ประวัติศาสตร์ มุบาฮะละฮ์ ตอนที่ 3

ประวัติศาสตร์ มุบาฮะละฮ์ ตอนที่ 3

 

โลกมุสลิมได้อะไรจากเรื่องมุบาฮะละฮ์

 

1-ได้พิสูจน์ว่า มุฮัมมัด (ศ็อล) เป็นศาสดาจริง เพราะถ้าไม่จริงฝ่ายนะซอรอคงทำมุบาฮะละฮ์ด้วยเพื่อให้ฝ่ายเท็จประสบความพินาศ

 

2.ประวัติศาสตร์มุบาฮะละฮ์ครั้งนี้ ทั้งนักวิชาการมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมต่างบันทึกว่าชาวนะซอรอแห่งเมืองนัจญ์รอน ไม่ขอทำมุบาฮะละฮ์ด้วย แต่ขอจ่ายบรรณาการแทน

 

3-ฮะซันและฮุเซนเป็นบุตรชายของท่านนบี (ศ็อลฯ) สาเหตุเพราะอัลลอฮ์เรียกเช่นนั้น (อับนาอะนา-ลูกของเรา) และท่านนบี (ศ็อลฯ) ก็เรียกเช่นนั้นว่า

 

اِبْنَايَ هَذَانِ : اَلْحَسَنُ وَ الْحُسَيْنُ : سَيِّدَا شَبَابِ أَهْلِ الْجَنَّةِ وَ أَبُوْهُمَا خَيْرٌ مِنْهُمَا

 

ลูกชายของฉันสองคนนี้คือ ฮะซันและฮุเซน


คือหัวหน้าบรรดาชายหนุ่มแห่งชาวสวรรค์ และบิดาของเขาทั้งสองนั้นประเสริฐกว่าเขาทั้งสอง


ซอฮิฮ์ ญามิอุซ-ซอฆีร เชคอัลบานี ฮะดีษที่ 47

 

4-โองการมุบาฮะละฮ์ นับเป็นความประเสริฐประการหนึ่งของอะฮ์ลุลบัยต์นบี ที่โลกมุสลิมไม่ควรมองข้าม เพราะท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้พาอะลี ฟาฏิมะฮ์ฮะซัน และฮุเซนเท่านั้นออกไปมุบาฮะละฮ์


การที่นบีเจาะจงพาอะฮ์ลุลบัยต์ออกไปมุบาฮะละฮ์ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่นบีจะพาใครไปก็ได้ แต่เป็นการคัดเลือกของอัลลอฮ์โดยมี อิรอดัต และฮิกมัตเหตุผลอันลึกซึ้ง

 

5- หลังจากท่านนบีมุฮัมมัดสิ้นชีพ กล่าวได้ว่า อะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซัน และ ฮุเซน คือบุคคลประเสริฐที่สุด

 

6- โองการมุบาฮะละฮ์บอกให้รู้ว่า การเผยแผ่ศาสนา การดูแลเรื่องการเมืองและการปกครอง เป็นภารกิจของอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านนบี ไม่ใช่ในฐานะญาติสนิท แต่ในฐานะเป็นบุคคลที่อัลลอฮ์คัดเลือกให้มาทำหน้าที่สำคัญนี้ ดังที่ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านอะลีว่า

 

أَنْتَ مِنِّى بِمَنْزِلَةِ هَارُونَ مِنْ مُوسَى إِلاَّ أَنَّهُ لاَ نَبِىَّ بَعْدِى

 

ท่านกับฉันมีฐานะเหมือนฮารูนกับมูซา ยกเว้น ไม่มีนบีหลังจากฉันอีกแล้ว

 

7- คำว่า ตัวของเรา - أَنْفُسَنَا  ในโองการมุบาฮะละฮ์นี้ได้พิสูจน์ถึงการเป็นผู้นำของท่านอะลี เพราะศัพท์คำนี้นับว่าท่านอะลีคือบุคคลที่มีบุคลิกภาพสมบูรณ์แบบเหมือนท่านนบีทุกประการ ยกเว้นตำแหน่งศาสดาอย่างเดียวเท่านั้น

 


ท่านอะลีได้แสดงความคิด จิตวิญญาณ การกระทำทุกอย่าง ซึ่งคล้ายคลึงกับท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ทั้งในยามที่ท่านมีชีวิตหรือยามที่ท่านจากโลกนี้ไปแล้วได้ใกล้เคียงที่สุด

 

หลังจากท่านอุมัรสิ้นชีพ วันที่คณะชูรอได้ประชุมหาคอลีฟะฮ์คนที่ 3 ท่านอะลีได้ถามในที่ประชุมว่า

 

أَنْشُدُكُمْ بِاللَّهِ ، هَلْ فِيكُمْ أَحَدٌ جَعَلَهُ اللَّهُ نَفْسَ النَّبِيّ، وَأَبْناَءُهُ أبْناَءَهُ، وَنِساَءُهُ نِساَءَهُ غَيْرِيْ قاَلُوْا: اللّهُمَّ لاَ

 

ขอให้พวกท่านสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ในหมู่พวกท่านมีใครสักคนที่อัลลอฮ์ทรงทำให้เขาเปรียบเหมือนตัวของท่านนบี นอกจากฉัน มีอีกไหม พวกเขาตอบว่า โอ้อัลลอฮ์ ไม่มี

 

8- คำว่า สตรีของเรา – نِسَاءَنَا ในโองการมุบาฮะละฮ์ เราจะพบว่าท่านนบี (ศ็อลฯ) ไม่ได้พาภรรยาคนใดหรือซอฮาบะฮ์หญิงคนใดออกไปมุบาฮะละฮ์ ยกเว้นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์คนเดียวเท่านั้น นับได้ว่า นี่คือความพิเศษประการหนึ่งของฟาฏิมะฮ์ โองการมุบาฮะละฮ์จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่พิสูจน์ว่า อะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซันและฮุเซน คือ อะฮ์ลุลบัยต์คอศ (พิเศษใกล้ชิดนบีมากที่สุด)

 

9.อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้สอนโลกมุสลิมว่า หากพวกเขาได้เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องหลักศรัทธาที่สำคัญ ระหว่างมุสลิมด้วยกัน หรือ ระหว่างมุสลิมกับอะฮ์ลุลกิตาบ เมื่อการพิสูจน์หลักฐานทางวิชาการและสติปัญญาใช้ไม่ได้ผล ให้ทั้งสองฝ่ายออกมาสาบานมุบาฮะละฮ์ในที่โล่งแจ้งกัน เพื่อให้พระเจ้าเป็นผู้ทรงลงโทษฝ่ายอธรรม ฝ่ายที่โกหกมุสาพบกับความหายนะ

 

10.การทำมุบาฮะละฮ์นั้น ไม่ใช่การเอามาท้าสาบานกันบ่อยๆ หรือท้าอีกฝ่ายให้มาสาบานในเรื่องอะห์กาม หรือเรื่องข้อปลีกย่อย เพราะตัวอย่างในอัลกุรอานและฮะดีษได้ระบุไว้ชัดว่า เพราะอะไร อัลลอฮ์จึงบัญชาให้ท่านนบีท้าฝ่ายนะซอรอ ออกมามุบาฮะละฮ์ ดังนั้น มุสลิมควรตระหนักให้ดีก่อนท้าใครกระทำในสิ่งนี้

 

บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติศาสตร์ มุบาฮะละฮ์ ตอนที่ 1

ประวัติศาสตร์ มุบาฮะละฮ์ ตอนที่ 2