เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การร้องไห้ให้กับผู้ตายถือว่าอนุญาตหรือไม่ ?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การร้องไห้ให้กับผู้ตายถือว่าอนุญาตหรือไม่ ?

 

การร้องไห้ให้กับผู้ตายจะทำให้พวกเขาถูกลงโทษในหลุมฝังศพจริงหรือ ?

 

ในประเด็นนี้จะไม่ขอฟันธงไปในทางหนึ่งทางใด แต่อยากจะให้ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกคนได้เห็นนานาทัศนะต่อไปนี้

 

ทัศนะแรก การร้องไห้ให้กับผู้ตายถือว่าอนุญาต โดยหากเป็นไปเพื่อระบายความทุกข์ที่อัดอั้นในทรวง ก็ถือว่าอยู่ในประเภทมุสตะฮับ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เอ่ยคำพูดที่ทำให้พระองค์ทรงกริ้ว หลักฐานในเรื่องนี้ ก็คือ

 

1.ในมุมมองของกุรอาน ซูเราะฮ์ยูซุฟ เล่าว่าท่านนบียะอ์กูบร้องไห้อย่างหนักถึงขั้นที่สูญเสียการมองเห็น (ซูเราะฮ์ยูซุฟ โองการที่ 84)

 

อย่างไรก็ดี กรณีนี้หาได้ขัดต่อความอดทนไม่ แต่เนื่องจากหัวใจของบรรดานบีเปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม จึงไม่แปลกที่จะร่ำไห้ต่อการจำพรากจากบุตรชายประดุจสายน้ำอันเชี่ยวกราก เพียงแต่จะต้องควบคุมตนเองให้ได้ด้วยการไม่ปฏิบัติหรือกล่าวสิ่งใดที่ขัดต่อความพอพระทัยของอัลลอฮ์

 

2. เกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของท่านนบี (ศ็อลณ และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เกี่ยวกับการร้องไห้ต่อผู้ล่วงลับนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันทางวิชาการ หากพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์แล้วก็จะพบว่าหาได้เป็นอย่างที่วะฮาบีกล่าวอ้างไม่ (ร้องไห้เป็นฮะรอม) เนื่องจากท่านนบีและเหล่าสาวกของท่านต่างก็เคยมีพฤติกรรมดังกล่าวอันสอดคล้องกับสัญชาตญาณมนุษย์ทั่วไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

2.1- ท่านนบี(ศ็อลฯ)หลั่งน้ำตาต่อการสูญเสียบุตรชายนามว่า อิบรอฮีม เมื่อมีผู้ติติงท่าน ท่านนบี(ศ็อลฯ) ตอบว่า

 

“ดวงตาร่ำไห้ และหัวใจโศกสลด ทว่าฉันไม่พูดในสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงกริ้ว”

 

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ท่านกล่าวว่า “นี่หาใช่การร้องไห้อันเกิดจากความอ่อนแอ แต่เป็นเมตตาธรรม” انها رحمة เสมือนต้องการจะกล่าวว่าสิ่งที่อยู่ในทรวงอกมนุษย์คือหัวใจ มิใช่ก้อนหิน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งจะเผยออกมาในรูปของน้ำตา นี่ไม่ไช่จุดอ่อนแต่เป็นจุดเด่น การพูดวาจาที่พระองค์กริ้วต่างหากที่เป็นจุดอ่อน

 

2.2- อีกเหตุการณ์หนึ่ง ก็คือ กรณีโศกนาฏกรรมของท่านฮัมซะฮ์ รายงานกันว่าหลังจากที่ท่านฮัมซะฮ์เป็นชะฮีดในสมรภูมิอุฮุด น้องสาวของท่านนาม “เศาะฟียะฮ์”ได้ตามหาท่านนบี (ศ็อลฯ) เมื่อพบแล้ว ท่านนบีได้กล่าวแก่ชาวอันซอรว่า “จงปล่อยเธอเถิด”

 

เศาะฟียะฮ์ได้นั่งลงใกล้ท่านนบี(บางรายงานกล่าวว่านั่งใกล้ศพพี่ชาย)แล้วร่ำไห้ ทุกครั้งที่เสียงร่ำไห้ของนางดัง เสียงร่ำไห้ของท่านนบีก็ดังตามไปด้วย และทุกครั้งที่นางร่ำไห้เสียงค่อย ท่านนบีก็เสียงค่อยด้วย ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ก็ร้องไห้พร้อมกับท่านนบี (ศ็อลฯ) โดยท่านนบีกล่าวว่า

 

وقال: لن أصاب بمثلك أبدا

 

“จะไม่มีผู้ใดเผชิญความปวดร้าวอย่างเธออีกแล้ว”

 

บางรายงานระบุว่า ภายหลังสงครามอุฮุด เมื่อท่านนบีเห็นว่าทุกบ้านมีเสียงร้องไห้ให้กับชะฮีดในครอบครัวตนเอง ท่านกล่าวขึ้นว่า “ไม่มีผู้ใดไม่ร่ำไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์”

 

ท่านซะอัด บิน มุอาซได้ยินเช่นนี้จึงชักชวนให้สตรีเผ่าบนี อับดุลอัชฮัลมาร้องไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ นับแต่นั้นมา ทุกครั้งที่สตรีชาวอันซอรจะร้องไห้ให้กับคนในครอบครัวของตน จะร้องไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ก่อนเสมอ จากจุดนี้ทำให้ทราบว่าไม่เพียงแต่ท่านนบี(ศ็อลฯ)ร่ำไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ แต่ยังประหนึ่งว่ารณรงค์ให้สตรีชาวอันซอรร่ำไห้ร่วมไปด้วยรายงานว่าเมื่อท่านนบี (ศ็อลฯ) เยี่ยมเยียนสุสานของมารดา ท่านจะร่ำไห้อย่างหนัก กระทั่งสาวกที่รายล้อมอยู่ร่ำไห้ตามไปด้วย

 

2.3- เกี่ยวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ มีรายงานดังต่อไปนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.)ร่ำไห้ต่อการจากไปของท่านนบี (ศ็อลฯ) และพร่ำรำพันว่า “โอ้พ่อจ๋า พ่อสถิตใกล้ชิดพระองค์ พ่อรับคำเชื้อเชิญของพระองค์ และ ณ บัดนี้ พ่อจะประทับอยู่ในวิมานแห่งฟิรเดาส์”

 

(ศอฮีฮ์ อัลบุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4462)

 

บทความโดย เชคอันซอร เหล็มปาน

ที่มา azzahra thai

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม