ใครคือคอลีฟะตุลลอฮ์? ตอนที่ 3
ใครคือคอลีฟะตุลลอฮ์? ตอนที่ 3
ยุคการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์
เรามาดูคำยืนยัน เมื่อบะนีอับบาสรู้และเชื่อทั้งหมด ทั้งฮะดีษ รีวายัต รวมทั้งคำพยากรณ์ต่างๆที่ชี้ถึงการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี(อ) รวมทั้งการทวงคืนสิทธิ์และอำนาจแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ การทวงคืนสิทธิ์และอำนาจแห่งอิสลามอันบริสุทธิ์ และเชื่อด้วยว่า สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นจริง เพราะอย่างน้อย คำทำนายต่างๆที่พวกเขารู้ ส่วนหนึ่งมาจากการทำนายของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ)
ทว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่ศิโรราบ และสิ่งที่ยืนยันว่า บนีอับบาสในราชวงศ์อับบาซียะฮ์เชื่อเกี่ยวกับการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) เพราะพวกเขาคิดแผนในการต่อสู้อิมามมะฮ์ดี (อ)โดยตรง และยิ่งอำนาจของบนีอับบาสในยุคนั้นมีแสนยานุภาพทางการปกครองเกรียงไกรที่สุด ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับการมีอำนาจของฟิรอูน(ฟาโรห์) เพียงแต่ ‘ฟาโรห์’ ไม่เชื่อว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ)มีจริง ฟาโรห์จึงคิดที่จะต่อสู้อำนาจของอัลลอฮ์(ซ.บ)
ทว่ากรณีบะนีอับบาสเชื่อทั้งหมด ตรงนี้ต้องการชี้ว่า บางครั้งแม้มนุษย์มีความเชื่อแล้ว แต่ก็ไม่มีผลใดๆต่อการปฏิบัติในชีวิตของเขา
ดังนี้แล้ว บะนีอับบาสจึงมั่นใจว่า เมื่อถึงยุคเวลาของบุรุษผู้ถูกสัญญา เขาจึงเตรียมความพร้อมเพื่อจัดการ ด้วยการส่งสายสืบไปสังเกตุภรรยาของท่านอิมามฮะซัน อัล-อัสกะรี(อ)ตั้งครรภ์แล้วหรือยัง เพื่อจะสังหารท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการกระทำของฟิรอูน
ตัวอย่าง : เรื่องราวของฟิรอูน
หากถามว่า ฟิรอูนเชื่อหรือไม่ว่า ท่านนบีมูซา(อ)จะปรากฏ คำตอบ (เชื่อ) และอะไรคือ ข้อพิสูจน์ว่า ฟิรอูนเชื่อ
คำตอบ คือ เพราะฟิรอูนเตรียมการสังหาร โดยออกคำสั่งให้ฆ่าทารกของบนีอิสรออีลที่เกิดใหม่ทั้งหมด จนกระทั่งมารดาของนบีมูซา(อ) หาทางออก ด้วยการเอาท่านนบีมูซา(อ)ใส่ตะกร้าลอยน้ำไป
บริบทข้างต้น คือ ข้อพิสูจน์ว่า ฟิรอูนเชื่อ และเชื่อคำพยากรณ์ด้วยว่า เด็กจะปรากฏขึ้นและจะทำลายบัลลังก์ เขาจึงตามฆ่า แต่ความที่ฟาโรห์อยากจะสู้กับอำนาจของอัลลอฮ์(ซ.บ) กระทั่งในที่สุด เมื่อเขาเผชิญกับอำนาจของพระองค์ผ่านทางนบีมูซา(อ) ผู้มีความศรัทธาอันแรงกล้าและมีไม้เท้าอย่างเดียวเป็นอาวุธ กลับพบว่า แสนยานุภาพทางทหาร ความมั่งคั่ง และอารยธรรมที่เขาสะสมมา รวมทั้งตัวเขาเองต้องล่มสลายและถูกทำลายลงในที่สุด
อิมามฮะซัน อัล-อัสกะรีย์(อ) กับการเตรียมพร้อมสำหรับยุคการเร้นกาย
เนื่องจากท่านอิมามฮะซัน อัลอัสการีย์(อ) ตกอยู่ในสภาพที่ต้องเผชิญกับฏอฆูตที่มีลักษณะการปกครองเช่นเดียวกับฟาโรห์ ทว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ)ทรงปิดบังเรื่องการตั้งครรภ์ของมารดาท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) รวมทั้งปิดบังทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถึงกระนั้น บะนีอับบาสไม่ได้ควบคุมอิมามเพียงเท่านี้ จริงๆแล้วเขาพยายามสกัดกั้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น การรีดนาทาเร้น การบีบคั้นและการกดดันที่รุนแรงต่อบรรดาอิมาม เพราะบนีอับบาสรู้ว่า ใกล้เข้าสู่ยุคแห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)
ด้วยเหตุผลนี้ บะนีอับบาสจึงจับอิมามทั้งสามท่าน นับตั้งแต่ท่านอิมามญะวาด (อ) อิมามฮาดีย์(อ) และอิมามฮะซัน อัล-อัสกะรีย์(อ)ตามลำดับมาควบคุมในค่ายตาราง ซึ่งก่อนหน้าอิมามทั้งสามนั้น ท่านอิมามมูซา อัล กาซิม(อ) ก็ถูกควบคุมอยู่ในคุกเช่นกัน แต่หลังจากการกระทำอันป่าเถื่อนนั้นถูกถกเถียง เป็นที่นินทา บะนีอับบาสจึงเปลี่ยนยุทธวิธีการควบคุมแบบใหม่
หากจะกล่าวโดยสรุป บะนีอับบาสได้จำกัดบทบาทของอิมามริฎอ(อ) ด้วยการให้ออกห่างจากประชาชน โดย มะอ์มูน อัรรอชีด คอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ได้แต่งตั้งอิมามให้เป็นรัชทายาทให้นั่งอยู่ใกล้ตัวมันตลอดเวลา เป็นการป้องกันไม่ให้ท่านอิมามริฎอ (อ) เคลื่อนไหว แต่กลับกลายเป็นว่า มันยิ่งทำให้เกิดความสวยงามมากขึ้น
ทว่าในยุคหลังๆ หลังจากฮารูน อัรรอชีด บะนีอับบาสได้เข้าสู่อำนาจอย่างสูงสุด การปฏิบัติกับบรรดาอิมามมะอ์ศูม (อ) ในยุคสุดท้าย จึงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้เกรงกลัว คำติฉินนินทาใดๆ อีกแล้ว ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่า ตนมีอำนาจสูงสุด เขาจึงควบคุมท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด(อ) ให้เข้าไปอยู่ในค่ายทหาร
ครั้นเข้ายุคท่านอิมามฮาดีย์ (อ) ท่านก็ถูกคุมขังอยู่ในค่ายทหาร ณ เมืองซามัรรอ ประเทศอิรัก ซึ่งเป็นที่ลือกันว่า เป็นค่ายทหารที่ใหญ่มาก (อินชาอัลลอฮ์ ขอให้พวกเราทุกคน ได้มีเตาฟีก มีโอกาสไปซิยารัต ณ แผ่นดินแห่งนั้น)
และอิมามฮะซัน อัสกะรีย์(อ)ก็เช่นกัน หากถามว่า ทำไมท่านอิมามฮะซัน อัล-อัสกะรีย์(อ) ได้รับฉายาว่า ‘อัสกะรีย์’ จริงๆแล้ว คำว่า ‘อัสกะรีย์’ เป็นภาษาอาหรับ และชาวมลายูก็ใช้เหมือนกัน แต่ใช้คำว่า ‘อัสกัร’ แปลว่า ทหาร
อนึ่งที่อิมามฮะซัน อัลอัสกะรี(อ) ได้สมญานามว่า “อัสกะรีย์” นั้น สืบเนื่องมาจากทั้งชีวิตของอิมามเติบโต และถูกควบคุมให้อยู่แต่ในค่ายทหาร
ประการต่อมา ด้วยกับในสภาวะนั้นบะนีอับบาสมีอำนาจสูงสุดในยุคนั้น และไม่เพียงจะรอจับเพื่อสังหารอิมามมะฮ์ดี(อ)เท่านั้น แต่ยังมีการควบคุมและเฝ้าระวังท่านอิมามฮะซัน อัล อัสกะรีย์(อ) อย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการไปมาหาสู่ระหว่างท่านอิมามฮะซัน อัลอัสกะรีย์ (อ) เพื่อจะสลายขบวนการต่างๆของชีอะฮ์ โดยทำให้ชีอะฮ์นั้นห่างไกลจากอิมาม ห่างไกลจากข้อมูล และความรู้ในยุคนั้น
ข้อพึงสังเกตุ
โดยเฉพาะในยุคของท่านอิมามฮะซัน อัล อัสกะรีย์(อ) ชีอะฮ์แทบจะไม่มีโอกาสได้เจอกับอิมาม และกว่าจะถามปัญหาศาสนาสักหนึ่งปัญหา ชีอะฮ์ระดับแกนนำ ไม่มีใครมีสิทธิ์เดินตรงไปยังบ้านของอิมามได้ เพราะบ้านของอิมามอยู่ในเขตของค่ายทหาร บางคนต้องนั่งรอปากทาง บางคนนั่งรออยู่ในซอย บางคนรออยู่ที่หน้าตลาด
บริบทข้างต้น บ่งบอกถึง แกนนำแต่ละคน กว่าจะได้พบอิมามไม่ใช่ง่าย บางครั้งต้องรอนับเป็นเวลาหลายวัน คือ ต้องรอโอกาส เมื่อท่านอิมามออกมาทำธุระ พวกเขาจึงจะได้พบ ซึ่งจริงๆแล้ว อันตรายรอบด้าน
ด้วยเหตุนี้ในบางช่วงโอกาส อิมามจะมีสาส์นไปยังบรรดาชีอะฮ์ต่างๆที่เป็นแกนนำว่า “วันนี้อย่าให้สลาม อย่าทักฉัน หรืออย่าหันมามองฉัน ในขณะที่ฉันเดินผ่าน”
ดังนั้น เราลองจินตนาการว่า เมื่อชีอะฮ์ของอิมามไม่สามารถหันไปมอง ในขณะที่อิมามเดินมา เพราะถ้ามอง แสดงว่า ต้องรู้จักกัน และถ้ายิ่งหันไปมองเป็นพิเศษ แน่นอนว่า ผลสรุปของมัน คือความตาย
กอปรกับในยุคนั้น “มุอ์ตะมิด อับบาซีย์ คือ คอลีฟะฮ์ขึ้นปกครอง ซึ่งขึ้นชื่อลือชากันว่าโหดเหี้ยมที่สุด ถึงขั้นที่ว่า แค่เขารู้ว่าเป็นชีอะฮ์ของอิมาม หรือแค่หันไปมองอิมาม โทษ ณ วันนั้นอาจถึงตาย
บางคนถูกจับไปสอบ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน หากหันไปมอง พวกเขาจะถามทันทีว่า เจ้ารู้จักท่านอิมามฮะซัน อัล-อัสกะรีย์ใช่หรือไม่ เจ้าเป็นหลานหรือเป็นสานุศิษย์ใช่หรือไม่ และถ้าได้คำตอบว่าใช่ พวกเขาก็จับไปทรมานและส่วนมากจุดจบ คือ ความตาย
บทสรุป ในยุคนั้น เพียงแค่มองอิมามฮะซัน อัลอัสกะรีย์(อ) ก็อาจมีโทษถึงตาย เช่นนี้แล้ว การให้สลามคงไม่ต้องพูดถึง ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้สภาวะการติดต่อระหว่างผู้นำกับผู้ตาม หรือการติดต่อระหว่างชีอะฮ์กับผู้นำของเขาในสมัยนั้น ยุ่งยากลำบากมาก
และความยุ่งยากลำบากนี้ ไปถึงขั้นที่ว่า ถ้าอิมามมีสาส์นสำคัญใดก็ตาม ตรงนี้ ให้เรานึกคำภาษาอาหรับ คำว่า "ซะฮ์รอ" ในแง่มุมความเสียสละ ความพยายามของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซะลามุลลอฮฯ) ซึ่งอิมามทั้งสามท่านก็เช่นกัน โดยเฉพาะท่านอิมามฮะซัน อัลอัสกะรีย์(อ) คือ ผู้สร้างหลักประกันว่า ชีอะฮ์จะต้องคงอยู่ จนถึงวันที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ) กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
บางครั้ง เมื่อท่านอิมามมีสาส์นที่มีคำสั่งสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างที่เข้มแข็งของชีอะฮ์ แต่ด้วยกับการดำเนินการที่ชาญฉลาดและมาตรการพิเศษ ท่านอิมามจะนำกระดาษมาเขียนแล้วม้วน โดยให้ผู้รับใช้ในบ้านเจาะไม้ฟืน เจาะเป็นปุ่มลึกลงไปให้เป็นรู แล้วใส่กระดาษ(สาส์น)เข้าไป จากนั้นก็ปิดปุ่มที่ไม้ฝืน แล้วเอาไม้ฝืนอีกล็อต(จำนวนมาก)หนึ่งมากองใส่และสลับเอาไม้ฝืนนี้ออกไปขาย และก็เอาไม้ฝืนอันนี้ ไปยกให้กับคนนั้นคนนี้ หรือตัวแทนคนนั้นคนนี้ จนกระทั่งเมื่อไปถึง ชีอะฮ์ของอิมามก็จะรู้ว่า ไม้ฝืนแบบไหนที่อิมามส่งสาส์นมา
จะเห็นได้ว่า กว่าชีอะฮ์ของอิมามจะได้รับสาส์นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าจะโต้ตอบกับอิมามก็ยุ่งยากลำบากเช่นกัน ชัดแจ้งการปกป้องชีอะฮ์ของท่าน ทำกันถึงขนาดนั้นและเพื่อจะชี้ว่า การต่อสู้ในยุคของท่านอิมามฮะซัน อัล-อัสกะรีย์(อ) ทำกันถึงขนาดนี้ (หมายเหตุ : รายละเอียดมีมาก แต่ด้วยเวลามีน้อย จึงไม่ขอลงรายละเอียด)
ดังนี้แล้ว ฏอฆูต (บรรดาผู้ปกครองทรราช)ในยุคสมัยนั้น ก็ยังงุนงงว่า เขาป้องกันและขัดขวางถึงขนาดนี้ อีกทั้งเขามีสายลับเหมือนตาสัปปะรด แต่ทำไมสังคมชีอะฮ์ยังเข้มแข็ง ทำไมสังคมชีอะฮ์ยังไม่อ่อนแอ อีกทั้งการยืนหยัดของบรรดาชีอะฮ์ในยุคนั้น ความรุนแรงถึงขั้นที่ว่า ถ้าใครถูกจับได้ว่าไปซิยารัต ณ กัรบาลาอ์ คนๆนั้นจะต้องถูกตัดแขนตัดขา
และมุอ์ตะมิด ผู้ปกครองโฉดคนนี้อีกเช่นกัน ที่ออกคำสั่งให้บริวารขุดคู ขุดคลอง ทั้งหมด เป้าหมายเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลไปยังกุโบร์ของท่านอิมามฮุเซน (อ) ในการทำลายรากเหง้าของอะฮ์ลุลบัยต์
นี่คือ ข้อพิสูจน์การมีอำนาจของบะนีอับบาสไปถึงขั้นสูงสุด เพราะเขาประกาศตามฆ่าท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) อย่างเปิดเผย กระนั้นก็ตาม กลับพบว่า มีชีอะฮ์บางคนในยุคนั้นที่กล้าหาญ เมื่อถูกจับได้ หรือ บางคนไปขออนุญาตกับ มุอ์ตะมิด เพื่อจะไปซิยารัตที่กัรบะลาอ์
ฝ่ายมุอ์ตะมิด ก็ตอบว่า “ได้” แต่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ถ้าเจ้าจะไปกัรบะลาอ์ เจ้าต้องถูกตัดแขนหนึ่งข้าง ชีอะฮ์คนนั้นก็ตอบกลับไปว่า ถ้าเงื่อนไขเป็นเช่นนั้น ท่านจงตัดแขนทั้งสองข้างทีเดียวเลย เพราะปีหน้า ฉันจะไปอีก จะได้ไม่ต้องถูกตัดสองครั้ง
บทสรุป นี่คือ ที่ไปที่มาของชีอะฮ์ในสมัยก่อนในสภาวะที่อิมามของเขา โดยเฉพาะในยุคสามคนสุดท้ายถูกขัง ถูกกีดกัน ไม่ให้พบเจอกับประชาชนหรือพบเจอกับสาวกของเขาหนักถึงขั้นที่ว่า พวกเขาต้องเสียสละแขนขาและชีวิต เพื่อให้ได้ไปซิยารัตบรรดาอิมามหนึ่งครั้ง
ทว่ากรณีคนที่ไม่เคยไปซิยารัต พึงศึกษาไว้ และพึงรู้เถิดว่า ชีอะฮ์ที่แท้จริง ถ้ามีทรัพย์สินเงินทองเหลือ จงไปซิยารัตอิมามริฎอ(อ) ที่อิหร่าน และจงไปซิยารัตบรรดาอะอิมมะฮ์ต่างๆ เพราะการได้ไปซิยารัตบรรดาอิมาม นอกจากจะได้ผลบุญที่ยิ่งใหญ่แล้ว เขายังจะมีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ด้วย
คำถาม : ทำไมความศรัทธาของชีอะฮ์ยังเข้มแข็ง ทำไมยังมีชีอะฮ์ที่กล้าเสียสละชีวิตมาพบอิมามถึงในเมืองซามัรรอ ที่เรียกกันว่า “เมืองทหาร”
ทำไมถึงมีชีอะฮ์ที่กล้าหาญ และยอมเสียสละแขนขา หรือแม้แต่ชีวิต เพื่อให้ได้ไปเยี่ยมศพของอิมาม
คำตอบ : เพราะบรรดาอิมามเหล่านี้ ไม่ว่า จะเป็นท่านใดมาเป็นผู้ปกครอง หรือไม่ว่าผู้ปกครองแห่งยุคสมัยจะนำเขาไปตกอยู่สภาพไหน พึงรู้เถิดว่า พวกเขาไม่เคยละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ การชี้นำ ชี้แนะ และสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับชีอะฮ์ ซึ่งในบริบทนี้ขอแนะนำให้ทุกคนไปศึกษาประวัติของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต?)
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี เนื่องในวโรกาสวันชะฮาดัตของอิมามฮะซัน อัลอัสกะรีย์ (อ)
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.