เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)กับบทบาทด้านศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 1

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)กับบทบาทด้านศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 1

 

กระแสเหตุการณ์ของโลกปัจจุบันและประชาคมโลกต่างเรียกร้องและต้องการความสันติภาพ ต้องการความยุติธรรม และเสรีภาพ และปรารถนาความสัมพันธไมตรีและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมิตรภาพ มีความสมานฉันท์ ขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองหรือทางลัทธิความเชื่อได้ถูกทำให้ผู้คนสับสนจนก่อให้เกิดความบาดหมางและมีทัศนคติที่เป็นลบต่อกันทั้งๆที่คำสอนของทุกศาสนาต่างเรียกร้องให้ผู้ปฎิบัติตามศาสนานั้นๆหรือให้ศาสนิกของตนอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างฉันท์พี่น้อง อีกทั้งให้รู้จักเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชาของแต่ละศาสนา

 

ศาสนสัมพันธ์ ถือว่าเป็นกระบวนการทางปัญญาและการปฎิบัติที่พยายามนำหลักการทางศาสนาของทุกศาสนามาบูรณาการและแสดงออกด้วยการปฎิบัติอย่างเอาจริงเอาจังของแต่ละศาสนา เพื่อสำแดงให้เห็นว่าทุกศาสนาได้เคารพหลักความเชื่อ ความศรัทธาต่อกันและกัน ไม่ดูถูกหรือดูหมิ่นดูแคลนคำสอนของความเชื่อหรือความศรัทธาในศาสนาของกันและกัน

 

ศาสนสัมพันธ์ คือ บทบาทหนึ่งที่จะนำแนวทางการสานเสวนาทางศาสนา โดยยึดหลักปรัชญาว่าด้วย “ทฤษฎีความเป็นเอกภาพในพหุภาพ และความเป็นพหุภาพในเอกภาพ”นั่นคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการยึดมั่น ถือมั่น นั่นก็คือ ดั่งที่เคยแสดงออกในความชิงชังต่อกัน หรือเคยทำสงครามต่อกัน แต่ทว่ากระบวนทัศน์ของศาสนสัมพันธ์ในยุคโลกาภิวัตน์นั้นคือ การไม่เหยียดหยามและดูถูกดูหมิ่นความเชื่อของกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระศาสดา ถึงเป็นที่เคารพของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ของอิสลาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพุทธศาสนา พระเยซูคริสต์ และอื่นๆต่างเป็นที่ยอมรับต่อกันและกัน

 

    อิสลาม ถือว่า เป็นศาสนาหนึ่งที่ทรงอิทธิพลต่อชาวโลกจำนวนมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเชื่อและการอุดมการณ์ของศาสนาไปในทางลบ โดยกล่าวว่าเป็น “ศาสนาที่นิยมในความรุนแรง” มองคนต่างศาสนิกอื่นเป็นศัตรู เป็นพวกชาตินิยมอะไรทำนองนี้ ซึ่งเราจะพบเห็นตามสื่อต่างๆที่ได้เสนออิสลามไปในเชิงลบ ทั้งๆที่ศาสนาอิสลามนั้นนับจากสมัยของพระศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ก็เป็นบุคคลแรกที่ได้มีแบบฉบับในการอยู่กับคนต่างศาสนิกอย่างสันติและเรียกร้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ให้เกียรติต่อกันและท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นก็ยังบุคคลแรกที่ได้นำเสนอ “หลักการสานเสวนาทางศาสนา” ขึ้นในนครมะดีนะฮ์

 

    ตลอดเวลาของประวัติศาสตร์อิสลามที่ผู้ดำเนินรอยตามแบบฉบับของพระศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)และปฎิบัติตามวงศ์วานลูกหลานของศาสดา ชี้ให้เห็นว่า อิสลามในคำสอนอันพิสุทธิ์นั้นผ่านการชี้นำโดยอิมามผู้นำภายหลังจากศาสดามุฮัมมัดเรียกร้องให้ทุกศาสนานั่งสานเสวนาและพูดคุยในด้านศาสนาอย่างเป็นมิตรและไมตรีจิต

 

    ศาสนาทั้งหลายในอดีตได้แสดงบทบาทที่สำคัญและเห็นด้วยกับหลักการนั้นโดยการให้ความร่วมมือจึงเป็นที่คาดหวังว่าในยุคหนึ่งนั้นบรรดาศาสนาทั้งหลายจะอยู่กันอย่างสันติเคารพในศาสนากันและกันและสร้างความพึงพอใจและความต้องการด้านต่างๆของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ทุกศาสนาได้เชื่อและมีความศรัทธาว่า โลกแห่งสันติภาพยังมิอาจบรรลุถึงได้ นอกเสียจากบรรดาศาสนาและผู้นำของศาสนาต่างๆ ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมอันดีงามและมีอารยธรรมอันน่ายกย่องนั้น มาร่วมสานเสวนาและพูดคุยสนทนาทางด้านศาสนากัน เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีศาสนาใดในโลกใบนี้ที่มีความเชื่อหรือมีหลักคิดที่เป็นลบต่อกันหรือส่งเสริมมุ่งร้ายและแข่งขันในทางที่มิชอบ แต่ตรงกันข้าม ศาสนาทั้งหลายต่างชื่นชมและยินดีในความเป็นมิตรและมีจิตเอื้ออาทรต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือว่า ศาสนาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อกันและกันแต่อย่างใด

 

    เป็นที่รู้จักกันดีว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งความสงบและเป็นศาสนาแห่งสันติ เป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์รู้จักตัวตนและการทำลายทุกข์ทั้งปวง และพุทธศาสนาเป็นสาส์นแห่งความรัก และสอนให้เอ็นดูรู้สึกสงสาร ไม่เบียดเบียนพร้อมกับสอนให้อดกลั้น และสันติภาพและความรักถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั่นหมายความว่า วัตถุประสงค์ของชีวิตแห่งศีลธรรมทั้งมวลของการฝึกฝนอบรมและการปฎิบัติในทางศาสนาทั้งหมด จุดมุ่งหมายที่สุดของพุทธศาสนา คือ นิพพาน ดังนั้น สิ่งใดที่ไม่นำไปสู่สันติภาพ สิ่งนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคและเป็นการรบรวมสันติภาพ

 

 ศาสนาอิสลาม โดยการเป็นประจักพยานตามบริบทของของยุคสมัยจากสมัยเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยืนยันโดยประวัติศาสตร์ของอิสลามว่า ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ได้กำชับและบอกแก่เหล่าสาวกของท่านให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบรรดาศาสนิกอื่นๆในนครมะดีนะฮ์อย่างสันติ และประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากที่ศาสดามุฮัมมัดได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ และได้จัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น บรรดามุสลิมในสมัยนั้นได้เริ่มรู้จักบรรดาศาสนิกของศาสนาอื่นๆโดยใช้ชีวิตตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ร่วมกัน และมีความสัมพันธ์ต่อกันทางด้านวัฒนธรรม มีการแปลตำราทางด้านศาสนาจากภาษาอื่นๆและมีการปฎิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจน ทางด้านวิชาการด้านอื่นๆ

 

 คัมภีร์อัลกุรอาน ได้อ้างไว้อย่างชัดเจนในความสัมพันธ์ที่ทำให้นึกถึงบรรดาผู้ศรัทธาในศาสดาก่อนศาสดามุฮัมมัด อย่างเช่น ชาวยิวที่มีศรัทธาต่อศาสดาอิบรอฮีม และศาสดามูซา ชาวคริสต์ที่ได้ศรัทธาต่อพระเยซู ศาสดาอีซา ชาวโซโรอัสเตอร์

 

    เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่สุดที่หน้าประวัติศาสตร์ทั้งหลายได้บันทึกการดำเนินชีวิตของเหล่าวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่การดำเนินชีวิตของพวกเขาได้สร้างคลื่นชีวิตแบบพิเศษมหัศจรรย์และถูกจารึกเป็นเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ

 

พวกเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เกี่ยวพันกับพวกเขา อย่างเช่น ชีวประวัติของพวกเขาก็ยิ่งใหญ่และทรงพลัง เจิดจรัสสว่างไสวเสียจนเราต้องเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าในสิ่งลี้ลับของบทเรียนชีวิตอันทรงคุณค่านั้น การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งได้ถูกจารึกเป็นขบวนการต่างๆอันทรงคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์


ในหมู่วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งหน้าประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีการดำเนินชีวิตที่ทรงพลังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมายท่านหนี่งคือ “มุฮัมมัด” ศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ)

 

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ inewhorizon

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม