ชีอะฮ์ หรือ ซุนนี หรือวะฮ์ฮาบี คือผู้สร้างอุตริกรรมในเรื่องคอลิฟะฮ์ ตอนที่ 1

ชีอะฮ์ หรือ ซุนนี หรือวะฮ์ฮาบี คือผู้สร้างอุตริกรรมในเรื่องคอลิฟะฮ์  ตอนที่ 1

 

ชีอะฮ์ เป็นผู้อุตริกรรมขึ้นมาใหม่โดยการอ้างว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นคอลิฟะฮ์ที่ถูกแต่งตั้งโดยนบี (ศ็อลฯ.)หรือ ซุนนี/ซุนนะฮ์ คือ ผู้ทำบิดอะฮ์ (อุตริกรรมขึ้นมาเอง) ที่มีความเชื่อว่า "ท่านอบูบักร คือคอลิฟะฮ์สืบต่อจากนบี (ศ็อลฯ.)

 

ลองมาเปรียบเทียบเหตุผลของแนวคิดทั้ง 2 ดูนะครับ แล้วเรียกร้องเชิญชวนประชาชาติมุสลิมให้มาช่วยกันตัดสินว่า แนวคิดใดสมเหตุสมผลมากกว่ากัน (ที่สำคัญต้องละทิ้งความอคติและทิฐิลงก่อนนะครับ)

 

(1)- เหตุผลของกลุ่มชนชีอะฮ์

 

กลุ่มชนชีอะฮ์ อ้างเหตุผลสนับสนุนความเชื่อของตัวเองด้วยกับวจนะของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ). ที่มีบันทึกไว้ในตำราชั้นนำของทั้งสองฝ่าย(ชีอะฮ์/ซุนนี) เช่น ฮะดิษ

 

(ก). เหตุการณ์ในปีที่ 4 ของการเผยแพร่ศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ). รู้จักกันในชื่อ  "งานเลี้ยงแห่งซุลอาชีเราะฮ์"


ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ด้วยกับประโยคนี้


إِنَّ هَذَا أَخِی وَ وَصِیی وَ خَلِیفَتِی فِیکُمْ فَاسْمَعُوا لَهُ وَأَطِیعُوا؛

 تاریخ طبری ج 2 ص 319 -321
 


“ อะลี คือพี่น้องของฉัน คือผู้สืบแทนของฉัน และคือผู้สืบตำแหน่งของฉัน ในหมู่พวกท่าน ฉะนั้นจงฟังเขาและจงเชื่อฟังคำบัญชาต่าง ๆ ของเขา ”

ตารีค ฏอบะรี เล่ม 2 หน้าที่ 319-321

 

(ข). เหตุการณ์ในปีที่ 9 แห่งฮิจเราะห์ศักราช รู้จักกันในชื่อ "ฮะดีษมันซิละฮ์"  (สถานะของอิมามอะลี (อ.) ที่มีต่อนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ). ดั่งสถานของนบีฮารูน อ. ที่มีต่อนบีมูซา( อ.)

 

ท่านศาสดาแห่งอิสลามกล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ. )ว่า


أَنْتَ مِنِّي بمَنْزِلَةِ هَارُونَ مِن مُوسَى، إِلَّا أنَّهُ لا نَبِيَّ بَعْدِي


الراوي : سعد بن أبي وقاص | المحدث : مسلم | المصدر : صحيح مسلم
الصفحة أو الرقم: 2404 | خلاصة حكم المحدث : صحيح

 

“เจ้าไม่พอใจดอกหรือที่ตำแหน่งของเจ้าที่มีต่อฉันเสมือนฮารูนที่มีต่อมูซา ยกเว้นแต่ว่าจะไม่มีนบีใดๆมาภายหลังจากฉันอีก ”
ผู้รายงาน ซะอัด บิน อะบีวักกอศ  ที่มา ศอฮิฮ์ มุสลลิม หน้าที่ 2404 สถานะฮะดีษ ถูกต้อง

 

ข้อควรรู้ :  สถานภาพของนบีฮารูนที่มีต่อนบีมูซา มีด้วยกัน 4 สถานภาพที่สำคัญ คือ

 

1. ตำแหน่งการเป็น “นบี” พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์มัรยัม โองการที่ 53 ว่า

 

وَوَهَبْنَا لَهُ مِن رَّحْمَتِنَا أَخَاهُ هَارُونَ نَبِيًّا

 

“และเราได้มอบแก่เขา(มูซา)จากความเมตตาของเราให้พี่ชายของเขาคือฮารูนเป็นนบี”

 

2. ตำแหน่งการเป็น “วะฮ์ซี” หมายถึง ผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوسَى الْكِتَابَ وَجَعَلْنَا مَعَهُ أَخَاهُ هَارُونَ وَزِيرًا

 

“และแน่นอน เราได้ประทานคัมภีร์ (เตารอต) แก่มูซา และเราได้ให้พี่ชายของเขา คือ ฮารูนเป็นผู้ช่วยเหลือ” ซูเราะฮ์ อัลฟุรกอน โองการที่ 35

 

3. ตำแหน่งผู้อยู่เคียงข้างที่คอยให้กำลังใจและสร้างความเข้มแข็ง พระองค์ทรงตรัสว่า

 

هارُونَ أَخی اشْدُدْ بِهِ أَزْری وَ أَشْرِکْهُ فی أَمْری
 

“ฮารูนคือ พี่น้องของข้าพระองค์ ได้โปรดให้เขาเพิ่มความเข้มแข็งแก่ข้าพระองค์ด้วย และให้เขามีส่วนร่วมในกิจการของข้าพระองค์ด้วย”ซูเราะฮ์ฏอฮา โองการที่ 29

 

4. ตำแหน่ง “คอลีฟะฮ์” พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

 

وَقَالَ مُوسَى لأَخِيهِ هَارُونَ اخْلُفْنِي فِي قَوْمِي  

 

“และมูซาได้กล่าวแก่ฮารูน พี่ชายของเขาว่า เจ้าจงทำหน้าที่คอลีฟะฮ์(ต่อจาก)ฉันในหมู่ชนของฉัน”

ซูเราะฮ์ อัลอะอ์รอฟ โองการที่ 142

 

หากลองพิจารณาฮะดีษข้างต้นอย่างเป็นกลาง ก็จะสามารถได้บทสรุปที่ว่า ท่านนบีฮารูน(อ)มีฐานะเดียวกับท่านนบีมูซา(อ)ในทุกด้านสำหรับชาวบะนีอิสรออีล เช่นเดียวกับฐานะภาพของท่านอิมามอาลี(อ)ที่มีเหมือนท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) เว้นเสียแต่ว่าท่านอาลีมิได้เป็นศาสดา เพราะตัวบทของฮะดีษถูกกล่าวอย่างชัดเจน


 ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า


1- อิมามอาลีประเสริฐสุดในหมู่ประชาชาติ รองลงมาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ.) เพราะนบีฮารูนก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้


2- อิมามอะลี (อ.)คือตัวแทนและเป็นผู้ช่วยที่ทรงเกียรติของท่านศาสดา (ศ็อลฯ.) เพราะนบีฮารูนก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้


3- อิมามอะลี (อ.) คือผู้แทนและเป็นคอลีฟะฮ์แห่งศาสดา (ศ็อลฯ) และตราบใดที่ยังมีท่านอยู่ จะไม่มีผู้ใดเหมาะสมไปกว่า อิมาม (อ.) สำหรับการรับมอบหมาย และดำรงตำแหน่งนี้เช่นเดียวกับการเป็นตัวแทนของนบีฮารูน (อ.) ที่มีต่อนบีมูซา ( อ.)


4- อิมามอะลี (อ.) มีสิทธิเหนือมุสลิมทุกๆคนต่อจากนบี (ศ็อลฯ). เสมือน นบีฮารูนมีสิทธินั้นในหมู่ชนบะนีอิสรออีลในยุคนบีมูซา

 


(ค). เหตุการณ์ในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านศาสดา (ศ็อลฯ). ในฮัจญ์อำลา ที่รู้จักกันใน "เหตุการณ์แห่งฆอดีรคุม"

 

ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 เดือนซุลฮิจยะฮ์ ตามปฏิทินอิสลาม ท่านศาสดาแห่งอิสลามได้ปราศรัยต่อหน้าศอฮาบะฮ์เรือนแสนคน แล้วท่านก็ได้จับมือของอะลี บิน อะบีฏอลิบ ยกขึ้นสูงและกล่าวว่า:


من كنت مولاه فهذا علي مولاه
 

“ขอให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ผู้ใดก็ตามที่เขามีฉันเป็นเมาลา (นาย) ของเขา อะลีก็เป็นเมาลา (นาย) ของเขาด้วย”


เมื่อได้ประกาศสาสน์นี้แล้ว ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ).ได้ยกมือของท่านขึ้นสู่ฟากฟ้า และกล่าวดุอาว่า :

 

اَللّهُمَّ والِ مَنْ والاهُ وَ عادِ مَنْ عاداهُ وَاحِبَّ مَنْ أحِبَّهُ وَ أَبْغِضْ مَنْ أَبْغَضَهُ وَانْصُرْ مَنْ نَصَرَهُ وَاخْذُلْ مَنْ خَذَلَهُ وَ أَدِرِ الْحَقَّ مَعَهُ حَيثُ دارَ

 

“โอ้พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นมิตรกับเขาผู้ที่เป็นมิตรกับอะลี และขอพระองค์ทรงเป็นศัตรูกับเขาผู้ที่เป็นศัตรูของอะลี โอ้ พระเจ้าโปรดให้การช่วยเหลือเขาผู้ที่ช่วยเหลืออะลี และทรงละทิ้งเขาผู้ซึ่งละทิ้งอะลี โปรดให้สัจธรรมอยู่กับเขาตราบที่เขามียังมีชีวิต และโปรดอย่าแยกเขาออกสัจธรรม”

 

นี่คือ สามเหตุผลจากหลายเหตุผลที่กลุ่มชนชีอะฮ์ ผู้ตามลูกหลานนบี (ศ็อล.) เชื่อว่า "ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ). ก่อนท่านจะเสียชีวิตท่านได้แต่งตั้งผู้นำสืบต่อจากท่านไว้แล้ว ก็คือ ท่านอิมามอะลี (อ.) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่ยอมรับท่านอบูบักรว่าเป็นผู้นำต่อจากท่านนบี (ศ็อลฯ.)

 

 

(2)- เหตุผลของกลุ่มชนซุนนี/วะฮ์ฮาบี

 

ชาวซุนนีและชาวซุนนะห์(วะฮ์ฮาบี) ให้เหตุผลในความเชื่อของตนที่ว่า "อบูบักร คือ คอลิฟะฮ์สืบต่อจากท่านนบี (ศ็อลฯ.) ไว้เพียงสั้นๆ ว่า

 

(ก). เพราะเป็นมติ ณ ซะกีฟะฮ์ให้ ท่านอบูบักร ขึ้นเป็น คอลีฟะฮ์สืบต่อจากท่านนบี (ศ็อลฯ)

 

กลุ่มชนชีอะฮ์ ได้ปฏิเสธการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอบูบักรด้วยกับการเลือกของประชาชน เพราะชีอะฮ์เชื่อว่าตำแหน่งผู้นำต่อจากท่านนบี (ศ็อลฯ). นั้นจำเป็นต้องได้มาจากอัลลอฮ์ผ่านท่านศาสนทูตเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกกันเองได้ กล่าวคือ ตำแหน่งอิมามเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า การกำหนดตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นอิมามและจำนวนของอิมามนั้นขึ้นกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น


 และทางเดียวที่เราจะสามารถรับรู้ถึงเจตนาดังกล่าวได้ก็คือ กุรอาน อัลมะญีด และอัลฮะดีษของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ.)  นั่นเอง

 

(ข). เหตุการณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลฯ.)  สั่งให้ท่านอบูบักรได้นำนมาซ

 

ชาวซุนนีและชาวซุนนะห์ ต่างยกเหตุผลที่ท่านอบูบักร ควรจะเป็นคอลีฟะฮ์ สืบต่อจากท่านนบี (ศ็อลฯ.)    ด้วยกับการนำนมาซของท่านอบูบักรแทนท่านนบี (ศ็อลฯ.) ในช่วงก่อนการเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลฯ.)   โดยพวกเขากล่าวว่า

 

"เหตุการณ์นี้เอง ทำให้ผู้คนมั่นใจว่าศาสดามุฮัมมัดได้แต่งตั้งอะบูบักร์ให้เป็นผู้สืบต่อจากท่านจริงๆ เพราะการเป็นผู้นำก็คือ เครื่องหมายอันแรกสุดของการสืบต่อจากศาสดา"

 

ตัวบทฮะดีษที่บันทึกไว้ใน ศอฮิฮ์ บุคอรี ซึ่งรายงานโดยท่านอาอิชะฮ์ ลูกสาวของท่านอบูบักร ว่า


(ใจความ): ในช่วงที่ท่านนบีป่วยหนัก ท่านได้มีรับสั่งให้ท่านอบูบักรไปนำนมาซแก่ประชาชน ท่านอบูบักรก็ได้ไปนำนมาซแก่พวกเขา ท่านอุรวะฮ์ เล่าว่า ต่อมาท่านนบีรู้สึกตัวเบาขึ้น (รู้สึกดีขึ้น) เมื่อท่านเข้าไปในมัสยิดนั้น อบูบักร์กำลังละหมาดอยู่


ศาสดามุฮัมมัดเข้ามาใกล้อะบูบักร์ ปรากฏว่าท่านอบูบักร์ก็ได้ถอยออกไปจากที่ของผู้นำละหมาดเพื่อให้ศาสดาเข้ามาแทน  แต่ท่านศาสดาก็ได้ชี้บอกเขาให้ทำเหมือนเดิม แล้วท่านก็นั่งลงข้างอบูบักร์และท่านนมาซในท่านั่ง ดังนั้นท่านอบูบักรจึงได้นมาซโดยเหนียตตามหลังนบี ส่วนประชาชนก็ได้นมาซโดยการเหนียตตามหลังท่านอบูบักร

 

ตัวบทฮะดีษใน ศอฮิฮ์ บุคอรี

 

حَدَّثَنَا زَکَرِیَّاءُ بْنُ یَحْیَی قَالَ حَدَّثَنَا ابن‌نُمَیْرٍ قَالَ اَخْبَرَنَا هِشَامُ بْنُ عُرْوَةَ عَنْ اَبِیهِ عَنْ عَائِشَةَ قَالَتْ اَمَرَ رَسُولُ اللَّهِ - صلی الله علیه وسلم - اَبَا بَکْرٍ اَنْ یُصَلِّیَ بِالنَّاسِ فِی مَرَضِهِ، فَکَانَ یُصَلِّی بِهِمْ. قَالَ عُرْوَةُ فَوَجَدَ رَسُولُ اللَّهِ - صلی الله علیه وسلم - فِی نَفْسِهِ خِفَّةً، فَخَرَجَ فَاِذَا اَبُو بَکْرٍ یَؤُمُّ النَّاسَ، فَلَمَّا رَآهُ اَبُو بَکْرٍ اسْتَاْخَرَ، فَاَشَارَ اِلَیْهِ اَنْ کَمَا اَنْتَ، فَجَلَسَ رَسُولُ اللَّهِ - صلی الله علیه وسلم - حِذَاءَ اَبِی بَکْرٍ اِلَی جَنْبِهِ، فَکَانَ اَبُو بَکْرٍ یُصَلِّی بِصَلاَةِ رَسُولِ اللَّهِ - صلی الله علیه وسلم - وَالنَّاسُ یُصَلُّونَ بِصَلاَةِ اَبِی بَکْرٍ


บทวิจารณ์เกี่ยวกับฮะดีษการนำนมาซของท่านอบูบักร


ผมและเชื่อว่าพี่น้องมุสลิมมากมายก็เชื่อเหมือนกันว่า เมื่อเราเห็นตัวบทฮะดีษและคำอ้างของชาวซุนนะห์ข้างต้น เพื่อสนับสนุนสร้างความชอบธรรมในการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอบูบักรด้วยกับฮะดิษข้างต้นแล้ว ผมไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลที่ว่า

 

1- ฮะดิษบทนี้ เมื่อเข้าไปดูสะนัดปรากฏว่ามีรอวี(นักรายงานฮะดิษ)หลายคนที่ไม่น่าเชื่อถือ


2- หากท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) มีคำสั่งให้ท่านอบูบักรนำนมาซจริง แล้วด้วยเหตุผลอันใดอีกเล่าที่ท่านต้องพยายามพยุงตัวท่านมายังมัสยิดอีก(บางริวายะฮ์บอกว่าท่านต้องให้คนสองคนพยุงตัวมาถึงมัสยิดในสภาพเท้าลากกับพื้น) สิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่นอกเหนือคำสั่งท่าน ท่านจึงต้องให้คนพยุงตัวท่านมาเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด


3- พวกท่านเคยเห็น หรือเคยได้ยินไหมว่าในชะรีอะฮ์อิสลามว่าด้วยเรื่องนมาซ ว่า ในเวลาเดียวกันคนหนึ่งเป็นทั้งอิมาม(ผู้นำ)อีกทั้งเป็นมะฮ์มูม(ผู้ตาม) เพราะในริวายะฮ์ของบุคอรีบันทึกว่า "ท่านอบูบักรเหนียตตามท่านนบี ประชาชนเหนียตตามอบูบักร นั่นหมายความว่า ท่านอบูบักรเป็นทั้งอิมาม และเป็นทั้งมะฮ์มูมด้วย

 

فَکَانَ اَبُو بَکْرٍ یُصَلِّی بِصَلاَةِ رَسُولِ اللَّهِ - صلی الله علیه وسلم - وَالنَّاسُ یُصَلُّونَ بِصَلاَةِ اَبِی بَکْرٍ

 

4- พวกเขาอ้างว่า ในวันที่ท่านศาสดาป่วยหนักไม่สามารถลุกขึ้นได้ ท่านรับสั่งให้อบูบักรไปนำนมาซ ทุกคนก็เชื่อฟังปฏิบัติตามหมด โดยไม่มีใครคัดค้านแม้แต่คนเดียวว่า "ท่านนบีป่วยหนักท่านเพ้อไปแล้ว"


 แต่ทำไมพวกเขา(คนกลุ่มนี้)จึงคัดค้านนบี (ศ็อลฯ.)   ในวันที่ท่านรับสั่งให้นำปาก กับน้ำหมึกเพื่อท่านจะได้บันทึกพินัยกรรมเพื่อมิให้ประชาชาติอิสลามหลงทาง แต่ท่านอุมัรกลับคัดค้านแล้วกล่าวหาว่า "ท่านนบีเพ้อไปแล้ว" อย่าทำตามคำสั่ง(หากอ้างท่านนบีป่วยหนักแน่นอนว่าในริวายะฮ์ก็ป่วยหนักเหมือนกัน)

 

5- หากการเป็นผู้นำนมาซ คือ เหตุผลที่ต้องได้รับตำแหน่งคอลีฟะฮ์สืบต่อจากท่านนบี ในประวัติศาสตร์อิสลามบันทึกไว้ว่า ในช่วงการเผยแพร่ศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.)  ท่านได้ให้บุคคลต่างๆนำนมาซแทนท่านในหลายวาระโอกาส ซึ่งนับแล้วไม่น้อยกว่า 25 คน (ก็ย่อมแสดงว่าพวกนี้ก็ต้องมีสิทธิ์เป็นคอลีฟะฮ์ทั้ง 25 คนด้วยซิครับ)

 

นี่คือ เหตุผลบางส่วนที่ผมมิอาจยอมรับการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอบูบักรได้ครับ.....ผมเชื่อแบบนี้ผมผิดหรือครับ ?

 

บทสรุปเรื่องตำแหน่งผู้นำสืบต่อจากท่านนบีในมักตับชีอะฮ์และซุนนี ซุนนะฮ์

 

มุสลิมที่อ้างตนเองว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามคำพูดและการกระทำของท่านศาสดาแห่งอิสลามและสาวกของท่านได้รับการขนานนามว่า “อะห์ลิซซุนนะฮ์ วัลญะมาอะห์” หรือ ซุนนี
มุสลิมซุนนี เชื่อว่าศาสดาแห่งอิสลามไม่ได้แต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของท่าน ดังนั้น มุสลิมจึงจำเป็นต้องสรรหาผู้นำของพวกเขากันเอง ด้วยเหตุนี้ มุสลิมซุนนีจึงไม่มีวิธีที่แน่นอนในการเลือกสรรผู้นำในอนาคตของพวกเขา


ในกรณีหนึ่ง บรรดาสาวกสรรหาผู้นำโดยผ่านกระบวนการซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้ง ในอีกกรณีหนึ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งคนแรก ดำเนินการเสนอชื่อและแต่งตั้งผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไปของตนเองได้เลย ในกรณีที่สาม ผู้อยู่ในตำแหน่งคนที่สองแต่งตั้งคณะกรรมการมา6 คน และมอบหมายหน้าที่ให้ไปเลือกบุคคลคนหนึ่งจากพวกเขามาเป็นผู้นำในอนาคตของประชาคมมุสลิม


ผู้นำคนที่สามที่ได้รับการเลือกสรรถูกสังหารในระหว่างการจลาจลและอุมมะฮ์(ประชาชาติ) มุสลิมถูกทิ้งไว้โดยปราศจากผู้นำ บรรดาสาวกจึงกลับมาหาครอบครัวนบี และอ้อนวอนให้บุคคลหนึ่งในครอบครัวของท่านรับผิดชอบรัฐบาลของมุสลิม เพื่อป้องกันการแตกแยกหรือการแตกสลายของรัฐ


ผู้นำคนที่สี่กำลังปกครองมุสลิม ขณะเดียวกัน ผู้เข้าแข่งขันเป็นผู้นำคนใหม่ ได้แต่งตั้งตนเองขึ้นมาในซีเรีย เขาไม่ใยดีกับการเลือกตั้ง ซ้ำท้าทายอำนาจของผู้นำที่ชอบธรรมของมุสลิม ด้วยการปลุกระดมโดยวิธีการใช้กำลัง และประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐบาล การกระทำของเขาทำให้ “หลักการ”สำหรับการสรรหาผู้นำของ อุมมะฮ์มุสลิมเพิ่มขึ้นเป็น 4 วิธี คือ


1. การเลือกตั้ง อบูบักรเป็นคอลีฟะฮ์ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ที่ซะกีฟะฮ์


2. การเสนอชื่อแต่งตั้ง อุมัรได้รับการแต่งตั้งโดยอบูบักรให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง


3. การตั้งกรรมการสรรหา หรือเลือกสรร อุษมานได้รับการเลือกสรรให้เป็นคอลีฟะฮ์โดยคณะกรรมการหกคนที่แต่งตั้งโดยอุมัร


4. การยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลัง มุอาวียะฮ์ บิน อบูซุฟยาน ยึดอำนาจรัฐบาลของมุสลิมโดยใช้กำลังทหาร


ซุนนีพิจารณา “หลักการ” ทั้งสี่นี้ เป็นหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม ด้วยเหตุเช่นนี้ หลัก “ธรรมนูญ” ที่แตกต่างกันสี่ประการในการหากผู้นำจึงเกิดขึ้น


ในที่นี้ เราควรจะระบุลงไปว่า แม้มุสลิมซุนนีจะใช้วิธีการในการสรรหาผู้นำของ อุมมะฮ์มุสลิม แต่ละวิธีการในสี่ประการที่แตกต่างกันนี้มี “สถานะ” เป็น “หลักการ” แต่ทั้งสี่หลักการนี้ก็ไม่มีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสดาแต่อย่างใด ทั้งหมดนั้นมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากการเสียชีวิตของศาสดาแห่งอิสลาม


มุสลิมชีอะฮ์ กลับมองทฤษฏีการปกครองของซุนนีว่า “ขาดความน่าเชื่อถือทางหลักการและทางศีลธรรม” และขาดความไม่อยู่กับร่องกับรอย พวกเขากล่าวว่าหลักการต้องถูกหรือไม่ก็ผิด และสิ่งที่จะทดสอบว่าผิดหรือถูกก็คือ อัลกุรอาน มุสลิมทั้งโลกสามารถมีมติเอกฉันท์ กำหนดกฎหมายขึ้น แต่ถ้ากฎหมายนั้นขัดกับอัลกุรอาน ย่อมไม่ถือว่าเป็นเรื่องของอิสลาม แหล่งของความสอดคล้องตามหลักการและทางศีลธรรมคือ “อัลกุรอาน” ไม่ใช่ “เสียงส่วนใหญ่”


ฉะนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า "ตำแหน่งคอลีฟะฮ์" ที่ถูกสถาปนาขึ้นหลังการเสียชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ.)  ที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ใช่หลักการที่เป็นคำสั่งของท่านนบี ศ. ผมจึงไม่ยอมรับในหลักการนี้ครับ

 

โปรดติดตามอ่านต่อไป


บทความโดย เอกภาพ ชัยศิริ