ใครคือคอลีฟะตุลลอฮ์? ตอนที่ 1
ใครคือคอลีฟะตุลลอฮ์? ตอนที่ 1
สาส์นจากฟากฟ้า
มนุษย์ไม่ได้ถูกอัลลอฮ์(ซ.บ) สร้างมาอย่างไร้เป้าหมาย หรือไร้ซึ่งสารัตถะ หรือมากินนอนเหมือนกับปศุสัตว์ทั้งปวง ในการทำความเข้าใจว่า สัตว์ไม่มีภารกิจและไม่มีสิ่งใด แต่มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่
แท้จริงแล้วในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานยืนยันในหลายๆโองการ ที่กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ ตั้งแต่เป้าหมายที่สูงสุดจนถึงเป้าหมายทั่วไป
ดังนั้น หากถามว่ามนุษย์ถูกสร้างมาเพื่ออะไร แน่นอนเราสามารถค้นหาในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอานได้ว่า อะไรคือ เป้าหมายสูงสุดของการสร้างมนุษย์ เพราะอัลกุรอานได้ตอบอย่างชัดแจ้ง ขณะที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)ได้ตรัสกับมวลมะลาอิกะฮ์ (เทวทูต)ความว่า
ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 30
“إِنِّي جَاعِلٌ فِي الْأَرْضِ خَلِيفَةً ۖ”
(อินนี ญาอิลุน ฟิลอัรฎิ คอลีฟะฮ์)
แท้จริง เราจะให้มีผู้แทนคนหนึ่ง
ซึ่งต่อแต่นี้ไป จะมีมัคลูกใหม่ที่เราจะสร้างขึ้นมา และมัคลูกนี้มีความสามารถเป็นคอลีฟะฮ์ของเราได้ นั่นก็คือ เขามีความสามารถที่จะเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ “خلیفة الله”
ในโองการชี้ว่า ตำแหน่งอันสูงสุดของมนุษย์ที่เอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงเตรียมเอาไว้
“خلیفة الله في الارض”
(คอลีฟะฮ์ตุลลอฮ์ ฟิลอัรฎ์) เป็นตัวแทนของอัลลอฮ์ เป็นคอลีฟะฮ์ของอัลลอฮ์บนหน้าแผ่นดินนี้
นี่คือ ตำแหน่งสูงสุดที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)มอบให้มวลมนุษย์ และจากหัวข้อนี้รายละเอียดอื่นๆก็จะตามมา เช่น วิถีแห่งการปฏิบัติ วิถีแห่งการดำเนินชีวิตภายใต้การชี้นำแห่งสาส์นจากฟากฟ้า ไม่ว่าจะเป็นอัลกุรอานหรือแบบอย่างจากบรรดาศาสดา ในการนำมนุษย์เข้าสู่การเป็นคอลีฟะฮ์
และตำแหน่งของมนุษย์ทุกคนนี้ ในวันกิยามะฮ์ มนุษย์จะต้องตอบกับอัลลอฮ์(ซ.บ)ได้ด้วยว่า เมื่อถูกสร้างมาแล้ว ทำไมมนุษย์ไปไม่ถึง ทำไมมนุษย์ไปไม่ได้ ซึ่งบริบทนี้ เพื่อให้ตระหนักว่า ไม่ใช่เพียงบรรดานบีหรือบรรดาอิมามมะอ์ศูมที่ต้องตอบคำถามนี้ ทว่ารวมถึงมนุษย์ทุกคนที่ถูกสร้างมาให้เป็นมนุษย์ จะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ด้วย
ในเมื่ออัลลอฮ์(ซ.บ) ได้สร้างเราขึ้นมาแล้ว ซึ่งความหมายในการสร้างนี้ เพื่อให้เราเป็นตัวแทนของพระองค์ในหน้าแผ่นดิน กล่าวคือ ให้เราทำหน้าที่ทุกอย่างแทน หรือ เป็นตัวแทนของอัลลอฮ์นั่นเอง
ตัวแทนของอัลลอฮ์ คือ ใคร?
ตัวอย่าง อัลลอฮ์(ซ.บ) คือ พระผู้ทรงเมตตา
เมื่ออัลลอฮ์(ซ.บ) คือ พระผู้ทรงเมตตา เราก็จะต้องเมตตาในโลกนี้แทนพระองค์ หรือ อะไรก็ตามที่แสดงถึงคุณลักษณะความเป็นอัลลอฮ์(ซ.บ) อีกมากมาย เพราะคำว่า “ตัวแทนของอัลลอฮ์” คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ทุกอย่างแทนอัลลอฮ์ (ซ.บ) เราก็ต้องไปให้ถึงซึ่งนัยยะในความหมายนั้นๆ
ดังนั้น ใครไปไม่ถึงก็ต้องไปตอบอัลลอฮ์(ซ.บ)ว่า ทำไมไปไม่ถึง และด้วยเหตุผลอะไร เราถึงไม่ได้ทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ เพราะหน้าที่ความเป็นมนุษย์ที่อัลลอฮ์(ซ.บ)สร้างมนุษย์ขึ้นมา คือ การให้เป็นคอลีฟะฮ์ของพระองค์บนหน้าแผ่นดินนี้ หมายถึง “เป็นตัวแทนอัลลอฮ์” ซึ่งแน่นอนรายละเอียดนั้นมีมาก
กระบวนการ “ความเป็นตัวแทนของอัลลอฮ์”
มนุษย์สามารถเรียนรู้ และใช้ความรู้ ภายใต้การชี้นำแห่งสาส์นจากฟากฟ้า เพื่อนำไปสู่การเป็นตัวแทนของอัลลอฮ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเห็นเรา เขาเห็นอัลลอฮ์ เขาเห็นความเมตตาของเรา และรับรู้ถึงความเมตตาของอัลลอฮ์(ซ.บ) ผ่านตัวตนของเรา ดั่งโองการในคัมภีร์อัลกรุอานที่ได้อ่านเปิดมัจญลิส ในบริบทมนุษย์ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นมนุษย์อย่างไร้สาระ
ซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูน โองการที่ 115
أَفَحَسِبْتُمْ أَنَّمَا خَلَقْنَاكُمْ عَبَثًا وَأَنَّكُمْ إِلَيْنَا لَا تُرْجَعُونَ
(อาฟะฮะซิบตุม อันนะมาคอลักนากุม อะบาษัน วะอันกุม อิลัยนา ตุรญะอูน)
คำอธิบาย : พวกเจ้าหลงคิดไปเองหรือว่า เราสร้างพวกเจ้าขึ้นมาอย่างไร้สาระ แท้จริงมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีเป้าหมาย
ดังนั้น พึงรู้เถิดว่า มนุษย์ได้เป็นมนุษย์เพราะมีเป้าหมาย ถ้าไม่มีเป้าหมาย อัลลอฮ์(ซ.บ)ก็จะให้มนุษย์ไปเกิดเป็นสิงสาราสัตว์
ข้อสังเกต : อัลลอฮ์(ซ.บ) ตรัสถามว่า “อาฟะฮะซิบตุม อันนะมาคอลักนากุม อะบาษา” ความว่า พวกเจ้าคิดหรือ เราได้ให้พวกเจ้าบังเกิดมาโดยไร้ประโยชน์
ประโยคต่อมา “วะอันกุม อิลัยนา ตุรญะอูน” ความว่า และพวกเจ้าคิดว่า พวกเจ้าจะไม่มีวันกลับมาหาอัลลอฮ์ (ซ.บ)กระนั้นหรือ
คำอธิบาย : เจ้าจะไม่ถูกนำกลับไปยังอัลลอฮ์(ซบ)หรือ? บริบทนี้ อัลลอฮ์(ซ.บ) ใช้คำว่า “ตุรญะอูน” หมายถึง ถูกนำกลับไป
จริงๆแล้ว แม้มนุษย์ไม่อยากกลับ อยากอยู่ที่นี่ อยากกินอยู่อย่างสนุกสนานในโลกนี้ แต่กระนั้นก็ตาม มนุษย์ต้องถูกนำกลับไป ถึงอยากตายก็ต้องตาย หรือไม่อยากตายก็ต้องตาย กล่าวคือ อัลลอฮ์(ซ.บ)นำกลับหมดทุกคน แต่มนุษย์ส่วนมากต่างหากที่ไม่เลือกกลับไปเอง
ด้วยเหตุผลนี้ อัลลอฮ์(ซ.บ) จึงย้ำเตือนมนุษย์ อย่าได้คิดว่า เราสร้างเจ้ามาอย่างไร้สาระ และอย่าได้คิดว่า เจ้าจะไม่ถูกนำกลับไป เพราะแท้จริงแล้วพวกเจ้าทั้งหมดต้องกลับมายังเรา
ประเด็นสำคัญ คือ มนุษย์จะกลับไปในสภาพที่พระองค์ทรงพึงพอใจหรือกลับไปในสภาพที่พระองค์ไม่พึงพอใจนั้น อยู่ที่ผลแห่งการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น
บทสรุป มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างไร้สาระ แท้จริงแล้ว มนุษย์มีภารกิจมากมายที่จะต้องทำและจะต้องทำอย่างแท้จริงด้วย
ดังนั้น มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตอย่างสนุกสนาน พึงสังวรณ์เลยว่า จริงๆแล้วพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ และถ้าชีวิตของมนุษย์ถูกสรุปในลักษณะการดำรงในวิถีแห่งสัตว์ เพียงแค่กินขี้ปี้นอน ณ ตรงนี้ อัลลอฮ์(ซ.บ)ตรัสว่า ถ้าชีวิตของพวกเจ้ามีเพียงแค่นี้ เจ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากสรรพสัตว์ต่างๆ
ซูเราะฮ์มูฮัมหมัด โองการที่ 12
“وَالَّذِينَ كَفَرُوا يَتَمَتَّعُونَ وَيَأْكُلُونَ كَمَا تَأْكُلُ الْأَنْعَامُ”
คำอธิบาย : ประโยคแรก “وَالَّذِينَ كَفَرُوا يَتَمَتَّعُونَ”
(วัลละซี นะกะฟะรู ยะตะมัตตะอูน)
กุรอานบอกว่า และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น พวกเขาจะหลงระเริงและกินเยี่ยงปศุสัตว์กัน ด้วยการกินไป หาความสุขไป ให้ผ่านพ้นเป็นวันๆ ซึ่งความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีความสุขที่ได้เล่นเฟสบุค ได้แชท ดูทีวี ดูหนังดูละคร ได้แต่งตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อยู่ในความหมายของ “ยะตะมัตตะอ์ ( يَتَمَتَّعُ) ทั้งหมด
อัลลอฮ์(ซ.บ) จึงตรัสว่า วิถีของเจ้ามีแค่นี้หรือ ประโยคต่อมา
“كَمَا تَأْكُلُ الْأَنْعَامُ”
(กะมาตะอฺกุลุล อันอาม)
แสดงว่า ชีวิตของเจ้ามันก็ไม่ต่างอะไรกับอันอาม (คำว่า “الْأَنْعَامِ” แปลว่า ปศุสัตว์) เมื่อมนุษย์ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีภารกิจ หรือพูดให้ชัด หมายถึง ถ้าไม่มีภารกิจเพื่อการรับใช้ศาสนาแล้ว มนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรกับบรรดาสัตว์เดรัจฉานทั้งหมด ซึ่งจริงอยู่ สิ่งที่มนุษย์ทำ เดรัจฉานก็ทำเหมือนกัน แต่ที่แตกต่าง คือ มนุษย์อยู่ด้วยอุดมการณ์และต่อสู้เพื่ออุดมการณ์
ฮะดิษบทหนึ่งยืนยันว่า
«حدیث : «انما الحیاة عقیدة و جهاد
(อินนะมัล ฮะยาต อะกีดะตุ วะญิฮาด)
เกี่ยวกับฮะดิษบทนี้ บางบรรดาอาเล็มอุลามาอ์บอกว่า ไม่ใช่ฮะดิษคำพูดของอุลามาอฺแต่เป็นคำพูดของฮุกามาอ์ (ปวงปราชญ์) ทว่าที่ยกมานี้ เพื่อจะอ้างอิงคำพูดของปวงปราชญ์ความว่า " ชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง คือ อะกีดะตุวัลญิฮาด"
(หมายเหตุ : คำว่า “ฮุกามาอ์” เป็นคำพหูพจน์ของฮะกีม หมายถึง นักปราชญ์)
ทีนี้มาดูความหมาย “อะกีดะตุ วะญิฮาด” (عقیدة و جهاد) คือ การมีอากีดะฮ์และญิฮาดไปตามอากีดะฮ์ของตัวเองนั้นเรียกว่า มนุษย์ รวมไปถึงการมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่น ซึ่งเราสามารถใช้คำว่าอากีดะฮ์ได้เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ในสิ่งที่ต้องตระหนัก ถ้ามนุษย์ไม่มีความศรัทธา ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์เหล่านี้ เขาไม่ใช่มนุษย์ แม้หน้าตา ผิวพรรณ แต่งตัวหล่อสวยเหมือนมนุษย์ แต่จริงๆแล้ว เขาไม่ใช่มนุษย์ และในวันกิยามัตเราจะได้รู้ว่า "ใครเป็นมนุษย์และใครไม่ใช่มนุษย์" และมาตรวัดนี้ สามารถวัดได้จากอากีดะฮ์ ความศรัทธา และอุดมการณ์ของเขา
หากถามว่า เพียงพอหรือไม่ เมื่อเรามีความเชื่อแล้วว่า อิมามมะฮ์ดี(อ) จะปรากฎ แต่ถ้าเราอยู่ไปวันๆโดยไม่ได้ทำอะไรในความเชื่อในอิมามมะฮ์ดี(อ) รวมทั้งไม่ได้ทำอะไรในความเชื่อแห่งการรอคอย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ต่อให้เรามีความเชื่อ หรือมีความศรัทธามากขนาดไหน ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับความเชื่อของเรา นั่นแสดงว่า เรายังไม่ใช่
ดังนั้น ถ้ามนุษย์มีอากีดะฮ์ อุดมการณ์ ความเชื่อ และความศรัทธาอย่างแท้จริง เขาต้องมี “อะกีดะตุ วะญิฮาด” ต้องต่อสู้ (ญิฮาด) ตามความเชื่อในอุดมการณ์นั้น ถึงจะเรียกได้ว่า “เขาเป็นมนุษย์ที่แท้จริง” ทว่าในการต่อสู้ของแต่ละคนนั้น อาจมีความสมบูรณ์ และความสามารถที่แตกต่างกัน
บริบทนี้ ต้องการชี้ว่า ถ้าจะเป็นมนุษย์ตามที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)สร้างมา ต้องเป็นแบบนี้ นั่นก็คือ ชีวิตของเขาต้องอยู่กับการต่อสู้ และเคลื่อนไหว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานอากีดะฮ์ ความเชื่อ และความศรัทธาของเราอย่างแท้จริง จึงจะเรียกว่า เป็นมนุษย์ ตามที่พระมหาคัมภีร์อัลกรุอานบอกว่า มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างไร้สาระ และแท้จริงแล้ว ทุกคนต้องกลับไปตอบต่อเอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)
และด้วยเหตุผลนี้ ในทุกยุคทุกสมัย เราจึงมีบรรดาบรรพชนที่เป็นกัลยาณชน ที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตในโลกนี้ด้วยอุดมการณ์อันนี้ อาทิเช่น บรรดาอัมบิยาอ์ บรรดาอิมาม บรรดาอะเล็มอุลามาอ์ต่างๆ ได้พลีชีวิตของเขาทั้งชีวิต เพื่อจะปิดช่องว่างจากคำถามของอัลลอฮ์(ซ.บ)ว่า ทำไมตรงนี้มนุษย์ไม่ทำ
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี เนื่องในวโรกาสวันชะฮาดัตของอิมามฮะซัน อัลอัสกะรีย์ (อ)
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.