เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปาฏิหาริย์ของ "หินดำ" ที่ถูกสถิตไว้ ณ วิหารกะบะฮ์

1 ทัศนะต่างๆ 03.0 / 5

ปาฏิหาริย์ของ "หินดำ" ที่ถูกสถิตไว้ ณ วิหารกะบะฮ์

 

หินดำ หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า ฮะญะรุล อัสวัด (حَجَرُ الْأسْوَدْ) นั้น เป็นศิลาที่มีสัณฐาน เป็นรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 10 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ในอดีตเป็นหินก้อนหนึ่งที่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ปัจจุบันแตกเป็น 3 ชิ้น ส่วนที่แตกเกิดจากการยิงธนูไฟของกองทัพยะซีด บุตรมุอาวียะฮ์ ครั้นที่บุกกะบะฮ์เพื่อจับตัวอับดุลลอฮ์ อิบนุ ซุเบรในปี ฮ.ศ. 63

 

ปัจจุบันหินดำถูกล้อมกรอบด้วยเงินโดยวางอยู่ในหินขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยโลหะเงิน ถูกวางไว้มุมผนัง อยู่เหนือพื้นดินประมาณ 1.10 เมตร

 

ตามความเชื่อของมุสลิมโดยอ้างแหล่งที่มาจากริวายะฮ์ยืนยันว่า “หินดำ” ลงมาครั้งแรกจากสรวงสวรรค์ในยุคสมัยของท่านนบีอาดัม (อ.)  มีสีขาวยิ่งกว่านม แต่ต่อมาเนื่องถูกมลทินและความบาปของผู้ที่มาสัมผัสและจุมพิต จึงทำให้หินนี้กลายเป็นสีดำอย่างที่เห็นทุกวันนี้

 


ได้มีรายงานจากท่านอิบนุอับบาสว่า แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮ์ ( ศ็อลฯ ) ได้กล่าวว่า หินดำได้ถูกประทานลงมาจากสวรรค์ ในสภาพที่มีความขาวจัดประดุจน้ำนม ต่อมาความชั่วของมนุษย์ได้ทำให้มันเปลี่ยนสีเป็นสีดำ

 


ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ )กล่าวว่า

 

نزل الحجر الأسود من الجنة وهو أشد بياضا من اللبن فسودته خطايا بني آدم

 

"หินดำได้ลงมาจากสวรรค์ ที่มีสีขาวยิ่งกว่าน้ำนม แต่เนื่องจากมลทินของผู้สัมผัสจากลูกหลานอาดัม จึงทำให้มันกลายเป็นสีดำ"

(รายงานจากสุนันติรมิซี - มุสนัดอะห์มัด )

 

ان الحجر الاسود كان ملكا من الملائكة

 

แท้จริง หินดำ คือ มลาอิกะฮ์องค์หนึ่งจากหมู่ทวยเทพของพระองค์

 

ความประเสริฐและความศักดิ์สิทธิ์ของหินดำ


เมื่อกล่าวถึงความประเสริฐของหินดำ ให้ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยกับการกระทำของท่านนบี (ศ็อลฯ) เอง เพราะหากหินดำเป็นเพียงแค่หินธรรมดาก้อนหนึ่งเหมือนที่ใครบางคนกล่าวไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ). ของเราจะต้องสัมผัสและจูบมันในทุกๆครั้งที่ท่านไปยังมุมยะมานี

 

อีกมุมหนึ่งการกระทำของท่านนบี (ศ็อลฯ) สำหรับเราแล้ว คือ แบบอย่างที่ดีงามอันเป็นแบบอย่างที่มาจากเบื้องบน เพราะอัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 

لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ

 

“และแน่นอนในตัวรอซูลฯของอัลลอฮ์ ย่อมมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว” (อัลกุรอาน บทอัลอะฮ์ซาบ โองการที่ 21)

 


มีการบันทึกไว้ในตำราชั้นนำมากมายว่า “ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ได้จับและจูบหินดำทุกๆครั้งเมื่อท่านไปยังมุมหินดำ

 

كانَ رَسولُ اللّه ِ صلى الله عليه و آله يَستَلِمُ الرُّكنَ اليَمانِيَّ ويَضَعُ خَدَّهُ عَلَيهِ

 

ริวายะฮ์ข้างต้นจากท่านอิบนิอับบาส และอิบนิอุมัร ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ “สัมผัสและ จูบหินดำ” ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่เพียงพอแล้วว่า หินดำเป็นหินอันประเสริฐ

 

يمين الله في أرضه يصافح بها خلقه


และยังมีรายงานเสริมอีกว่า “หินดำนั้นประดุจได้ดั่งพระหัตถ์ขวาของอัลลอฮ์ที่อยู่บนโลกนี้ เพื่อให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายได้ทำการบัยอะฮ์(สัตยาบันต่ออัลลอฮ์) ฉะนั้นการจับหินดำ เปรียบดั่งการได้สัมผัสกับพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เลยทีเดียว

 

ความว่า “บุคคลใดได้สัมผัสกับหินดำเสมือนว่าเขานั้นได้แสดงสัตยาบันแสดงความภักดีต่ออัลลอฮ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยได้บัยอัตมาก่อนแล้วใน อะลัม ซัร”

 


 ความประเสริฐของหินดำในด้านต่างๆ

 


ในช่วงท้ายของบทความนี้ อยากนำท่านผู้อ่านที่น่ารักได้เห็นความประเสริฐ และความยิ่งใหญ่ของหินดำในมุมต่างๆ ซึ่งจะขอสรุปดังนี้

 


    หินดำ คือ หินสวรรค์ที่ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านนบีอาดัม( อ.) ต่อมาเมื่อครั้นที่ท่านนบีอิบรอฮีมได้ทำการบูรณะกะฮ์บะ ท่านได้นำหินดำไปวางไว้ในมุมที่เห็นในปัจจุบัน

 

    แท้จริงแล้วหินดำนี้ คือ ตัวแทนของอัลลอฮ์บนโลกนี้ และถูกเปรียบเปรียว่า คือพระหัตถ์ด้านขวาของพระองค์เพื่อเอาบัยอัต(สัตยาบันแสดงความภักดี)ของเหล่าฮุจญาจว่า เมื่อเขาได้สัมผัสกับมันแล้วเสมือนเขาได้ให้สัตยาบันอีกครั้งกับพระองค์

 

    ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ใช้มืออันมีเกียรติของท่านยกหินดำขึ้น ในขณะที่ชาวกุเรชบูรณะกะบะฮ์เสร็จสิ้น โดยมีการบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า  "พวกเขามีความขัดแย้งกันว่าใครจะเป็นผู้นำเอาหินดำไปวางไว้ในที่ของมัน เหตุการณ์นี้เกือบสร้างฟิตนะห์ (ความวุ่นวาย) ระหว่างลูกหลานชาวกุเรช แล้วท่านอบูอุมัยยะห์ อิบนุ อัลมุเฆเราะห์ได้ยืนขึ้น แล้วกล่าวว่า โอ้ชาวกุเรชเอ๋ย ! พวกท่านจงให้บุคคลแรกที่เข้ามาทางประตูมัสญิดนี้เป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งระหว่างพวกท่านเถิด แล้วพวกเขาก็ปฏิบัติตาม ปรากฏว่าคนแรกที่เดินเข้ามาก็คือท่านรอซูลฯ (ศ็อลฯ)  ดังนั้นเมื่อพวกเขาเห็นท่านรอซูลฯ พวกเขาก็กล่าวว่า ชายคนนี้เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ เรายินดี (ให้เขาเป็นผู้ตัดสิน) ชายคนนี้คือมูฮัมมัด เมื่อท่านร่อซูลฯเดินมายังพวกเขา แล้วพวกเขาก็บอกเรื่องราวการขัดแย้งระหว่างพวกเขา ท่านรอซูลฯ จึงกล่าวว่า ?จงเอาผ้าหนึ่งชิ้นมาให้ฉัน? แล้วผ้าก็ได้ถูกนำมา แล้วท่านรอซูลฯ ก็ได้ยกหินดำด้วยกับมืออันมีเกียรติของท่านวางไว้บนผ้าผืนนั้น แล้วท่านรอซูลฯ ก็ได้กล่าวว่า ทุกๆเผ่าจงจับด้านหนึ่งจากผ้านี้ และจงยกมันขึ้นพร้อมๆกัน? แล้วพวกเขาก็ปฏิบัติตามจนกระทั้งถึงที่วางหินดำ ท่านร่อซู้ลฯ ก็ได้ใช้มือของท่านยกหินดำไปวางไว้ในที่ของมัน”

 


บทความโดย เชคอันซอร เหล็มปาน

ขอขอบคุณ ที่มา เว็บไซต์ มูลนิธิอัซซะฮ์รอ (ประเทศไทย)

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม