บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 1

บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 1

 


นมาซ หมายถึง การนมัสการพระเจ้า อันเป็นศาสนกิจอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับเรียกว่า ศอลาต ภาษาฟารซี อุรดู ฯลฯ เรียกว่า นมาซ คนไทยเรียก นมาซหรือละหมาด


หากว่าในชีวิตเรามีใครสักคนที่เราคิดว่าสนิทสนมกันมาก ประเภทที่ว่าอยู่กับเราทุกวัน โตมาด้วยกัน กินนอนด้วยกัน เห็นกันมาตลอด เราเคยคิดไหมว่า เรารู้จักเขาดีแค่ไหน รู้จักดีพอรึยัง เรารู้คุณค่าที่เขามีแค่ไหน หรือมั่นใจในการรู้จักจากความเคยชินแค่เพียงเท่านั้น ? ......


การนมาซก็เช่นเดียวกัน หากเรามองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกผิวเผินโดยส่วนใหญ่วิธีการปฏิบัติ ลำดับขั้นตอน จำนวนครั้ง ของแต่ละคนไม่ต่างกัน เพราะทุกคนถูกสอนมาตั้งแต่ช่วงอายุถึงวัยที่ทำนมาซได้ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ภายในใจของแต่ละคนในช่วงเวลาของการทำนมาซ บางคนนมาซของเขาท่องอยู่บนฟากฟ้า มองไม่เห็นสิ่งใด ไม่ได้ยินสิ่งใด มุ่งไปสู่เพียงความใกล้ชิดยังพระองค์ บางคนขณะที่ยืนนมาซแต่ใจยังล่องลอยคิดถึงเรื่องอื่น เช่น ของหายยังหาไม่เจอ กับข้าววันนี้มีอะไร? พรุ่งนี้จะไปไหน? บางคนเร่งรีบในการทำนมาซ ก้มรูกัวะอ์ หรือก้มสุญูด ขึ้นลงเร็วชนิดปากอ่านตัวบทในอัลกุรอานแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว บางคนเมื่อเข้าสู่เวลาก็อิดออดขอเลื่อนไปก่อนจนใกล้จะหมดเวลา นาทีแทบจะสุดท้าย การทำนมาซก็จะกลายเป็นแบบที่กล่าวไปข้างต้น คือทำไปแบบเร่งรีบ ทำไปแบบให้รู้ว่าทำแล้ว ไม่ได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนมาซ


แต่หากว่าเรารู้จักการนมาซให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการรู้จักความหมาย รู้จักเป้าหมาย รู้จักเป้าประสงค์ของการนมาซอย่างถ่องแท้ เราจะรู้ว่าทุกอย่างทุกขั้นตอนของการนมาซนั้นมีนัยยะที่สำคัญซ่อนอยู่ ถ้าหากเราเข้าถึงการนมาซได้อย่างถูกต้อง แท้จริง ประตูสู่ชั้นฟ้าก็จะถูกเปิดออก นั่นหมายความว่าเราสามารถปลดล็อคเข้าไปพบกับขุมทรัพย์อันมหาศาลได้ เราเองก็สามารถขึ้นเมียะฮ์รอจ์(โบยบินสู่ฟากฟ้าแห่งจิตวิญญาณ-นมาซคือการขึ้นสู่เมียะฮ์รอจ์ของผู้ศรัทธา ดังคำกล่าวที่ถูกรู้จักกันดีในหมู่อาริฟ)ได้เช่นเดียวกัน และหากจะกล่าวถึงในบรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริงแล้วเราไม่สามารถที่จะตัดพวกเขาออกจากการนมาซได้ เราไม่สามารถตัดความนอบน้อมของพวกเขาที่มีต่อการนมาซได้เลย ผู้ศรัทธาที่แท้จริงจะเฝ้ารอเสียงอาซานเชิญชวนเพื่อรอเวลาที่จะได้เข้าเฝ้าและได้ใกล้ชิดกับพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง

 

การนมาซ คือ รหัสลับของเรา แม้กระทั่งเวลาที่เราลำบากที่สุด อัลกุรอานให้เราขอความช่วยเหลือจากความอดทนอดกลั้นและการนมาซ (ตัวอย่างของการขอความช่วยเหลือในด้านวิชาการความรู้ แม้แต่นักปราชญ์อิสลามผู้มีสติปัญญาเฉียบคมเป็นที่ยอมรับของโลกนักวิชาการในด้านศาสตร์แขนงต่างๆอย่าง อะบูอาลี อัลฮูซัยน์ บินอับดิลลาฮ์ อิบนุซีนา หรือ เอวิเซนนา(ค.ศ.980 - ค.ศ.1037) เมื่อเกิดปัญหาที่ยังค้นหาคำตอบไม่ได้ยังต้องใช้การนมาซเป็นการปูทางไปสู่การหาคำตอบ และทุกครั้งหลังการนมาซ เขาจะได้รับคำตอบ) การนมาซที่เรารู้จักมาทั้งชีวิต อาจเป็นแค่การรู้จักแต่เพียงเปลือกนอกผิวเผิน ซึ่งแท้จริงแล้วการนมาซยังมีนัยยะต่างๆซ่อนอยู่อีกมากมาย แค่รู้จัก แต่ไม่รู้คุณค่า ยังไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง

 


โปรดติดตามตอนต่อไป

 

เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ

บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี