กับอัล-กุรอาน หรือหัวใจที่ท่องจำอัล-กุรอาน หรือจิตวิญญาณที่เป็นปรากฏการณ์ของอัล-กุรอานเท่ากับถูกย้อมด้วยสีสันของอัลลอฮ์ (ซบ.) จะได้รับความโปรดปราน และความกรุณาจากพระองค์ตลอดเวลา อีกด้านหนึ่งเมื่อได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ก็ย่อมห่างไกลจากการลงโทษของพระองค์อย่างแน่นอน

 

๔. รางวัลสองประการสำหรับความยากลาบากในการท่องจำอัล-กุรอาน

 

นักท่องจำบางคนมีความรวดเร็วและสามารถท่องจำได้เร็วกว่านักท่องจำคนอื่นๆ ซึ่งนักท่องจำบางท่านต้องท่องด้วยความยากลำบากกว่าจะประสบความสำเร็จในการท่องจำ ซึ่งนักท่องจำประเภทนี้ย่อมไดัรับผลบุญมากกว่า เนื่องจากลำบากมากกว่าในวิถีทางของอัลลอฮ์ (ซบ.)


ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า บุคคลที่ได้อุทิศตนเพื่ออัล-กุรอาน และได้ท่องจำอัล-กุรอานด้วยความยากลำบาก เขาจะได้รับรางวัล ๒ ประการ (๕)


๕. การท่องจำ คือ ปฐมบทในการปฏิบัติตามอัล-กุรอาน


การอ่าน การท่องจำ และความเข้าใจเกี่ยวกับอัล-กุรอานทั้งหมดมีความสำคัญแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งนั้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของ
อัล-กุรอาน เป็นเพียงปฐมบทที่นำไปสู่การปฏิบัติตามอัล-กุรอาน


อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า นักท่องจำอัล-กุรอานถ้าหากปฏิบัติตาม


อัล- กุรอานเขาจะได้อยู่ร่วมกับเทวทูตผู้ทรงเกียรติและทรงคุณธรรมของอัลลอฮฺ (ซบ.) ( ๗)


ดังนั้น เงื่อนไขที่สมบูรณ์ของการท่องจำอัล-กุรอานคือ การปฏิบัติ


อัล- กุรอาน หมายถึงนักท่องจำต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นภาพลักษณ์ที่แท้จริงของอัล-กุรอาน กล่าวคือเหมือนกับที่อัล-กุรอานได้ปรากฏบนหัวใจและลิ้นของเขา ต้องปรากฏออกมาเป็นการกระทำและความประพฤติของตนด้วย

 

บุคคลที่ท่องจำอัล-กุรอาน ถ้าปฏิบัติตามอัล-กุรอานด้วยความเคารพและความรักละก็ จะทำให้ตนก้าวหน้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ว่า อัล-กุรอานจะจดจำและปกป้องตน และจะนำไปสู่จุดหมายที่แท้จริงของอัล-กุรอาน


ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า อัล-กุรอานเป็นพาหนะให้บุคคลที่ปฏิบัติตามอัล-กุรอาน (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮฺที่ ๑๙๘๑)

 

๖. ปรากฏผลการท่องจำอัล-กุรอานที่ลิ้น

 

บางครั้งการท่องจำอัล-กุรอานมีประโยชน์ในด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดของมนุษย์ อย่างเช่น

 

๑. ทำให้มีวาทศิลป์ในการพูด เนื่องจากอัล-กุรอานเป็นภาษาอาหรับที่ชัดเจนและมีความกระจ่างทั้งภาษาและความหมาย ดังนั้น บุคคลที่ท่องจำอัล- กุรอานและมีการฝึกฝนอยู่เสมอ จะทำให้คำพูดของเขาชัดเจนตามไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

 

๒. มีความสามารถในการพิสูจน์เหตุผลได้อย่างดี บุคคลที่มีความคุ้นเคยอยู่กับอัล-กุรอาน เขาสามารถนำอัล-กุรอานมาอ้างอิงเป็นเหตุผลในการพูดปราศรัย สอนหนังสือ หรือพูดวิพากษ์กัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถดูได้จากคำพูดของ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์

 

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ท่านหญิงซัยนับ (อ.) และอะฮ์ลุลบัยต์ท่านอื่น ๆ

 

๓. ความสำเร็จในการรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซบ.) บุคคลที่มุ่งมั่นอยู่กับการท่องจำอัล-กุรอาน ทำให้คำพูดของเขาสรรเสริญอัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา และสิ่งนี้นับเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังทีท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รำพันไว้ในดุอาอฺกุเมลว่า โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดทำให้ลิ้นของข้าฯกล่าวรำลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาด้วยเถิด

 

อ้างอิง


(๑) อัล- กุรอาน ซูเราะฮ์ อะบะซะโองการที่ ๑๑-๑๖
(๒) อุซูลกาฟีย์ เล่ม ๒ หน้า ๖๐๓
(๓) บิฮารุลอันวาร เล่ม ๘๙ หน้า ๒๒
(๔) วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่ม ๔ หน้า ๘๒๕
(๕) อุซูลกาฟีย์ เล่ม ๒ หน้า ๖๐๖
(๗) อ้างแล้วเล่มเดิม


ที่มา หนังสือ การรู้จักอัล-กุรอาน
ผู้เขียน ฮุจญตุลอิสลาม ริฎออี อิสฟาฮานี