ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)กับบทบาทด้านศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 2

ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)กับบทบาทด้านศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 2

 

นิยามคำว่า  ศาสดา ตามพจนานุกรม Concise oxford English dictionary   ศาสดา คือ ครูหรือผู้สั่งสอนที่ได้รับแรงดลใจ เป็นผู้เปิดเผยหรือผู้ตีความตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า และศาสดา คือ ตัวแทนของพระเจ้า ที่พระองค์ได้คัดเลือกเพื่อเป็นผู้เผยแพร่และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระองค์แก่มนุษยชาติ

 


อัลกุรอานได้กล่าวถึงศาสดามุฮัมมัดว่า ท่านคือศาสนทูตแห่งพระเจ้า เป็นผู้ตักเตือน  ดังนั้น เมื่อมองไปยังประวัติศาสตร์ได้มีรายงานบันทึกไว้ว่า ในปีแรกๆ ของการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ได้มายืนอยู่ที่เชิงเขาศอฟา พร้อมกับร้องตะโกนดังๆ ออกมาว่า อันตราย ! อันตราย ! ประชาชนได้มายืนรวมกัน ณ เชิงเขาศอฟา ต่างถามกันว่าเกิดอะไรขึ้น? เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ยินจากมูฮัมมัด (ศ็อลฯ) อะไรคืออันตราย? เหตุการณ์จะเป็นเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปีช้างหรือไม่? อันดับแรกเพื่อต้องการในการยืนยันจากประชาชน ท่านศาสดาจึงถามพวกเขาว่าว่า โอ้ประชาชาติทั้งหลาย จนถึงตอนนี้พวกท่านรู้จักฉันกันอย่างไร? ทั้งหมดกล่าวว่า  เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้และเป็นผู้ที่พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง ท่านศาสดากล่าวว่า ถ้าหากว่าตอนนี้ฉันจะตักเตือนพวกท่านและจะแจ้งเตือนถึงอันตรายว่าด้านหลังของภูเขานี้มีพวกศัตรูมากมายมาเป็นกองทัพพร้อมด้วยอาวุธสงครามและต้องการที่จะตัดศีรษะพวกท่าน พวกท่านเชื่อในคำพูดของฉันหรือไม่? พวกเขาพูดกันว่า แน่นอนพวกเราเชื่อ เมื่อได้รับคำยืนยันท่านศาสดาจึงกล่าวว่า “ดังนั้นฉันจะแจ้งเตือนพวกท่านทั้งหลายถึงอันตรายว่า หนทางที่ท่านกำลังจะไปนั้นจะมีการลงโทษอันแสนสาหัสจากพระผู้เป็นเจ้าติดตามมาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” อัลกุรอานเองได้ระบุเกี่ยวกับฐานภาพนี้ของท่านศาสดาไว้อย่างชัดเจนว่า

 

يا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْناكَ شاهِداً وَ مُبَشِّراً وَ نَذيراً وَ داعِياً إِلَی اللَّهِ بِإِذْنِهِ وَ سِراجاً مُنيراً

 

“โอ้ นบีเอ๋ย! แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน ผู้แจ้งข่าวดี ผู้ตักเตือน  และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮ์ ตามพระบัญชาของพระองค์ อีกทั้งเป็นดวงประทีปอันแจ่มจรัส” (อัลกุรอาน บท 33 โองการ 45-46 )


              
ท่านได้มาเชิญชวนประชาชนสู่หนทางของพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับการฉันทานุมัติของพระองค์ ท่านได้ทำให้ประชาชนขับเคลื่อนไปสู่พระองค์ ท่านเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่พระองค์ การเชิญชวนสู่พระผู้เป็นเจ้านั้นไม่ใช่เป็นงานที่เล็ก ในเมื่อท่านเป็นกระบอกเสียงของพระองค์ ดังนั้นจะใช้สื่อ หรือเครื่องมืออันใดในการเชิญชวนประชาชาติสู่พระผู้เป็นเจ้า? เป็นไปได้หรือ? ที่มนุษย์ได้นอนฝันและจะใช้การฝันนี้เป็นเครื่องมือในการเชิญชวนประชาชนสู่พระผู้เป็นเจ้า ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาพูดว่า วันนี้ฉันได้ฝันเห็นงานหนึ่งจงมาทำงานนี้ดังที่ฝันเห็นกันเถิด ? แน่นอนที่สุดเป็นอย่างนั้นไม่ได้  คัมภีร์อัลกุรอานได้กำหนดหนทางที่ชัดเจนไว้แล้ว การเชิญชวนสู่พระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นการเชิญชวนไปสู่สัจธรรมหรือความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือการเชิญชวนไปสู่สิ่งที่ปัญญาสากลของมนุษย์นั้นชี้นำไปพร้อมกับขับเคลื่อนไปสู่มัน คือการเชิญชวนไปสู่สิ่งหนึ่งที่ปัญญาสากลต้องยอมรับ  ด้วยกับเหตุผล หลักฐาน การพิสูจน์วิทยปัญญาและคำพูดเชิงตรรกะ

 

จะนำเสนอบางส่วนที่สำคัญที่สุดในแนวทางด้านงานเผยแพร่ของท่านศาสดา(ศ็อล) อันเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนชาวอาหรับในสมัยนั้นหันกลับมาสนใจต่ออิสลามและทำให้อิสลามมีอิทธิพลเหนือความคิดของพวกเขาและขยายวงกว้างออกไปสู่ประเทศข้างเคียงอย่างรวดเร็ว คือ

 

การมีจรรยามารยาทอันดีงามของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)

 

มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกับการปฏิสัมพันธ์และจรรยามารยาทอันดีงามความยิ่งใหญ่ของเขาจะแสดงความแตกต่างจากบุคคลอื่นทั่วไปออกมาให้ประจักษ์ จรรยามารยาทเป็นคุณสมบัติที่ละเอียดอ่อนที่สุดซึ่งในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเหตุให้เกิดความรักขึ้นและจะทำให้คำพูดมีน้ำหนักต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเลือกบุคคลที่อ่อนน้อม มีจรรยามารยาทอันดีงาม ไม่แข็งกระด้างเป็นศาสดาและตัวแทนของพระองค์เพื่อที่คำพูดของเขาจะมีผลต่อจิตใจประชาชาติได้อย่างสมบูรณ์และดึงดูดพวกเขาเข้ามาหา บุคคลผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ในการที่ทำให้บรรลุสู่เป้าหมายของพระองค์ต้องประสบกับอุปสรรคมากมายแต่เมื่อประชาชนเจอกับมารยาทอันดีงามและความอดทนอดกลั้น เมื่อพวกเขาประจักษ์ความดีตรงนี้ มิใช่แค่เพียงกลุ่มชนที่มีจิตใจแสวงหาความจริงเท่านั้นแต่บรรดากลุ่มชนที่เป็นศัตรูอันชัดแจ้งต่อศาสดาและตัวแทนเหล่านั้นเองก็ยอมสารภาพถึงความสูงส่งและบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์เองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

 

 وَإِنَّكَ لَعَلَىٰ خُلُقٍ عَظِيمٍ

“แท้จริงแล้วเจ้าถูกประดับประดาด้วยจริยธรรมอันดีงาม”

 

ในกรณีนี้แม้แต่ศัตรูของท่านศาสดาเองก็สารภาพ เมื่อพวกเขาได้เจอกับท่านบรรดาผู้ที่ต่อต้านท่านศาสดาเป็นจำนวนมากซึ่งก่อนที่จะยอมรับอิสลามด้วยเหตุผลหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จากมิติภายในของพวกเขายอมจำนนต่อจรรยามารยาทอันงดงามของท่านมาก่อนแล้ว  โดยพื้นฐานนี้ท่านศาสดาได้ปฏิบัติคุณลักษณะมารยาทที่ดีที่สุดต่อบรรดาสาวกของท่านจนกระทั่งทุกคนหลงใหลที่จะเข้าพบท่านและนั่งร่วมกับท่าน และด้วยกับจรรยามารยาทที่ดีของท่านนี้เองที่ได้ดึงหัวใจของพวกเขาเข้ามา และได้สร้างบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมไปด้วย พลังศีลธรรม พลังแห่งความหวัง พลังศรัทธา พลังความมั่นใจขั้นสูงให้ประจักษ์แก่มิติด้านในแห่งจิตใจ

 

การสร้างวัฒนธรรมแห่งความเป็นพี่น้องและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งแกร่งที่สุดของมนุษย์ คือ ครอบครัว และในระหว่างประเภทต่างของครอบครัว “พี่น้อง” มีความใกล้ชิดและสนิทสนมมาก ส่วนความสัมพันธ์ทางจิตวิญาณและปฏิสัมพันธ์ในระหว่างชีวิตจากแรงแห่งศรัทธาเป็นการแสดงออกมาที่สวยที่สุดในเชิงปฏิบัติ

 

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ได้พยายามเผยแพร่ด้วยแนวทางหลากหลายเพื่อให้วัฒนธรรมของความเป็นพี่น้องในอิสลามได้สะท้อนออกมา ทั้งในเรื่องความคิด วาจา และพฤติกรรมของบรรดามุสลิมและได้กำชับเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอๆ ตัวอย่างหนึ่งอันชัดเจนที่จะหยิบยกมาประกอบตรงนี้คือ ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ในช่วงที่ท่านเผยแพร่อย่างเป็นทางการท่านเคยดำเนินการทำสัญญาความเป็นพี่น้องในระหว่างมุสลิมถึงสองครั้ง ครั้งแรก ก่อนการอพยพในหมู่ผู้อพยพ และครั้งที่สอง ก่อนที่จะเข้าเมืองมะดีนะฮ์ในขณะที่ท่านศาสดาต้องการวางโครงสร้างสังคมอิสลามจึงได้ดำเนินการจัดพิธีสัญญาความเป็นพี่น้องระหว่างบรรดาผู้อพยพชาวมักกะฮ์และชาวเมืองมะดีนะฮ์ที่เรียกพวกเขาอีกชื่อหนึ่งคือชาวอันศอรเพื่อสร้างให้เป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งของสังคม สัญญาความเป็นพี่น้องอันนี้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่ ตกอยู่ในกองไฟแห่งการแข็งขันระหว่างเผ่าต่างๆ การชิงดีชิงเด่นของแต่ละเผ่า การหลั่งเลือด และชาตินิยมที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างน่ายินดี อีกทั้งความเป็นพี่น้อง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบอิสลามมาแทนที่องค์ประกอบที่สร้างความแตกแยกที่มีมาก่อนหน้านี้


ภายใต้พื้นฐานการชี้นำของอัลกุรอานที่ถือว่าความเป็นพี่น้องเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง พระองค์ทรงตรัสว่า

 

إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ ۚ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ

 

  “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”

 

เป็นที่ชัดเจนที่สุด การสร้างสรรสังคมที่สมบูรณ์ให้ได้และการที่จะนำสังคมไปสู่ทิศทางเดียวกันด้วยความเป็นปึกแผ่นนั้นมันจะเกิดขึ้นไม่ได้นอกจากภายใต้ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของศรัทธาชน เมื่อเราพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า การไม่รักษาพื้นฐานของวัฒนธรรมความเป็นพี่น้องและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมติดตามมามากมาย ความเสียหายจากการไม่ให้ความสำคัญและละเลยต่อความเป็นพี่น้องไม่ใช่เกิดขึ้นในระดับของสังคมเท่านั้น ยังเป็นเหตุให้บุคคลนั้นสูญเสียความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเองจนเปลี่ยนเป็นผู้แปลกหน้าในกลุ่มอันนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เย็นชาและอ่อนแอ ยิ่งกว่านั้นบุคคลนั้นจะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้าในที่สุดต้องพึงพาต่อการรักษาตัวเขาเองด้วย

 

การแสวงหาความยุติธรรม

 

พื้นฐานอันหนึ่งที่ถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการเผยแพร่ของท่านศาสดาคือการเน้นในเรื่องของ ความยุติธรรมและการดำเนินการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมในทุกหน่วยงาน พื้นฐานนี้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของอิสลาม มิใช่แค่เชื่อเฉพาะว่าระบบการสร้างสรรค์นี้อยู่ภายใต้พื้นฐานแห่งความยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ว่าในการร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติถือเป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้น ในมุมมองของการเผยแพร่ของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)การสถาปนาความยุติธรรมให้แก่สังคมเป็นเป้าหมายสูงสุดของการส่งบรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและคัมภีร์จากฟากฟ้าทั้งหลาย เหมือนกับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์อย่างชัดเจนในการบัญชาแก่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เพื่อให้สถาปนาความยุติธรรมขึ้นมาในทุกระดับทางสังคม พระองค์ทรงตรัสว่า

 

“ข้าได้บัญชาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในหมู่พวกสูเจ้า”

 


ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าทั้งชีวิตของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ผ่านไปด้วยการต่อสู้ในการที่จะสถาปนาความยุติธรรมและพยายามให้สังคมปกครองด้วยหลักการอันทรงคุณค่านี้และขจัดความปลิ้นปล้อนหลอกหลวงให้หมดไปอีกทั้งนำเสนอศาสนาอันเป็นแนวทางที่แสดงถึงหลักการความยุติธรรมอย่างครอบคลุม แนวทางของท่านศาสดาคือแนวทางแห่งความยุติธรรมพระดำรัสของท่านคือความยุติธรรม ตรรกะของท่านเป็นสิ่งที่แยกระหว่างสัจธรรมและโมฆะเหมือนดั่งที่อัครสาวกของท่านได้กล่าวถึงคุณสมบัติของท่านศาสดาว่า
“ท่านคือผู้ที่มีตรรกะที่เป็นธรรมและแนวทางที่แยกสัจธรรมออกจากความเป็นโมฆะ”

 

ท่านศาสดาเป็นบุคคลที่มีความยุติธรรมที่สุดในระหว่างประชาชนและนับเป็นเวลาถึงยี่สิบสามปีที่ท่านและดวงจิตและแนวความคิดทั้งหลายที่ได้รับการอบรมจากวิถีของท่านศาสดาได้แสดงให้ชาวโลกเห็นถึงความยุติธรรมในทุกๆด้าน ดังนั้น ความยุติธรรมเป็นสาระสำคัญของแนวทางของท่านในฐานะเป็นหลักการพื้นฐานและเป็นทิพย์แห่งความดี อีกทั้งเป็นคุณสมบัติของความศรัทธาขั้นสูง

 

สังคมใดก็ตามที่บริหารจัดการด้วยพื้นฐานความยุติธรรม คือ สังคมที่เข็มแข็งและทรงคุณค่า และหากสังคมใดไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยหลักการนี้คุณค่าต่างๆ ต้องถูกทำหลายและจะเป็นสังคมที่ต่อต้านคุณค่าต่างๆของความเป็นมนุษย์ และยังเป็นสถานที่ของผู้กดขี่ ปล้นสดม ริดรอนสิทธิของผู้อื่น เราอาจสามารถที่จะพูดได้ว่า คุณค่าของสังคมหนึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพของศาลยุติธรรมของสังคมนั้น

 


บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ inewhorizon