สิทธิและหน้าที่การดูแลบุตรจากคำรายงานของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ตอนที่ 1

สิทธิและหน้าที่การดูแลบุตรจากคำรายงานของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ตอนที่ 1

 

    ลูกๆ คือความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ความโปรดปรานและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า (1) และบิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต การให้การศึกษาและการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) พวกเขา (2) และในการให้การอบรมขัดเกลาที่ดีแก่พวกเขานั้น บิดามารดาจะได้รับรางวัลตอบแทน (3) และสำหรับการให้การศึกษาอบรมที่ไม่ดีแก่พวกเขาก็จะได้รับโทษทัณฑ์ตอบแทน (4)

 

    ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ถือว่าลูกนั้นมีสิทธิต่างๆ เหนือบิดาและมารดาของตนซึ่งได้แก่ :

 

    1.การเลือกชื่อที่ดีให้แก่เขา


   2. การให้เกียรติมารดาของเขา


    3.การให้ความสำคัญในเรื่องชาติตระกูล (คุณสมบัติที่ดีพร้อม) ของบิดาและมารดาของเขา


    4.สุขภาพและพลานามัย (ความสะอาดและการขลิบหนังปลายอวัยวะ) ของเขา


    5.โภชนาการที่เหมาะสม


   6. การให้ศึกษาและการอบรมขัดเกลาเขา


    7.การแสดงความรักและความเมตตาต่อเขา


    8.การให้เกียรติเขา


    9.การช่วยเหลือเขาในการกระทำงานความดี

 

       ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

 حَقُّ الْوَلَدِ عَلَى وَالِدِهِ إِذَا كَانَ ذَكَراً أَنْ يَسْتَفْرِهَ أُمَّهُ، وَيَسْتَحْسِنَ اسْمَهُ، وَيُعَلِّمَهُ كِتَابَ اللَّهِ، وَيُطَهِّرَهُ، وَيُعَلِّمَهُ السِّبَاحَةَ. وَإِذَا كَانَتْ أُنْثَى أَنْ يَسْتَفْرِهَ أُمَّهَا، وَيَسْتَحْسِنَ اسْمَهَا، وَيُعَلِّمَهَا سُورَةَ النُّورِ، وَلَا يُعَلِّمَهَا سُورَةَ يُوسُفَ، وَلَا يُنْزِلَهَا الْغُرَفَ وَيُعَجِّلَ سَرَاحَهَا إِلَى بَيْتِ زَوْجِهَا

 

"สิทธิของลูกที่มีเหนือบิดาของเขา หากเขาเป็นผู้ชายคือการที่ (บิดาของ) เขาจะให้เกียรติมารดาของเขา ตั้งชื่อที่สวยงามแก่เขา สอนคัมภีร์ของอัลลอฮ์แก่เขา ทำให้เขาสะอาดบริสุทธิ์ (ด้วยการขลิบ สุขอนามัยและการอบรมขัดเกลาที่ดี) และสอนให้เขาว่ายน้ำ และหากเป็นผู้หญิง คือ การที่ (บิดา) จะให้เกียรติมารดาของเธอ ตั้งชื่อที่สวยงามให้แก่เธอ สอนอัลกุรอานบท (อัลกุรอานบท) อันนูร แก่เธอ แต่อย่าสอนบทยูซุฟแก่เธอ อย่าให้เธอใช้ชีวิตอยู่ในห้อง (ชั้นบนของบ้าน) ทั้งหลาย (เป็นการชี้ถึงประเด็นที่ว่า สภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิตของลูกสาวนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงจากสายตาและการสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า) และจะต้องรีบเร่งจัดการ (สมรสและ) ส่งเธอไปยังบ้านสามีของเธอ" (5)

 

   ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า :

 

وَ أَمّا حَقّ وَلَدِكَ فَتَعْلَمُ أَنّهُ مِنْكَ وَ مُضَافٌ إِلَيْكَ فِي عَاجِلِ الدّنْيَا بِخَيْرِهِ وَ شَرّهِ

 

"และส่วนสิทธิของลูกของเจ้านั้น คือการที่เจ้าจะรับรู้ว่า เขามาจากเจ้าและความดีงามและความเลวร้ายของเขาในโลกนี้ ซึ่งเกี่ยวพันกับเจ้า" (6)

 

สุขอนามัยของเด็ก

 

     สุขภาพทางด้านเพศสัมพันธ์ของเด็ก : ท่านอิมามศอดิก(อ.) ได้กล่าวว่า :

 

لَا يَجَامِعِ الرَّجُلُ امْرَئَتَهُ أَوْ جَارِيَتَهُ وَ فِي الْبَيْتِ صَبِيٌّ فَإِنَّ ذَلِكَ مِمَّا يُوْرِثُ الزِّنَا

 

“ผู้ชาย จงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาหรือทาสหญิงของตนในขณะที่เด็กอยู่ในห้อง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นสื่อนำไปสู่ความเบี่ยงเบนทางเพศ (ซินา) ของเด็ก” (7)

 

    การป้องกันโรคและความป่วยไข้ : ส่วนหนึ่งจากกรณีต่างๆ จากสิทธิของเด็กคือการป้องกันโรคบางอย่าง ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า : “การร่วมเพศสัมพันธ์ของผู้ชายกับภรรยาของตนในสภาพที่นางมีประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) และหากกระทำเช่นนั้นแล้วบุตรของตนจะถือกำเนิดขึ้นมาในสภาพที่ประสบกับโรคเรื้อน ดังนั้นจงอย่าได้ตำหนิผู้ใดนอกจากตัวเอง ....และไม่สมควร (มักรูห์) ที่ผู้ชายจะร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนในสภาพที่หลับฝันเปียก จนกว่าเขาจะทำฆุซุล (อาบน้ำชำระร่างกายตามศาสนบัญญัติ) เสียก่อน หากเขากระทำเช่นนั้นแล้วลูกได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสภาพที่ประสบกับโรควิกลจริต ดังนั้นจงอย่าได้ตำหนิผู้ใดนอกจากตัวเอง” (8)

 

    ส่วนหนึ่งกรณีของการป้องกันโรคคือการละทิ้งการร่วมเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาเฉพาะต่างๆ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

 

يَا عَلِيُّ! لَا تُجَامِعْ أَهْلَكَ لَيْلَةَ النِّصْفِ وَ لَا لَيْلَةَ الْهِلَالِ أَ مَا رَأَيْتَ الْمَجْنُوْنَ يَسْرَعُ فِيْ لَيْلَةَ الْهِلَالِ  وَ لَيْلَةِ النِّصْفِ كَثِيْرًا

 

“โอ้อะลี! จงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้าในช่วงคืนกลางเดือนและคืนแรกของเดือน (จันทรคติ) เจ้าไม่เห็นหรอกหรือว่า ส่วนมากคนวิกลจริตจะชักหมดสติในคืนแรกของเดือนและคืนกลางเดือน” (9)

 

    ท่านอิมามศอดิก(อ.) ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า : “จงอย่าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้าในช่วงวันแรก ช่วงกลางและช่วงวันสุดท้ายของเดือน (จันทรคติ) เพราะแท้จริงผู้ใดก็ตามที่กระทำเช่นนั้นเขาจงพร้อมยอมรับการแท้งบุตรเถิด” จากนั้น ท่านกล่าวว่า: “และบางทีลูกของเขาอาจจะเป็นคนวิกลจริต” (10)

 

    อย่างไรก็ดีบนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอนได้ถูกยกเว้นจากการห้ามดังกล่าวนี้ (11)

 

    ส่วนหนึ่งจากกรณีของการป้องกันโรคภัยของเด็กคือการละทิ้งจากการพูดคุยกับภรรยาในระหว่างการร่วมเพศสัมพันธ์ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้ห้ามการพูดคุยกับภรรยาในขณะร่วมเพศสัมพันธ์ เนื่องจากจะเป็นสาเหตุทำให้ลูกที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นคนใบ้ (12)

 

การชำระล้างร่างกาย : ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

اغْسِلُوا صِبْیَانَکُمْ مِنَ الْغَمَرِ فَإِنَّ الشَّیْطَانَ یَشَمُّ الْغَمَرَ، فَیَفْزَعُ الصَّبِیَّ فِی رُقَادِهِ وَ یُتَأَذَّی بِهِ الْکَاتِبَانِ

 

"ท่านทั้งหลายจงชำระล้างร่างกายลูกๆ ของพวกท่านจากสิ่งเปรอะเปื้อน (ที่เกิดจากไขมันและอาหาร) เพราะมาร (ชัยฏอน) จะดอมดม (กลิ่นของสิ่ง) เปรอะเปื้อนนั้น อันจะเป็นเหตุให้เด็กหวาดกลัวในขณะการนอนหลับของเขาและจะทำให้ทูตสวรรค์ (มะลาอิกะฮ์) ได้รับการรบกวน" (13)

 

    การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของเด็กผู้ชาย : ส่วนหนึ่งจากประเด็นเกี่ยวกับสุขอนามัยของเด็ก คือ ซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ในการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของผู้ชาย มีรายงานจากบรรดามะอ์ซูม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งกล่าวว่า :

 

اخْتِنُوا أَوْلَادَکُمْ یَوْمَ السَّابِعِ يَطْهَرُوْا

 

“ท่านทั้งหลายจงขลิบขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะของลูกชายของพวกท่านในวันที่เจ็ด (ของวันเกิดของพวกเขา) เพื่อพวกเขาจะได้สะอาด" (14)

 

    การป้องกันเด็กด้วยปัจจัยต่างๆ ทางด้านจิตวิญญา : หนึ่งในปัจจัยการป้องกันทางจิตวิญญาณสำหรับลูกๆ คือการกล่าว “อะซาน” ลงในหูขวาและการกล่าว “อิกอมะฮ์” ลงในหูซ้ายของเด็ก

 

    ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

يَا عَلِيُّ! إِذَا وُلِدَ لَكَ غُلَامٌ أَوْ جَارِيَةٌ  فَأَذِّنْ فِيْ أُذُنِهِ الْيُمْنَى وَأَقِمْ فِي الْيُسْرَى ، فَإِنَّهُ لَا يَضُرُّهُ الشَيْطَانِ أَبَدًا

 

 "โอ้อะลี! เมื่อใดก็ตามที่ลูกชายหรือลูกสาวของเจ้าได้ถือกำเนิดขึ้นมา ดังนั้นจงอะซานในหูข้างขวาของเขาและจงอิกอมะฮ์ในหูซ้ายของเขา เพราะแท้จริง (ด้วยการกระทำดังกล่าว) ชัยฏอน (มารร้าย) จะไม่ทำอันตรายเขาได้ตลอดไป” (15)

 

    และท่านยังได้กล่าวอีกว่า : "โอ้อะลี! เมื่อใดก็ตามที่เจ้าร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงกล่าวว่า :

 

بِسْمِ اللَّهِ ، اللَّهُمَّ جَنِّبْنَا الشَّيْطَانَ ، وَجَنِّبِ الشَّيْطَانَ مَا رَزَقْتَنَا

 

(บิสมิลลาฮิ, อัลลอฮุมมะ ญันนิบนัชชัยฏอนะ, วะญันนิบิชัยฏอนะ มาร่อซะก้อนา)

 

“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ โอ้อัลลอฮ์! โปรดทำให้ชัยฏอนออกห่างจากพวกเรา และโปรดทำให้ชัยฏอนออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวกเรา”

 

     ดังนั้นหากการมีบุตรได้ถูกกำหนดแก่เจ้าทั้งสอง ชัยฏอนจะไม่ทำอันตรายเขาได้ตลอดไป" (16)

 


เชิงอรรถ

 

(1). อัลกุรอาน บทอันนะห์ลุ โองการที่ 72; อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 133

(2). อัลกุรอาน บทอัตตะห์รีม โองการที่ 6; อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 233

(3). อัลกุรอาน บทมัรยัม โองการที่ 55

(4). อัลกุรอาน บทอัชชูรอ โองการที่ 45

(5). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 29

(6). อัลฟะกีฮ์, เล่ม 2, หน้า 622

(7).อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 499

(8). อิละลุชชะรอยีอ์, หน้า 514

(9). ตุฮัฟฟุลอุกูล, หน้า 12 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 20, หน้า 131

(10). วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 20, หน้า 129

(11). อัลกาฟี, เล่ม 4, หน้า 180

(12). อัลคิศ็อล, หน้า 520

(13). อุยุนุล อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 69

(14). อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 35

(15). ตุฮัฟฟุลอุกูล, หน้า 13

(16). ตุฮัฟฟุลอุกูล, หน้า 12

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ