เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชีวประวัติอิมามมูซา อัลกาซิม พอสังเขป

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ชีวประวัติอิมามมูซา อัลกาซิม พอสังเขป

 

อิมามมูซา อัลกาซิม (อ.) คืออิมามท่านที่ 7 ชื่อของท่านคือ "มูซา" ฉายานามของท่านคือ "อัลกาซิม"

 

อิมาม มูซา อัลกาซิม (อ.) ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เดือนซอฟัร ฮ.ศ.128 ที่อัล อับวาอ์ ซึ่งอยู่ชานเมืองมะดีนะฮ์ บิดาของทานคือ อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ผู้เป็นอิมามที่ 6 จากบรรดาอิมามแห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) มาดาของท่านคือ ฮะมีดะฮ์ นางเป็นสตรีที่มีคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ทางด้านมารยาทและคุณสมบัติ อิมามซอดิก (อ.) ได้เคยกล่าวถึงนางว่า ฮะมีดะฮ์เป็นหญิงที่สะอาดบริสุทธิ์ปานประหนึ่งทองคำแท้

อิมามมูซา อัลกาซิม (อ.) เจริญวัยมาในอ้อมกอดของบิดา ซึ่งได้ฝึกมารยาทให้กับท่าน ดังนั้นท่านจึงได้รับการฝึกฝนทางด้านมารยาทย่างดีงามที่สุดคนทั้งหลายต่างเรียกชื่อท่านในหลายฉายานาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติทางด้านจริยธรรมของท่านทั้งสิ้น เช่น ซอบิร (ผู้อดทน) อับดุซซอลิฮ์ (บ่าวของพระองค์ผู้ทรงคุณธรรม) อัลอะมีน (ผู้ซื่อสัตย์) แต่ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดคือ ฉายานาม อัลกาซิม เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้น

อิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบิดาของท่าน 20 ปี มีชีวิตอยู่ภายหลังจากบิดาอีก 34 ปี และครึ่งของอายุท่านต้องถูกจองจำอยู่ในคุก ในฐานะผู้ได้รับความอยุติธรรม ท่านเป็นคนมีรูปร่างสันทัดผิวเข้ม เคราดก อันเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาศาสดา

 

อิมามกาซิม (อ.) กับการทำงาน

 

อิมามกาซิม (อ.) เป็นคนที่รักการงาน ท่านมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งซึ่งท่านได้เพราะปลูก วันหนึ่ง อะลีสหายคนหนึ่งของท่านเดินผ่านมา อิมามกาซิม (อ.) กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการทำงานจนเหงื่อเปียกโชก อะลีจึงเอ่ยถามขึ้นว่า ฉันได้ถูกกำหนดมาเพื่อรับใช้ท่าน คนงานไปไหนกันหมดไม่มีใครทำงานให้ท่านสักคนเลยหรือ

 

อิมามกาซิม (อ.) พูดพลางปาดเหงื่อที่คิ้วว่า โอ้ อะลี คนที่ดีกว่าฉันและดีกว่าบิดาของฉันก็ยังทำงานด้วยมือของตัวเอง อะลี ถามด้วยความอยากรู้ว่า เขาผู้นั้นเป็นใคร กาซิม (อ.) ตอบว่า ท่านศาสดา (ศ.) และอมีรุลมุอ์มินีน(อ.) และบรรพบุรุษของฉันทุกคนนั่นอย่างไรเล่า ทุกคนล้วนทำงานด้วยมือของตัวเอง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งจากหน้าที่ของบรรดาศาสดาและ ศาสนทูต บรรดาทายาทของศาสดาและกัลยาณชนทั้งหลาย

 

เรื่องเล่าสอนใจจากท่านอิมาม

 

วันหนึ่ง อิมามกาซิม (อ.) เดินอยู่ที่ อัล อัซเกาะฮ์ ท่านได้ยินเสียงเพลงตลกขบขันดังเล็ดรอดออกมาจากบ้านหลังหนึ่ง ในขณะนั้นเองมีเด็กสาวคนหนึ่งออกมา อิมามจึงหยุดเดินและให้สลามแก่นางแล้วถามว่า เจ้าของบ้านเป็นอิสระชนหรือว่าเป็นทาสหญิงสาวคนนั้นตอบด้วยความประหลาดใจว่า เขาก็เป็นอิสระชนนะซิ

 

อิมามจึงกล่าวต่อไปว่า เธอพูดถูกแล้ว เพราะถ้าหากเขาเป็นทาสเขาจะต้องกลัวนายของเขาแน่ เมื่อหญิงสาวคนนั้นเดินกลับเข้าไปในบ้าน เจ้าของบ้านซึ่งมีชื่อว่า บะซัร จึงถามนางถึงเหตุผมที่นางล่าช้านัก นางตอบว่า มีชาย คนหนึ่ง ผ่านมา แล้วเขาถามฉันว่า เจ้าของบ้านเป็นอิสระชนหรือว่าเป็นทาส

บะซัร จึงถามต่อไปว่า แล้วเธอตอบเขาไปอย่างไรหญิงสาวคนนั้นตอบว่า ฉันก็ตอบเขาไปว่า เป็นอิสระชน แล้วเขาก็บอกฉันว่า เธอพูดถูกแล้ว เพราะถ้าหากเขาเป็นทาส เขาจะต้องกลัวนายของเขาแน่

บะซัร ก้มหน้าอย่างคนใช้ความคิด เขารู้สึกว่าถ้อยคำนี้กระทบกระเทือนจิตในในส่วนลึกของเขาเสียจริง ๆ ดังนั้นเขาจึงเดินตามหลัง อิมามกาซิม (อ.) ไปอย่างกระชั้นชิด แล้วประกาศขอกลับตัว และเป็นผู้ศรัทธาอยู่ในกรอบของศาสนา นับตั้งแต่วันนั้นมา บะซัร จึงได้รับสมญานามว่า บะซัร อัลฮาฟีย์ บะซัร ผู้ใกล้ชิด เขาเป็นคนมีชื่อเสียงในหมู่ประชาชน ถึงความสมถะเละความเพียรในการเคารพภักดี

 

ความสมถะของ อิมามกาซิม (อ.)

 

อิมามกาซิม (อ.) เป็นแบบอย่างในด้านความสมถะและความเพียรในการเคารพภักดี ท่านจะกราบกรานต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นเวลานานๆ ด้วยความซาบซึ้งถึงความหมายแห่งการเคารพภักดีต่อผู้สร้างผู้ทรงอำนาจสูงสุด

ในเวลาที่คนเราเคารพภักดีต่อพระผู้อภิบาลของตน เขาจะรู้สึกว่าตนเองเต็มไปด้วยอิสรภาพ เขาจะไม่เกรงกลัวสิ่งใด และไม่หวาดหวั่นต่อสิ่งใดนอกจาก พระองค์มหาบริสุทธิ์ยิ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นถึงความเด็ดเดี่ยวของ อิมามกาซิม (อ.) ในการต่อสู้กับความอธรรม กล่าวคือท่านจะไม่เกรงกลัวต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ แม้ว่าจะถูกขังคุกด้วยความไม่เป็นธรรมก็ตาม ยิ่งกว่านั้นอิมามกาซิม (อ.) ยังขอบพระคุณต่อพระองค์เสียอีกที่ต้องถูกขังคุก เพราะถือว่านี่คือความโปรดปรนอย่างหนึ่งเ พราะท่านจะได้ใช้เวลาในการเคารพภักดีต่อพระองค์ได้อย่างเต็มที่

แน่นอน ท่าทีของ อิมามกาซิม (อ.) ได้สร้างความงุนงงให้กับบรรดาศัตรู ผู้คุมขังบางคนถึงกับร้องไห้ต่อหน้าอิมาม และขออภัยโทษต่อท่าน

ความหิวโหย การถูกพันธนาการ อีกทั้งความอธรรมในคุกไม่มีผลตามเป้าหมายของผู้ประสงค์ร้ายต่ออิมามกาซิม (อ.) แต่ประการใด คอลีฟะฮ์ฮารูน อัร รอชีด พยายามทุกวิถีทางเพื่อต้องการจะเห็น อิมามกาซิม (อ.) ยอมจำนน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ส่งสตรีรูปงานนางหนึ่งเข้าไปหาท่าน เพื่อยั่วยวน อิมามกาซิม (อ.) ให้หลงเสน่ห์ แต่แล้วนางต้องกลับมาในสภาพของคนถูกอบรมสั่งสอนโดยวิญญาณแห่งคุณธรรมของอิสลาม กล่าวคือนางเลิกประพฤติตัวในทางที่เหลวไหล และลุ่มหลงมัวเมาสนใจแต่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ

การปกครองในสมัยของฮารูน อัร รอชีด ได้กดขี่ข่มเหงอยุตธรรม และล่วงละเมิดต่อชีวิตและสิทธิของครอบครัวผู้บริสุทธิ์ ผู้คนต่างใช้ชีวิตอยู่ด้วยการถูกกดขี่อย่างอัปยศอดสู และถูกริดรอนสิทธิในขณะที่เขาและบรรดาบริวารต่างใช้ชีวิตเสวยสุขประดุจชีวิตในเทพนิยาย

คุกมืดเต็มไปด้วยบรรดาผู้ถูกกลั่นแกล้งและผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในปราสาทอันวิจิตรตามจินตนาการ ด้วยเหตุนี้ อิมามกาซิม (อ.) จึงต่อต้านอย่างรุนแรงต่อฮารูน อัร รอซีด โดยสั่งห้ามผู้ดำเนินตามท่านสนับสนุนการปกครองของเขา เพราะเขาประพฤติตัวโน้มไปในความอยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา

 

วันหนึ่งอิมามกาซิม (อ.) ได้กล่าวแก่ซ็อฟวาน เจ้าของอูฐในฐานะเป็นสหายคนหนึ่งของท่านว่า ทุกอย่างในตัวเธอถือว่าดีงามทั้งหมดถ้าหากเธอไม่ยอมให้ฮารูน อัรรอซีด เช่าอูฐ ซ็อฟวาน ตอบว่า ฉันจะไม่ให้เขาเช่าอูฐหรอก เว้นแต่เมื่อเขาต้องการจะไปทำฮัจญฺ

 

อิมาม "เธอต้องการให้เขากลับมาอย่างปลอดภัย เพื่อเขาจะได้มอบค่าเช่าให้แก่เธอใช่หรือไม่"

ซ็อฟวาน ตอบว่า "ใช่ขอรับ"

อิมาม "ผู้ใดชอบการมีชีวิตอยู่ของบรรดาผู้อยุติธรรม เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้น"

 

ซ็อฟวานเมื่อได้ยินเช่นนั้น จึงขายอูฐของเขาทั้งหมดเพื่อว่าเขาจะไม่ต้องมีความลำบากใจใจการให้เช่าอูฐแก่ฮารูน อัรรอชีดอีกต่อไป เมื่อฮารูน ทราบข่าวก็เข้าใจทันทีว่า ที่ซ็อฟวานขายอูฐไป ก็เพราะเขาเชื่อฟังคำพูดของอิมามกาซิม (อ.) นั่นเอง จึงคิดจะสังหารเขาแต่ก็ได้เปลี่ยนใจใจภายหลัง โดยเก็บความเแค้นที่มีต่ออิมามกาซิม (อ.) ไว้ในใจ

 

จุดยืนของท่านอิมามกาซิม (อ.) ก็คือ ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือผู้อธรรมแต่ก็ยังยินยอมให้สหายบางคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ ภายใต้การปกครองของฮารูนได้ เพื่อลดความอธรรมและการกดขี่ลงไปบ้าง และเพื่อที่จะได้มอบความช่วยเหลือบางอย่างให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น อะลี บุตรของยักฎีน ซึ่งมีคำแหน่งเป็นเสนาบดี ก็เป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของท่านอิมามกาซิม (อ.) แต่เขาได้ปิดบังเรื่องนี้เอาไว้ อารูน รอชีด จะสอดส่องดูพฤติกรรมของเสนาบดีผุ้นี้อย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่พบพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงว่า อะลี บุตรของยักฎีน เป็นพรรคพวกของอิมามกาซิม (อ.)

 

ฮารูน ถือว่าอิมามกาซิม (อ.) เป็นบุคคลอันตรายที่คุกคามอำนาจการปกครองของตน เขาจึงพยายามถามคำถามที่ทิ่มแทงเพื่อที่จะให้อิมาม (อ.) แสดงความอ่อนแอและไร้ความสามารถออกมาให้ปรากฏ

 

วันหนึ่งฮารูนจึงตั้งคำถามกับท่านอิมามมูซา (อ.) ขึ้นว่า "บอกฉันมาซิว่าทำไมพวกท่านจึงมีเกียรติเหนือพวกเรา ในขณะที่เรากับพวกท่านก็มาจากต้นไม้ต้นเดียวกัน เราเป็นลูกของอับบาส ส่วนท่านเป็นลูกของอบูฎอลิบ และทั้งสองคนต่างก็เป็นลุงของท่านศาสดา (ศ.)"

 

ท่านอิมามกาซิม (อ.) จึงตอบไปว่า "พวกเราใกล้ชิดกับท่านศาสนทูตมากว่า เพราะอับดุลลอฮฺ (บิดาของท่านนบี) กับอบูฎอลิบเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาคนเดียวกัน ส่วนอับบาสมิได้เกิดจากมารดาของอับดุลลอฮ์"

ฮารูนจึงถามอีกคำถามหนึ่งว่า "ทำไมคนทั้งหลายจึงเรียกพวกท่านว่า ลูกหลานของท่านศาสดา ในขณะที่เป็นตาทวดของพวกท่าน และบิดาของท่านก็คืออะลี"

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า "โอ้ ฮารูนเอ๋ย ถ้าหากท่านศาสดาฟื้นชีพขึ้นมาแล้วสู่ขอบุตรีของท่าน ท่านจะยอมจัดงานสมรสให้หรือไม่"

   ฮารูน "แน่นอน และฉันจะถือเอาเรื่องนี้เพื่อเอาไว้อวดทั้งกับชาวอาหรับและที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ"

   อิมาม (อ.) "แต่ทว่าสำหรับพวกเรา ท่านศาสทูตแห่งอัลลอฮ์จะมาสู่ขอพวกเราไม่ได้ และเราจะจัดการแต่งงานพวกนางให้กับท่านไม่ได้"

   ฮารูน "มีเหตุผลอันใดหรือ"

   อิมาม (อ.) "เพราะว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดพวกเรา แต่มิได้ให้กำเนิดท่าน"

 

 ขอขอบคุณเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์อะคาเดมี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม