เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ศาสดาอีซา (อ.) ในอัลกุรอาน ตอนที่ 3

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ศาสดาอีซา (อ.) ในอัลกุรอาน ตอนที่ 3

 

เราสามารถได้รับประโยชน์จากบางหลักฐานที่กล่าวถึงเป้าหมายของคำว่า (ริซก์) ในตรงนี้ คือ ไม่ใช่เป็นอาหารธรรมดาที่ได้รับจากประชาชนทั่วไป เพราะคำว่า (ริซกอน) เป็นคำสามานยนาม ซึ่งบ่งบอกถึงว่าเป็นอาหารที่น่าแปลกใจและไม่เคยรู้จักมาก่อนสำหรับท่านนบีซะกะรียา นอกจากนั้นคำตอบของท่านหญิงมัรยัม (อ.) ที่พระนางกล่าวว่า “ได้มาจากอัลลอฮ์” ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ผลไม้และอาหารนั้นไม่ได้รับมาจากหนทางปกติทั่วไป อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อท่านนบีซะกะรียา (อ.) ได้เห็นความโปรดปรานของอัลลอฮ์ (ซบ.) ทำให้ท่านมีความตื้นตันใจ จนได้วิงวอนขอดุอาอ์จากพระองค์ให้ทรงประทานบุตรแก่ท่านในวัยชราภาพเช่นนั้น ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าอาหารนั้นเป็นอาหารที่ไม่ธรรมดา (ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่ม 2 หน้า 400 ตัฟซีร อัลมีซาน เล่ม 3 หน้า 202)

 

อีกบุคลิกภาพที่โดดเด่นและเจิดจรัสของท่านหญิงมัรยัม (อ.) นั้นก็คือ มะลาอิกะฮ์ได้แจ้งข่าวการมีบุตรชายซึ่งมีนามว่า อีซา (อ.)  แก่ท่าน โดยที่ท่านไม่เคยสัมผัสกับบุรุษผู้ใดมาก่อน ดังที่มีกล่าวไว้ในซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 45 ว่า:

 

إِذْ قَالَتِ الْمَلائِكَةُ يَا مَرْيَمُ إِنَّ اللَّهَ يُبَشِّرُكِ بِكَلِمَةٍ مِنْهُ اسْمُهُ الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ وَجِيهًا فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ وَمِنَ الْمُقَرَّبِينَ

 

“จงรำลึกถึงขณะที่มะลาอิกะฮ์กล่าวว่า โอ้ มัรยัม แท้จริงอัลลอฮ์ทรงแจ้งข่าวดีแก่เธอซึ่งพระวจนะหนึ่งจากพระองค์ ชื่อของเขาคือ อัลมะซีฮ์ อีซาบุตรของมัรยัม โดยที่เขาจะเป็นผู้มีเกียรติในโลกนี้ และปรโลก และจะอยู่ในหมู่ผู้ใกล้ชิด” สิ่งที่เพิ่มความเจิดจรัสแก่ท่านหญิงนั้นก็คือ คำยืนยันจากพระผู้เป็นเจ้าถึงความบริสุทธิ์ของท่านหญิงมัรยัม (อ.)

ซึ่งพระองค์ตรัสว่า :

 

وَإِذْ قَالَتِ الْمَلائِكَةُ يَا مَرْيَمُ إِنَّ اللَّهَ اصْطَفَاكِ وَطَهَّرَكِ وَاصْطَفَاكِ عَلَى نِسَاءِ الْعَالَمِينَ

 

“และจงรำลึกขณะที่มะลาอิกะฮ์กล่าวว่า โอ้ มัรยัม แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงเลือกเธอและทรงทำให้เธอบริสุทธิ์ และได้ทรงเลือกเธอให้เหนือบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งหลาย”

(ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 42)

 

 โองการข้างต้นกล่าวประโยค “ทรงเลือกเธอ” สำหรับท่านหญิงมัรยัม (อ.) ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกชี้ให้เห็นถึงการเลือกท่านหญิง ขณะเมื่อพระองค์ทรงตอบรับให้ท่านหญิงทำการนมัสการและภักดีต่อพระองค์ โดยทรงประทานผลไม้และอาหารจากฟากฟ้าแก่ท่านหญิง และครั้งที่สอง ขณะเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงให้ท่านหญิงมีบุตรโดยปราศจากการสัมผัสกับบุรุษใด ด้วยเหตุนี้เอง ท่านหญิงมัรยัม (อ.) จึงเป็นสตรีที่เหนือกว่าบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งหลาย (อัลมีซาน เล่ม 3 หน้า 218)

 

การประสูติของท่านนบี อีซา (อ.)

 

การตั้งครรภ์ของท่านหญิงมัรยัม (อ.) และการประสูติของท่านนบีอีซา (อ.) เป็นปาฏิหาริย์แห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ  ซึ่งอัลกุรอานได้เปรียบเปรยการสร้างท่านนบีอีซา (อ.) ดังการสร้างท่านนบีอาดัม (อ.) ว่า :

 

إِنَّ مَثَلَ عِيسَىٰ عِنْدَ اللَّهِ كَمَثَلِ آدَمَ ۖ خَلَقَهُ مِنْ تُرَابٍ ثُمَّ قَالَ لَهُ كُنْ فَيَكُونُ

 

“แท้จริงอุปมาของอีซานั้น ดั่งอุปมัยของอาดัม ที่พระองค์ทรงสร้างเขาจากดินและได้ทรงประกาศิตแก่เขาว่า จงเป็นขึ้นเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้น”  (ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 59)

 

สำหรับเรื่องราวของท่านหญิงมัรยัม (อ.) กับท่านนบีอีซา (อ.) เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่มะลาอิกะฮ์ได้เผยตัวตนต่อท่านหญิงมัรยัม (อ.) ด้วยอนุมัติจากอัลลอฮ์ (ซบ.)  แล้วได้เป่า “วิญญาณที่มาจากพระองค์” สู่ท่านหญิง แล้วท่านหญิงจึงได้ตั้งครรภ์ในขณะที่ท่านหญิงเป็นสตรีที่รักนวลสงวนตัวและบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อจะได้เป็นสัญญาณและปาฏิหาริย์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำหรับโลกทั้งหลาย ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์ อัมบิยาอ์ ว่า

 

وَالَّتِي أَحْصَنَتْ فَرْجَهَا فَنَفَخْنَا فِيهَا مِنْ رُوحِنَا وَجَعَلْنَاهَا وَابْنَهَا آيَةً لِلْعَالَمِينَ

 

 “และจงรำลึกถึงสตรีที่รักษาความบริสุทธิ์ของนางเอาไว้ แล้วเราได้เป่าวิญญาณของเราเข้าไปในนาง เราได้ทำให้นางและบุตรของนางเป็นสัญญาณหนึ่งแก่โลกทั้งหลาย”

(ซูเราะฮ์ อัมบิยาอ์ โองการที่ 91)

 

  หลังจากที่ท่านหญิงมัรยัม (อ.) ตั้งครรภ์ท่านหญิงได้ไปพักพิง ณ สถานที่แห่งหนึ่งที่ห่างไกลออกไป ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์ มัรยัม ว่า :

 

فَحَمَلَتْهُ فَانْتَبَذَتْ بِهِ مَكَانًا قَصِيًّا فَأَجَاءَهَا الْمَخَاضُ إِلَى جِذْعِ النَّخْلَةِ قَالَتْ يَا لَيْتَنِي مِتُّ قَبْلَ هَذَا وَكُنْتُ نَسْيًا مَنْسِيًّا

 

 “แล้วนางได้ตั้งครรภ์ และนางได้ปลีกตัวออกไปพร้อมกับบุตรในครรภ์ ยังสถานที่ไกลแห่งหนึ่ง ความเจ็บปวดใกล้คลอดทำให้นางหลบไปที่โคนตัวต้นอินทผลัม นางได้กล่าวว่า “โอ้  หากฉันได้ตายไปเสียก่อนหน้านี้ และฉันเป็นคนไร้ค่าถูกลืมเสียก็จะดี” (ซูเราะฮ์ มัรยัม โองการที่ 22-23)

 

  ท่านหญิงได้รับความเจ็บปวดจากการใกล้คลอด อีกทั้งเป็นกังวลและไม่สบายใจจากการใส่ร้ายและคำพูดที่ไม่ดีของประชาชน ยิ่งทำให้ท่านหญิงต้องเจ็บปวดรวดร้าวขึ้นไปอีก จนกระทั่งทำให้ท่านหญิงอยากจะตายให้รู้แล้วรู้รอดไป แต่เมื่อท่านนบีอีซา (อ.) ได้ประสูติออกมา ความดีงามและความสิริมงคลต่าง ๆ ได้หลั่งไหลสู่ท่านหญิงอย่างล้นเหลือ ท่านหญิงได้เขย่าต้นอินทผลัมจนผลของมันร่วงหล่นลงให้ท่านหญิงได้รับประทาน แล้วท่านหญิงก็ได้อุ้มบุตรน้อยของท่านไว้ในอ้อมอกแล้วมุ่งสู่ชนชาติของท่านด้วยความสงบมั่น โดยไร้ซึ่งความกังวลจากการใส่ร้ายและคำพูดต่าง ๆ ของประชาชน ท่านหญิงนิ่งเงียบต่อความแปลกใจและคำถามต่าง ๆ ของประชาชน ท่านหญิงได้เพียงแต่ชี้ไปที่บุตรของท่าน ดังที่มีปรากฏซูเราะฮ์มัรยัมว่า

 

فَأَشَارَتْ إِلَيْهِ قَالُوا كَيْفَ نُكَلِّمُ مَنْ كَانَ فِي الْمَهْدِ صَبِيًّا قَالَ إِنِّي عَبْدُ اللَّهِ آتَانِيَ الْكِتَابَ وَجَعَلَنِي نَبِيًّا

 

นางชี้ไปทางเขา พวกเขากล่าวว่า “เราจะพูดกับผู้ที่อยู่ในเปลที่เป็นเด็กได้อย่างไร?”เขา (อีซา) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี” (ซูเราะฮ์มัรยัม โองการที่ 29)

 


ปาฏิหาริย์ของท่านศาสดาอีซา (อ.)

 

การพูดของท่านศาสดาอีซา (อ.) หลังจากที่ท่านได้ประสูตินั้น ได้สร้างความแปลกใจพร้อมกับสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ผู้คน นอกจากนั้นยังเป็นการปิดปากบรรดาผู้ไม่ประสงค์ดี อีกทั้งเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งต่อความบริสุทธิ์ของท่านหญิงมัรยัม (อ.)  จนเป็นเหตุให้ท่านศาสดาอีซา (อ.) กลายเป็นผู้มีเกียรติและเป็นที่รักของผู้คน แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ไกลโพ้นก็เดินทางมาเพื่อต้องการที่จะพบกับท่าน บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิของเผ่า ต่างก็ประจักษ์ในความรู้และวิทยญาณจากคำพูดและความประพฤติของท่านศาสดาอีซา (อ.) 

(กิซอซุลอัมบิยาอ์ หน้า 387)

 

หลายปีผ่านไป จนกระทั่งเมื่อท่านศาสดาอีซา (อ.) มีอายุได้ 30 ปี และได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยแผ่สาส์นของอัลลอฮ์ (ซบ.) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านได้แสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า  ดังที่มีปรากฏในซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน ว่า :

 

وَرَسُولا إِلَى بَنِي إِسْرَائِيلَ أَنِّي قَدْ جِئْتُكُمْ بِآيَةٍ مِنْ رَبِّكُمْ أَنِّي أَخْلُقُ لَكُمْ مِنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ فَأَنْفُخُ فِيهِ فَيَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِ اللَّهِ وَأُبْرِئُ الأكْمَهَ وَالأبْرَصَ وَأُحْيِي الْمَوْتَى بِإِذْنِ اللَّهِ وَأُنَبِّئُكُمْ بِمَا تَأْكُلُونَ وَمَا تَدَّخِرُونَ فِي بُيُوتِكُمْ إِنَّ فِي ذَلِكَ لآيَةً لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ

 

“และทูต (นบีอีซา)  ที่ส่งไปยังวงศ์วานอิสรออีล (โดยที่เขาจะกล่าวว่า) แท้จริงฉันได้นำสัญญาณหนึ่งจากพระผู้อภิบาลของพวกท่านมายังพวกท่านแล้ว โดยที่ฉันจะสร้างจากดินให้แก่พวกท่าน ดั่งรูปนก แล้วฉันจะเป่าเข้าไปในมัน แล้วมันก็จะกลายเป็นนก ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และฉันจะรักษาคนตาบอดแต่กำเนิด และคนเป็นโรคเรื้อน และฉันจะให้ผู้ที่ตายแล้วมีชีวิตขึ้นด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และฉันจะบอกพวกท่านถึงสิ่งที่พวกท่านจะบริโภคกันและสิ่งที่พวกท่านสะสมไว้ในบ้านของพวกท่าน แท้จริงในนั้นมีสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา” (ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 49)

 

 การเป่าของท่านศาสดาอีซา (อ.) จนทำให้ผู้ที่ตายไปแล้วมีชีวิตขึ้นอีกครั้งและการเยียวยารักษาบรรดาผู้ป่วย บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในยุคนั้นต่างพากันแปลกใจยิ่งนัก ทุกคนต่างจำนนในอำนาจเหนือธรรมชาติของท่าน แต่สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญนั้นก็คือ ปาฏิหาริย์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์

 

“คำพูด” ของท่านศาสดาอีซา (อ.) ตั้งแต่อยู่ในแปล  “การแจ้งข่าว” ของท่านในสิ่งที่ประชาชนได้กักตุนเอาไว้ในบ้านของพวกเขา และ “การเป่า” ของท่านเพื่อรักษาผู้ป่วยหรือให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดนี้คือการสำแดงถึง “พระวจนะแห่งอัลลอฮ์ (ซบ.)” และ “การเป็นวิญญาณจากอัลลอฮ์ (ซบ.)” โดยไม่ใช่เป็นการสิงสถิตของพระผู้เป็นเจ้าหรือการตั้งภาคีแต่อย่างใด

 

อัลกุรอานได้อธิบายถึงความจริงอันนี้ไว้ โดยได้ตักเตือนบรรดาผู้ที่ยึดปฏิบัติตามท่านว่าอย่าศรัทธาอย่างเลยเถิดว่า

 

يَا أَهْلَ الْكِتَابِ لا تَغْلُوا فِي دِينِكُمْ وَلا تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ إِلا الْحَقَّ إِنَّمَا الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ رَسُولُ اللَّهِ وَكَلِمَتُهُ أَلْقَاهَا إِلَى مَرْيَمَ وَرُوحٌ مِنْهُ فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرُسُلِهِ وَلا تَقُولُوا ثَلاثَةٌ انْتَهُوا خَيْرًا لَكُمْ إِنَّمَا اللَّهُ إِلَهٌ وَاحِدٌ سُبْحَانَهُ أَنْ يَكُونَ لَهُ وَلَدٌ لَهُ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الأرْضِ وَكَفَى بِاللَّهِ وَكِيلا

 

“โอ้ ชาวคัมภีร์ทั้งหลาย จงอย่าปฏิบัติให้เกินขอบเขต ในศาสนาของพวกเจ้า และจงอย่ากล่าวเกี่ยวกับอัลลอฮ์ นอกจากสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น แท้จริง อัลมะซีฮ์ อีซาบุตรของมัรยัมนั้น เป็นเพียงศาสนทูตของอัลลอฮ์ และเป็นเพียงดำรัสของพระองค์ที่ได้ทรงกล่าวมันแก่มัรยัม  และเป็นเพียงวิญญาณหนึ่งจากพระองค์เท่านั้น ดังนั้นจงศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และบรรดาศาสนทูตของพระองค์เถิด และจงอย่ากล่าวว่าสามองค์เลย จงหยุดยั้งเสียเถิด มันเป็นสิ่งดียิ่งแก่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ คือผู้ควรได้รับการเคารพสักการะแต่เพียงองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการที่จะทรงมีบุตร สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้า และสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นสิทธิของพระองค์ทั้งสิ้น และเพียงพอแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้คุ้มครอง” (ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ โองการที่ 171)

 

 

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม