เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ซุนนะฮ์ของบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์นบี เป็นข้อพิสูจน์สำหรับประชาชาติมุสลิมใช่หรือไม่?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ซุนนะฮ์ของบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์นบี เป็นข้อพิสูจน์สำหรับประชาชาติมุสลิมใช่หรือไม่?

 

แหล่งความรู้ที่มุสลิมต้องยึดปฏิบัติและซุนนะห์ของบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์นบี ถือเป็นข้อพิสูจน์(ฮุจญะฮ์)สำหรับประชาชาติมุสลิมด้วยหรือ?

 

 

1.แหล่งที่มาของความรู้ในศาสนาอิสลามที่ประชาชาติมุสลิมต้องยึดถือปฏิบัติตาม ได้แก่


1.1 อัลกุรอาน
1.2 ซุนนะฮ์
 1.3 อิจมาอ์
1.4 สติปัญญา

 

อัลกรุอาน เป็นที่ย้อนกลับของความรู้สูงสุดในศาสนาอิสลามอย่างที่ไม่ต้องสงสัยใดทั้งสิ้น และยังถือว่าเป็นเอกฉันท์ในหมู่สำนักคิดทั้งหลายในอิสลามว่า อัลกรุอาน คือ แหล่งความรู้ขั้นสูงสุด


ซุนนะฮ์  หมายถึง คำพูด การกระทำ และการนิ่งเงียบของนบี(ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามมะฮ์ซูม(อ) แต่วจนะที่อ้างไปยังนบี หรืออิมาม นั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับอัลกุรอาน


ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัศศอดิก (อ)ได้กล่าวว่า


وَكُلُّ حَدِيثٍ لا يُوَافِقُ كِتَابَ الله فَهُوَ زُخْرُفٌ
 

“ทุกคำพูดที่ไม่สอดคล้องกับอัลกุรอาน ถือว่า ไม่มีรากที่มา”


รายงานจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) กล่าวว่า


أَيُّهَا النَّاسُ مَا جَاءَكُمْ عَنِّي يُوَافِقُ كِتَابَ الله فَأَنَا قُلْتُهُ وَمَا جَاءَكُمْ يُخَالِفُ كِتَابَ الله فَلَمْ أَقُلْهُ
 

“โอ้ประชาชนเอ๋ย ทุกคำพูดที่กล่าวว่ามาจากฉัน ถ้าสอดคล้องกับอัลกุรอาน นั่นคือคำพูดของฉัน แต่ถ้าคำพูดใดไม่สอดคล้องกับอัลกุรอานนั่น ไม่ใช่คำพูดของฉัน”


อิจมะอ์ หมายถึง การเห็นพร้องต้องกันของนักปราชญ์ในฮุกุมหนึ่ง หรือเรื่องๆหนึ่ง แต่อิจมะฮ์จะต้องอ้างอิงไปยังอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ มิเช่นนั้นแล้ว ก็ถือว่า ไม่ถูกยอมรับในหลักการอิสลาม


สติปัญญา หากสติปัญญาของมนุษย์มั่นใจในฮุกุมหนึ่ง เช่น การขโมยเป็นสิ่งที่ไม่มี แน่นอน ฮุกุ่มนี้ คือ ฮุกุ่มของสติปัญญาที่เกิดจากความมั่นใจ ถือว่า สามารถอ้างอิงทางศาสนาได้

 

2.ซุนนะฮ์ของบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ของนบี ถือ เป็นข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) สำหรับประชาชาติมุสลิมด้วยหรือ?


ชีอะฮ์เชื่อโดยหลักการว่า เฉพาะอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เท่านั้น ที่มีสิทธิ์สถาปนากฎหมายขึ้นปกครองประชาชาติ และสังคมมนุษย์


 และท่านศาสดามีหน้าที่ในการนำวะฮ์ยู(สาส์น)จากอัลลอฮ์ มาเผยแผ่ร่างเป็นกฎหมายแก่ประชาคมโลก


ส่วนบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ คือ ผู้พิทักษ์กฏหมายนั้นให้อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ตราบจนวันสิ้นโลก ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ตอกย้ำสิ่งนี้ไว้อย่างชัดเจนในฮะดีษษะเกาะลัยน์ (สิ่งหนักสองสิ่ง) อันเป็นฮะดีษเอกฉันท์ในหมู่นักรายงานฮะดีษทั้งชีอะฮ์และซุนนี

 

قال رسول الله صل الله عليه وسلم إنّي تاركٌ فيكم ما إن تمسكتم به لن تضلّوا بعدي أحد هما أعظم من الآخر كتاب الله حبل ممدود من السماء إلى الأرض و عترتي أهل بيتي و لن يفترقا حتى يردا علىّ الحوض، فانظروا كيف تخلفوني فيهما

 

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า


“แท้จริงฉันได้ฝากสิ่งสำคัญยิ่งไว้ในหมู่สูเจ้า ถ้าสูเจ้ายึดมั่นกับสิ่งนั้น หลังจากฉันจะไม่หลงทางตลอดไป สิ่งหนึ่งนั้นมีความยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่ง คัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ อันเป็นสายเชือกที่ทอดตรงจากฟากฟ้าสู่แดนดิน และอิตรัต (ทายาท) ของฉัน ซึ่งทั้งสองจะไม่แยกออกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ ดังนั้น จงพิจารณาเถิดว่า หลังจากฉันพวกท่านขัดแย้งกับทั้งสองได้อย่างไร”

 

การที่ชีอะฮ์ยึดมั่นต่อฮะดีษของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) เป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของความรู้ ไม่ได้หมายความว่า ฮะดีษของอะฮ์ลุลบัยต์นั้นเป็นเอกเทศจากฮะดีษของท่านศาสดา(ศ็อล) ทว่าเป็นการอธิบายซุนนะฮ์ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)  อีกครั้งหนึ่ง


และด้วยเหตุนี้ ชีอะฮ์จึงยึดมั่นและบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ก็จะไม่กล่าวสิ่งใดออกมา บนพื้นฐานของอำนาจใฝ่ต่ำ หรืออารมณ์ของตนเอง แต่ทุกสิ่งที่ท่านกล่าวล้วนเป็นซุนนะฮ์ของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ทั้งสิ้น และเพื่อพิสูจน์คำพูดของอะฮ์ลุลบัยต์ จะขอกล่าวฮะดีษต่อไปนี้

 

อิมามศอดิก(อ)ได้ตอบคำถามชายคนหนึ่งที่ถามท่าน โดยท่านตอบว่า

 

سَأَلَ رَجُلٌ أَبَا عَبْدِ اللَّهِ عَنْ مَسْأَلَةٍ فَأَجَابَهُ فِيهَا فَقَالَ الرَّجُلُ إِنْ كَانَ كَذَا وَ كَذَا مَا كَانَ‌ الْقَوْلُ فِيهَا فَقَالَ لَهُ مَهْمَا أَجَبْتُكَ فِيهِ لِشَيْ‌ءٍ فَهُوَ عَنْ رَسُولِ اللَّهِ لَسْنَا نَقُولُ بِرَأْيِنَا مِنْ شَيْ‌ءٍ
 

“ทุกคำตอบที่ฉันตอบท่าน ล้วนมาจากท่านศาสดาทั้งสิ้น พวกเราจะไม่พูดสิ่งใดตามทัศนะของเรา”

 

ท่านอิมามศอดิก (อ) ได้กล่าวไว้อีกว่า


عَلِيُّ بْنُ مُحَمَّدٍ عَنْ سَهْلِ بْنِ زِيَادٍ عَنْ أَحْمَدَ بْنِ مُحَمَّدٍ عَنْ عُمَرَ بْنِ عَبْدِ اَلْعَزِيزِ عَنْ هِشَامِ بْنِ سَالِمٍ وَ حَمَّادِ بْنِ عُثْمَانَ وَ غَيْرِهِ قَالُوا سَمِعْنَا أَبَا عَبْدِ اَللَّهِ عَلَيْهِ اَلسَّلاَمُ يَقُولُ: حَدِيثِي حَدِيثُ أَبِي وَ حَدِيثُ أَبِي حَدِيثُ جَدِّي وَ حَدِيثُ جَدِّي حَدِيثُ اَلْحُسَيْنِ وَ حَدِيثُ اَلْحُسَيْنِ حَدِيثُ اَلْحَسَنِ وَ حَدِيثُ اَلْحَسَنِ حَدِيثُ أَمِيرِ اَلْمُؤْمِنِينَ عَلَيْهِ اَلسَّلاَمُ وَ حَدِيثُ أَمِيرِ اَلْمُؤْمِنِينَ حَدِيثُ رَسُولِ اَللَّهِ صَلَّى اَللَّهُ عَلَيْهِ وَ آلِهِ وَ حَدِيثُ رَسُولِ اَللَّهِ قَوْلُ اَللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ

 

“คำพูดของฉัน คือ คำพูดของบิดาฉัน (อิมามบากิร) คำพูดของบิดาฉัน คือคำพูดของปู่ฉัน (อิมามซัยนุลอาบิดีน) คำพูดของปู่ฉัน คือ คำพูดของอิมามฮุเซน คำพูดของอิมามฮุเซน คือ คำพูดของอิมามฮะซัน คำพูดของ อิมามฮะซัน คือ คำพูดของอิมามอะลี คำพูดของอิมามอะลี คือ คำพูดของท่านศาสดา คำพูดของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คือ พระดำรัสของอัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกร”

 

ฉะนั้น ฮะดีษทุกบทที่สืบสายรายงานไปถึงอิมามท่านใด แน่นอนว่าความสิ้นสุดของฮะดีษ ก็คือ คำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)

 

บทความโดย เอกภาพ ชัยศิริ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม