เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เป้าหมายของการถือศีลอด

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

      เป้าหมายของการถือศีลอด

 

การถือศีลอด คือ หลักการในการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ที่สำคัญประการหนึ่งของอิสลาม จุดประสงค์ของคำว่า “อิบาดะฮ์” (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ในที่นี้ก็คือ “อิบาดะฮ์ในความหมายอันเป็นเฉพาะ” ซึ่งตรงข้ามกับ “อิบะดะฮ์ในความหมายโดยทั่วไป”

 

      อิบาดะฮ์ในความหมายโดยทั่วไปของอิสลามนั้น ครอบคลุมถึงทุก ๆ การกระทำ (อะมั้ล) ที่เป็นที่อนุมัติ (มุบาฮ์) ตามศาสนบัญญัติ ที่มนุษย์จะปฏิบัติมันด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ (อิคลาศ) (เช่นการกิน การดื่ม การพักผ่อน การทำงาน ฯลฯ) เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

      อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ทั้งมวลในทัศนะของอิสลาม นับว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของผู้ที่เป็นมุสลิม ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ (อะห์กาม) ต่าง ๆ ของอิบาดะฮ์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของบทบัญญัติ (ชะรีอัต) แห่งอิสลาม พฤติกรรมและการปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่าง ๆ นั้นนับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่มีความเคร่งครัดศาสนา หมายถึงเราจะรู้ได้ว่าบุคคลใดหรือมุสลิมคนใดมีความเคร่งครัดในศาสนาหรือไม่นั้น ให้เราพิจารณาดูได้จากการปฏิบัติอิบาดะฮ์ของเขา

 

      อิบาดะฮ์ (หรือการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งสำหรับทุกคนที่จะขัดเกลาตนเอง เสริมสร้างตนเอง และปรารถนาที่จะดำรงอยู่บนเส้นทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ไม่มีผู้ใดสามารถใช้ชีวิตและนำพาตัวเองไปสู่ความดีงามและความสำเร็จได้ โดยไม่พึ่งพาอาศัยการอิบาดะฮ์

 

      การถือศีลอดและอิบาดะฮ์อื่น ๆ นั้น จะมีส่วนร่วมกันในเป้าหมายต่าง ๆ โดยทั่วไปของการอิบาดะฮ์ในอิสลามคือการทำให้มนุษย์เกิดตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) แต่ในบางมิติและบางแง่มุมของอิบาดะฮ์ทั้งหลายนั้นจะมีความแตกต่างกันบ้าง บางคนอาจจะคิดว่า การพูดคุยและการมาถกเถียงกันเกี่ยวกับเป้าหมายของการถือศีลอดเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ไม่มีความหมายและไร้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เป้าหมายของการถือศีลอดคือการตักวา (ความยำเกรงและการสำรวมตน)

 

      ดังเช่นในช่วงเริ่มต้นของโองการที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของการถือศีลอด พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمْ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่บังคับเหนือพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่บังคับเหนือบรรดาบุคคลก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง” (1)

 

     ตรงจุดนี้จำเป็นที่เราจะต้องกล่าวว่า การระบุและการเจาะจงถึงประเด็นเกี่ยวกับตักวา (ความยำเกรงและการสำรวมตน) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ว่าเป็นเป้าหมายที่ถูกมุ่งหวังและเป็นเป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอด กับการที่เราจะมาพูดคุยและถกกันถึงเป้าหมายต่าง ๆ ที่ใกล้กว่า (เป้าหมายรอง) และผลอื่น ๆ ของมัน ที่จะทำให้เกิดคุณลักษณะของการตักวาขึ้นในตัวของผู้ถือศีลอดนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไร้สาระหรือมีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด แต่กลับจะเป็นสื่อทำให้เราสามารถนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอด (คือการตักวา) ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

 

     ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ในซุนนะฮ์ของท่านศาสดามุฮัมมัดและในตัวบทฮะดีษ (วจนะ) ต่าง ๆ ของท่านและของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จำนวนมากนั้น เราจะพบว่ามีการอธิบายหน้าที่และเป้าหมายต่าง ๆ ของผู้ถือศีลอดเอาไว้ เพื่อให้พวกเขารู้จักกับข้อกำหนดอันสูงส่งนี้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมัน

 

     ในเนื้อหาการพูดคุยนี้เราจะกล่าวถึงเป้าหมายต่าง ๆ ของการถือศีลอดโดยสังเขป พร้อมกับการอ้างอิงหลักฐานจากตัวบทคัมภีร์อัลกุรอานและฮะดีษ (วจนะ) ต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดเป้าหมายเหล่านี้ก็คือการเสริมสร้างเจตนารมณ์อันแข็งแกร่งให้กับบุคลิกภาพของมนุษย์ ซึ่งกล่าวได้ว่าในเรื่องของการถือศีลอดนั้น สามารถเปรียบเทียบลักษณะของความเท่าเทียมกันได้ดังต่อไปนี้ เช่น : การถือศีลอด = ความอดทน = ความยำเกรง (صوم = صبر= تقوا)

 

     เป้าหมายต่าง ๆ ที่สำคัญของการถือศีลอดนั้นได้แก่ การเสริมสร้างเจตนารมณ์ การเสริมสร้างความอดทนอดกลั้น การทำให้มนุษย์หลุดพ้นออกจากอุปนิสัยและความเคยชินต่าง ๆ ที่ตนเองเคยชินอยู่กับมัน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อผู้ยากจนขัดสน การรู้ถึงคุณค่าของเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุขที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้) เช่นเดียวกันนี้นอกเหนือไปจากเป้าหมายทางด้านสุขภาพพลานามัยแล้ว การถือศีลอดทำให้รำลึกถึงปรโลกและการเตรียมพร้อมสำหรับมัน การเสริมสร้างความความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งให้เกิดความเข้มแข็ง การสร้างความคุ้นเคยกับการมีระเบียบวินัย การแผ่ขยายความรักในหมู่ประชาชน การฝึกฝนความมีอะมานะฮ์ (ความซื่อสัตย์และความไว้วางใจ) นอกจากนี้การถือศีลอดยังถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพและความสามัคคีของบรรดามุสลิม ซึ่งเราจะขออธิบายในเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป

 

การเสริมสร้างเจตนารมณ์และฝึกความอดทน

 

       พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ ءامَنُواْ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ إِنَّ اللهَ مَعَ الصَّابِرِينَ

 

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงขอความช่วยเหลือโดยอาศัยความอดทนและการนมาซเถิด แท้จริงอัลลออ์ทรงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้อดทนทั้งหลาย” (2)

 

       การอรรถาธิบายโองการนี้ ท่านอิมามญะอ์ฟัร (อ.) กล่าวว่า :

 

الصَّبْرُ: الصِّيَامُ

 

“ความอดทนนั้นก็คือการถือศีลอด”

 

      และต่อจากนั้นท่านได้กล่าวว่า :

 

إذا نزلت بالرجل النازلة الشديدة فليصم. إن الله عز و جل يقول: و استعينوا بالصبر يعني الصيام

 

“เมื่อความทุกข์ยากที่รุนแรงได้มาประสบกับคนใดก็ตาม ดังนั้นเขาจงถือศีลอด เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงตรัสว่า พวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือโดยอาศัยความอดทน หมายถึงการถือศีลอด” (3)

 

      จากท่านอิมามซอดิก (อ.) เช่นเดียวกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

كان علي إذا أهاله أمر فزع قام إلى الصلاة ثم تلا هذه الآية: و استعينوا بالصبر و الصلوة

 

“ท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น เมื่อมีเรื่องราวที่น่าหวั่นกลัวมาประสบกับท่าน ท่านจะกระทำนมาซ ต่อจากนั้นท่านจะอ่านโองการนี้ที่ว่า พวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือโดยอาศัยความอดทน และการนมาซเถิด” (4)

 

      มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) เช่นกันว่า ท่านได้เรียกเดือนรอมฎอนว่าเป็นเดือนแห่งความอดทน โดยกล่าวว่า :

 

و هو شهر الصبر و الصبر ثوابه الجنة

 

“เดือนรอมฏอนคือเดือนแห่งความอดทน และผลรางวัลของความอดทนนั้นคือสวรรค์” (5)

 

     ในชีวิตของมนุษย์นั้น ความอดทนเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของจิตใจของมนุษย์จะรับผลกระทบจากปัญหาอุปสรรคและความทุกข์ยากที่มาสัมผัสกับชีวิตของตนเองได้อย่างรวดเร็ว และจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน การถือศีลอดนี่เองที่จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความอดทนอดกลั้นให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งในวจนะของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

اَلصَّوْمُ نصْفُ الصَّبْر وَ الصَّبْرُ نصْفُ الاْیمان

 

“การถือศีลอดคือครึ่งหนึ่งของความอดทน” (6)

 

     ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลอดนี่เองที่ผู้ถือศีลอดจะได้ฝึกฝนตนเองและสร้างความเคยชินให้เกิดความอดทนและอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่มาประสบในชีวิต เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า ความอดทนต่อความหิวกระหายและความรู้สึกต่าง ๆ ทางเพศนั้น นับว่าเป็นระดับที่สูงสุดของความอดทน (สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถสมรสและมีคู่ครองได้นั้น เป็นมุสตะฮับให้เขาถือศีลอด เพื่อระงับอารมณ์ความต้องการทางเพศได้)

 

     ผู้ที่สามารถอดทนในเรื่องเหล่านี้ (ความหิวกระหาย ความต้องการทางเพศ และการกระทำที่ถูกห้ามไว้ในการถือศีลอด) ได้ แน่นอนยิ่งความอดทนในเรื่องอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายสำหรับเขา ปัจจุบันเนื่องจากปัจจัยและสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ที่อ่อนแอต่ออารมณ์ความต้องการต่าง ๆ ของตนเอง อ่อนแอต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำและความใคร่ (ชะฮ์วัต) ไม่มีสื่อหรือวิธีการใดที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่จิตใจและเจตนารมณ์ของมนุษย์ได้ดียิ่งไปกว่าการถือศีลอด

 

      ในทัศนะของอิสลาม ขอบข่ายของความอดทนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน ดังปรากฏในวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หรือในวจนะของท่านอมีรุลมุอ์มินนีน (อ.) ที่กล่าวว่า :

 

أَلصَّبْرُ ثَلاثَةٌ: أَلصَّبْرُ عَلَى الْمُصیبَةِ، وَ الصَّبْرُ عَلَی الطّاعَةِ، وَ الصَّبْرُ عَلَى الْمَعْصِیَةِ.

 

“ความอดทนนั้นมีสามประเภทคือ ความอดทนต่อความทุกข์ยาก ความอดทนในการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า และความอดทนจากการละเมิดฝ่าฝืน” (การถือศีลอดจะช่วยฝึกฝนความอดทนทุกด้านเหล่านี้ได้) (7)

 

     การถือศีลอด คือ การฝึกฝน การเสริมสร้างและการพัฒนาจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มนุษย์คุ้นเคยกับความอดทน ละทิ้งความสุขสบายและความหรรษาต่าง ๆ การระงับยับยั้งตนจากการปฏิบัติตามความต้องการของจิตใจด้วยการถือศีลอดนี้ จะทำให้มนุษย์สามารถแสดงออกซึ่งความอดทนอดกลั้นได้อย่างง่ายดายด้วยความสมัครใจ

 

     การที่มนุษย์สามารถฝึกฝนและพัฒนาตนให้เกิดความอดทนต่อความทุกข์ยากและภัยพิบัติต่าง ๆ ได้นั้น ถือเป็นพลังอำนาจทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่งที่แข็งแกร่งและทรงพลังยิ่งกว่าอาวุธ นักจิตวิทยาชาวเยอรมันผู้หนึ่งได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและเจตนารมณ์ เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจและเจตนารมณ์ก็คือการถือศีลอด ในกรณีนี้หลักคำสอนของอิสลามได้ล้ำหน้านักจิตวิทยาทั้งหลายมาแล้วนับพันปี

 

การหลุดพ้นออกจากอุปนิสัยที่มนุษย์มีความเคยชินอยู่กับมัน

 

     การถือศีลอด หมายถึง การนบนอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และงดเว้นโดยสิ้นเชิงจากอารมณ์ความต้องการต่าง ๆ ซึ่งในภาวะปกติถือว่าเป็นสิ่งฮะล้าล (ศาสนาอนุมัติ) ฉะนั้นในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลอดก็คือการนำตนเองออกมาจากนิสัยที่มนุษย์มีความเคยชินกับมัน การมุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะมีชีวิตอยู่ในรูปแบบใหม่ชั่วคราวอันเป็นเฉพาะ ซึ่งการใช้ชีวิตในรูปแบบดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยความหิวกระหายและการระงับจิตใจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อว่าด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้จิตใจของมนุษย์ได้รับการฝึกฝนและการพัฒนา และเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของตนเอง

 

     การถือศีลอดจะช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากการครอบงำของอุปนิสัยและความเคยชินต่าง ๆ ผู้ที่มีนิสัยเฉพาะบางอย่างนั้น จะพบว่าตนเองไม่สามารถที่จะหลีกหนีและทำให้ตัวเองหลุดพ้นออกจากสภาพและอุปนิสัยดังกล่าวได้ แต่เมื่อเราเข้าสู่การถือศีลอด เราจะเห็นได้ว่าอุปนิสัยทุกอย่างที่ในภาวะปกติเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและหลุดพ้นออกจากมันได้นั้น มันจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดายโดยสิ้นเชิง

 

     การถือศีลอดทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและมีความทุกข์โศกร่วมกับคนยากจน มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้บรรยายถึงคุณลักษณะของเดือนรอมฎอนไว้ โดยกล่าวว่า :

 

وهو شهر المواساة

 

“เดือนรอมฏอน คือเดือนของการแสดงความเห็นอกเห็นใจ” (8)

 

     ในคำรายงาน (ฮะดีษ) ที่มีชื่อเสียงที่รายงานมาจากท่านอิมามซอดิก (อ.) เมื่อฮิชาม บินฮะกัม ได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับเหตุผลของการบัญญัติการถือศีลอด ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า :

 

انما فرض الله الصيام ليستوي به الغني والفقير و ذلك انّ الغني لم يكن ليجد مسّ الجوع فيرحم الفقير، و انّ الغني كلما اراد شيئا قدر عليه، فاراد الله تعالي ان يستوي بين خلقه، و ان يذيق الغني مسّ الجوع والالم، ليرق علي الضعيف و يرحم الجائع

 

“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดการถือศีลอด ก็เพื่อที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและคนจน นั่นเป็นเพราะว่าคนรวยไม่เคยสัมผัสกับความหิวโหย ดังนั้นเขาจะรู้สึกเมตตาสงสารคนจน คนรวยเมื่อเขาต้องการสิ่งใดเขาก็จะได้รับในสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างสิ่งถูกสร้างของพระองค์ (มนุษย์) และเพื่อให้คนรวยได้ลิ้มรสความหิวโหยและความเจ็บปวด เพื่อเขาจะได้สงสารคนที่อ่อนแอ และเมตตาต่อคนที่หิวโหย” (9)

 

     ในรายงานอีกบทหนึ่งจากญะอ์ฟัร บินมุฮัมมัด บินฮัมซะฮ์ ซึ่งได้เล่าว่า :

 

أساله لم فرض الله الصوم؟ فكتب اليّ: فرض الله تعالي الصوم ليجد الغني مضض الجوع ليحنو علي الفقير

 

ฉันได้เขียนจดหมายถึงท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) โดยถามท่านว่า “ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงกำหนดการถือศีลอด” ท่านได้เขียนตอบฉันว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงกำหนดการถือศีลอด ก็เพื่อให้คนรวยได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของความหิวโหย เพื่อที่เขาจะได้เมตตาสงสารคนยากจน” (10)

 

      หนึ่งในเคล็ดลับและแรงบันดาลใจต่าง ๆ ทางสังคมของการถือศีลอด ก็คือการที่ข้อกำหนดบังคับ (ฟะรีเฎาะฮ์) นี้จะทำให้มนุษย์นึกถึงความยากไร้หิวโหยและความทุกข์ยากของคนยากจนได้อย่างแท้จิรง การเตือนให้รำลึกถึงสิ่งดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องอาศัยการสอนสั่งหรือการบรรยายธรรมที่จับใจหรือคำพูดที่สละสลวยแต่อย่างใดทั้งสิ้น สิ่งนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อคนยากจนขัดสนได้อย่างแท้จริง อันเป็นความเห็นอกเห็นใจที่เกิดขึ้นจากส่วนลึกของสัญชาติญาณทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) และจิตสำนึกของมนุษย์ ผลของความรู้สึกดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้มนุษย์ทำหน้าที่จำเป็นต่าง ๆ ให้บรรลุผลตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับความรู้สึกดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นความเหมาะสมแล้วที่จะเรียกเดือนนี้ว่าเป็น “เดือนของการแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ” ดั่งวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

 

สำนึกในการต่อสู้เพื่อขจัดความทุกข์ยากและความยากจนขัดสน

 

     บทบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลามจะให้ความสำคัญต่อการดูแลเอาใจใส่สังคม การสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม (เช่นเรื่องของซะกาต ซอดะเกาะฮ์ ฯลฯ) ดุอาอ์ประจำวันบางบทในเดือนรอมฎอนจะกล่าวว่า :

 

اللهم اغن کل فقیر اللهم اشبع کل جائع اللهم اکس کل عریان

 

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดยังความพอเพียงให้แก่ผู้ยากไร้ทุกคน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดทำให้อิ่มแก่ผู้ที่หิวโหยทุกคน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดสวมใส่อาภรณ์ให้แก่ผู้ที่ไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ทุกคน” (11)

 

     ดุอาดังกล่าวนี้มิได้ให้สำหรับอ่านเพียงเท่านั้น แต่ทว่าทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมพร้อมตนเองสำหรับการยืนหยัดต่อสู้กับความยากจนขัดสน และมุ่งมั่นในการขจัดปัดเป่าฝุ่นแห่งความทุกข์ยากและความขัดสนออกไปให้หมดจากใบหน้าของบรรดาผู้ยากจน ผู้ถูกกดขี่ ผู้ที่อ่อนแอและถูกลิดรอนสิทธิ์ทั้งหลาย การต่อสู้นี้คือหน้าที่หนึ่งของมุสลิมทุกคน

 

แหล่งที่มา :

 

(1) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183

(2) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 153

(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 298, ฮะดีษที่ 3

(4) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 154

(5) ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้าที่ 143

(6) ญามิอุซซอฆีร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 30

(7) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 91

(8) ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้าที่ 143

(9) อิละลุชชะรอยิอ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 378

(10) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 96, หน้าที่ 339

(11) มะฟาตีฮุลญินาน, หมวดอะมั้ลเดือนรอมฎอน

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม