เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่14

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่14

 

 สถานภาพของผู้ที่ทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว

 

การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) มิได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่วกระนั้นหรือ?

 

    ดังที่ได้อธิบายไปแล้วในภาคแรกว่า มีคำถามหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง นั่นคือ บรรดานักนิติศาสตร์และนักวิชาการแห่งอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขในการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่วไว้ว่า

 

    สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วนั้น จะต้องไม่เผชิญหน้ากับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่นี้ แต่ทว่าท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้โดยมีเป้าหมายที่จะกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว ท่านกลับมิได้ใส่ใจต่อเงื่อนไขดังกล่าวแต่ประการใด มิหนำซ้ำในหนทางดังกล่าวท่านกลับมุ่งหน้าเข้าสู่อันตรายอันยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือการถูกสังหารของตนเองและบรรดาสาวก รวมทั้งการตกเป็นเชลยของบรรดาสตรีและลูกหลานของท่าน ซึ่งเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้นทั้งๆ ที่เราก็ทราบดีว่าข้อบัญญัติต่างๆ ที่เกิดจากทัศนะของนักนิติศาสตร์และนักวิชาการอิสลาม มิใช่สิ่งใดเลยนอกจากเป็นไปตามคำพูดหรือแบบอย่างของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) และของบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.)ผู้นำ ผู้บริสุทธิ์นั่นเอง

 

    คำตอบก็คือ เงื่อนไขที่ว่านั้นเป็นเพียงเงื่อนไขทั่วๆ ไป และเป็นเงื่อนไขโดยรวม ซึ่งมิได้พิจารณาถึงสภาวะอันเป็นการเฉพาะ หรือเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติข้อนี้แต่ประการใด และเพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสองหัวข้อหลักต่อไปนี้

 

สถานภาพของผู้ที่กระทำความผิด

 

สถานภาพของผู้ที่ทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว

 

     หัวข้อที่ 1 : หากความคิดและการฝ่าฝืนบทบัญญัติของศาสนาที่เกิดขึ้นจากบุคคลซึ่งสถานภาพทางด้านสังคมและการเมืองของเขาอยู่ในระดับหนึ่ง ที่การกระทำของเขาจะกลายเป็นแบบอย่างและเป็นที่ลอกเลียนแบบของบุคคลอื่น และพฤติกรรมของเขาจะกลายเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮ์) ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในสังคม ดังนั้นการนิ่งเงียบของมุสลิมผู้มีศรัทธาที่มีความเข้าใจ ถือว่าเป็นความผิดและเป็นการฝ่าฝืนประการหนึ่งที่มิอาจให้อภัยได้ จำเป็นที่มุสลิมจะต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วต่อบุคคลนั้นๆ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตก็ตาม และหากเป็นไปได้ให้เขายับยั้งการกระทำความผิดที่เป็นอุตริกรรมดังกล่าวที่แพร่หลายในสังคม โดยทำให้ผู้ทำความผิดหยุดการกระทำของเขา แต่หากเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา อย่างน้อยที่สุดเขาต้องแสดงการคัดค้านต่อพฤติกรรมดังกล่าวด้วยคำพูด ซึ่งในประเด็นนี้ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมาถกเถียงกันอีกว่า คำพูดของเราจะมีผลหรือไม่ และจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือไม่

 

   แนวทางและแบบอย่างของบุคคลกลุ่มหนึ่งจากบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ในการเผชิญหน้ากับพฤติกรรมของผู้ที่ทำอุตริกรรม (บิดอะฮ์) และผู้ที่ก่อความอธรรมทั้งหลายในอดีต เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีต่อคำพูดข้างต้น

 

   มัยซัม ฮะญัร อบูซัร และอีกนับสิบๆ คน จากบรรดาชีอะฮ์ผู้เคร่งครัด และเป็นลูกศิษย์คนสนิทในสายธารชีอะฮ์ ซึ่งได้ยืนหยัดและเผชิญหน้ากับบรรดาผู้อธรรมที่ก่อการละเมิดมาแล้ว มิใช่เพื่อปกป้องบุคคลสำคัญ มิใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์และอำนาจการปกครองของอิสลาม และมิใช่เพื่อยับยั้งการบิดเบือน (บิดอะฮ์) ที่เป็นแนวทางของการปฏิเสธ หรือเป็นการรักษาไว้ซึ่งแนวทางดั้งเดิมอันเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงแห่งอิสลามเพียงเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน บางครั้งท่านเหล่านั้นเพียงเพื่อที่จะยับยั้งการบิดเบือนและการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยที่สุดของปัญหาที่ไม่สำคัญเพียงปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งอิสลาม แต่พวกเขากลับพร้อมยอมพลีชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง แม้จะต้องสูญเสียชีวิตของลูกหลานของตนไปก็ตาม

 

   หัวข้อที่ 2 : จำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาด้วยว่า บุคคลที่ทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วนั้นเป็นใคร สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งและวางรากฐานแนวทางของศาสนา และเป็นผู้รับหน้าที่ในการถือสาส์นและการประกาศบทบัญญัติต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้แก่บรรดาศาสนทูตทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ผู้ซึ่งปกปักษ์รักษาสาเหตุของการคงอยู่ อีกทั้งเป็นขุมคลังของการพิทักษ์ไว้ซึ่งบทบัญญัติเหล่านี้ นั่นก็คือบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.) และบรรดาผู้รู้ทางศาสนา ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกท่านเหล่านั้น บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งในการพิทักษ์บทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนอกเหนือจากไปจากกฎเกณฑ์ตามหลักนิติศาสตร์ดังกล่าวที่ได้หยิบยกขึ้นมาจากคำถามข้างต้น

 

   กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กฎเกณฑ์ตามหลักนิติศาสตร์ดังกล่าวที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่นี้ มันคือสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกคนอันเป็นการเฉพาะ แต่สำหรับบรรดาอัมบิยาอ์ (บรรดาศาสดา) บรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้สืบทอดอำนาจ) และบรรดาผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลามและอัลกุรอาน พวกท่านมีหน้าที่รับผิดชอบที่พิเศษ และเป็นภารกิจที่หนักหน่วงกว่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากภาระหน้าที่ทั้งหลาย

 

   และในทุกๆ ภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของศาสนทูต หากพวกท่านปฏิบัติตามเพียงแค่แนวทางที่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว แน่นอนที่สุด สงครามและการต่อสู้ระหว่างพวกท่านกับบรรดาศัตรูของพวกท่านก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน ย่อมจะไม่มีร่องรอยใดๆ เกี่ยวกับบทบัญญัติและหลักคำสอนต่างๆ ของพวกท่านหลงเหลืออยู่อีกเลยบนหน้าแผ่นดิน

 

   ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ในขณะที่ท่านลุกขึ้นต่อสู้กับผู้กราบไหว้บูชาเจว็ด และยืนหยัดเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านอันยิ่งใหญ่ของประชาชน ด้วยการเผชิญหน้ากับอำนาจของบรรดาผู้ละเมิด ด้วยการทำลายรูปปั้นเจว็ดลงมารูปแล้วรูปเล่า ท่านมิได้หวาดกลัวและมิได้แยแสต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

 

   ท่านศาสดายะฮ์ยาก็เช่นเดียวกัน ถึงท่านจะมิได้เป็นเจ้าของสาส์นและมิได้เป็นเจ้าของบทบัญญัติแต่ประการใด ท่านเป็นเพียงผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้าให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาบทบัญญัติต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีตเพียงเท่านั้น ท่านยืนหยัดขึ้นเพียงเพื่อทำการคัดค้านการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาของผู้ละเมิดในยุคสมัยของท่านเพียงลำพัง ท่านได้ต่อสู้จนกระทั่งศีรษะของท่านต้องถูกตัดและวางไว้บนภาชนะเพื่อนำไปเป็นของกำนัลแก่ผู้ละเมิดผู้นั้น

 

   และนี่คือปริศนาที่ท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าวตลอดเส้นทางสู่กัรบาลาอ์ โดยท่านกล่าวว่า “แท้จริงศีรษะของยะฮ์ยา บินซะกะรียา ถูกนำไปเป็นของกำนัลแก่ผู้ละเมิดผู้หนึ่ง จากบรรดาผู้ละเมิดทั้งหลายแห่งนบีอิสรออีล…” ใช่แล้ว! บรรดาผู้พิทักษ์ปกป้องวะฮ์ยู (วิวรณ์) และบทบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีหน้าที่รับผิดชอบที่เหนือกว่าบุคคลทั่วไป

 

การนิ่งเงียบคือรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธ

 

  นี่คือข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้อธิบายไว้ในสงคราม “ซิฟฟีน” ในขณะที่ชายชราคนหนึ่งจากเมืองชามได้ปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางกองทัพทั้งสองฝ่าย พร้อมกับร้องตะโกนขึ้นว่า “โอ้ อะบัลฮะซัน โอ้ อะลี ฉันมีเรื่องจะพูดกับท่าน และต้องการที่จะพบกับท่าน”

 

   ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงออกมาท่ามกลางกองทัพของท่าน เมื่อทั้งสองเข้ามาใกล้กัน ชายชราจากเมืองชามได้กล่าวว่า “โอ้ อะลี ท่านเป็นผู้ที่มีอดีตอันยาวนาน และเป็นผู้ที่รับใช้ในหนทางแห่งอิสลามมาอย่างมากมาย ท่านพร้อมไหมถ้าฉันจะให้คำแนะนำกับท่าน เพื่อที่ว่าเลือดของบรรดามุสลิมจะได้ไม่ถูกหลั่งลงสู่พื้นดิน”

 

   ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “คำเสนอแนะของท่านคืออะไร” เขากล่าวว่า “ขอให้ท่านจงกลับสู่แผ่นดินอิรักเถิด และท่านจงอยู่กับประชาชนชาวอิรักของท่าน ส่วนเราก็จะกลับสู่เมืองชาม และเราก็จะอยู่ในส่วนของเราร่วมกับประชาชนแห่งเมืองชาม เราจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับพวกท่าน และพวกท่านก็ไม่ต้อมายุ่งเกี่ยวกับพวกเรา”

 

  ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวตอบเขาว่า “ฉันเข้าใจในการเสนอแนะของท่านเป็นอย่างดี ว่ามันมิได้เกิดมาจากความปรารถนาและความห่วงใย ประเด็นดังกล่าวนี้มันทำให้ฉันกังวลใจเป็นอย่างมาก มันทำให้ฉันต้องอดหลับอดนอนจากทั้งสองทาง คือการทำศึกสงคราม หรือไม่ก็คือการปฏิเสธคำสั่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแก่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่พึงพอพระทัยต่อบรรดาเอาลิยาอ์ (ตัวแทน) ของพระองค์ ที่เมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนเกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน แต่พวกเขากลับนั่งนิ่งเงียบและโอนอ่อนผ่อนตาม โดยที่พวกเขาไม่กระทำการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และฉันพบว่าการทำศึกสงครามเป็นสิ่งที่งายดายสำหรับฉัน มากกว่าการที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนในขุมนรก” (1)

 

   ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้ชี้ให้เราได้เห็นว่า การนิ่งเงียบเมื่อพบเห็นการละเมิดและการฝ่าฝืนนั้นเป็นความผิดที่ใหญ่หลวง เป็นความผิดในระดับของการปฏิเสธ (กุฟร์) และการออกห่างจากอิสลาม และท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การนิ่งเงียบของบรรดาเอาลิยาอ์ (ตัวแทน) ของอัลลอฮ์ ต่อการละเมิดฝ่าฝืนนั้น ถือเป็นสาเหตุแห่งความโกรธกริ้วของอัลลอฮ์ (ซบ.)

 

คำตอบที่ให้กับ “อบูฮิรัม”

 

   ณ สถานที่พักแห่ง “รอฮีมะฮ์” ชายคนหนึ่งจากชาวเมืองกูฟะฮ์ซึ่งมีนามว่า “อบูฮิรัม” (2) ได้เข้ามาพบกับท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) และกล่าวกับท่านว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องออกมาจากฮะรัมของปู่ของท่าน”

 

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาว่า “โอ้ อบูฮิรัม แท้จริงบนีอุมัยยะฮ์ได้ประณามและป้ายสีเกียรติยศของฉัน แต่ฉันได้อดทนอดกลั้น (ต่อสิ่งนั้น) และพวกเขาได้ยึดเอาทรัพย์สินของฉันไป แต่ฉันก็ยังคงอดทนต่อไป และ (ท้ายที่สุด) พวกเขาปรารถนาที่จะหลั่งเลือดของฉัน ดังนั้นฉันจึงหลบหนีออกมา (จากฮะรัมของปู่ของฉัน) ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า พวกเขาจะต้องสังหารฉันอย่างแน่นอน หลังจากนั้นอัลลอฮ์จะทรงสวมใส่อาภรณ์แห่งความต่ำต้อยให้กับพวกเขา และ (จะทรงทดสอบพวกเขาด้วย) ดาบอันคมกริบ และพระองค์จะทำให้บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือพวกเขา ซึ่งจะสร้างความต่ำต้อยไร้เกียรติแก่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาจะเป็นผู้ที่ไร้เกียรติยิ่งไปกว่ากลุ่มชนแห่ง “ซะบาอ์” เสียอีก เมื่อสตรีผู้หนึ่งมีกรรมสิทธิ์เหนือพวกเขา และได้ปกครองตัดสินในทรัพย์สินและเลือดเนื้อของพวกเขา” (3)

 

บทสรุป

 

   ในการสนทนาของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อบุคคลต่างๆ นั้น จะมีความแตกต่างกันออกไปจากบรรดาคำปราศรัยของท่านที่มีต่อส่วนรวม ซึ่งการสนทนาเหล่านั้นจะเป็นคำพูดสั้นๆ และมีใจความโดยสรุป แต่     คำตอบของท่านที่มีต่ออบูฮิรัมก็เป็นคำตอบที่สั้นๆ เช่นเดียวกัน แต่ทว่าในความสั้นของมันท่านได้กล่าวอ้างถึงเรื่องราวสองเรื่องด้วยกัน หรือได้พยากรณ์เหตุการณ์สองอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งท่านได้ชี้แจงให้รับรู้ถึงธาตุแท้ของบนีอุมัยยะฮ์ และเรื่องราวทั้งสองเหตุการณ์นั้นก็คือ การเป็นชะฮีดของตัวท่านเอง และการล่มสลายของระบบการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ และความต่ำต้อยไร้เกียรติของพวกเขา

 

   และในคำพูดครั้งนี้ของท่านอิมาม (อ.) ก็เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับคำพูดทั้งหลายของท่านที่มีมาตลอดก่อนหน้านี้ ถึงการที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกเอาการเป็นชะฮีด ทั้งๆ ที่มีความรอบรู้และตระหนักดีต่อสิ่งนั้น และสิ่งต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ที่ท่านได้พยากรณ์เอาไว้ด้วยความมั่นใจในลักษณะที่แน่นอน

 

เชิงอรรถ

 

(1) วะกออะตุล ซิฟฟีน หน้า 474

(2) ในหนังสืออ้างอิงบางเล่ม ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับของหนังสือ มักตัล คอวาริซมีย์ ที่มีอยู่กับเรา เขียนไว้ว่า “อบูฮิรรอฮ์” ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

(3) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 226 ; อัล ลุฮูฟ หน้า 62 ; มุซีรุล อะฮ์ซาน อิบนินะมา หน้า 46

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม