บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 2

บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 2

 

นมาซหลักปฏิบัติที่เหนือกว่าหลักปฏิบัติทั้งปวง

 

        หากเรามองแค่เพียงเปลือกนอกในเรื่องของการนมาซ ที่หลายคนอธิบายว่า เป็นบทบัญญัติที่ให้มุสลิมทุกคนปฏิบัติทุกวัน วันละ 5 เวลา ซึ่งเราทุกคนต่างรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่หากว่าเราลงลึกไปในรายละเอียดการนมาซ ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักปฏิบัติที่ต้องกระทำเมื่อถึงช่วงวัย โดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่สามารถอนุโลมได้ ( เฉพาะช่วงเวลาที่สตรีมีรอบเดือนที่ไม่ต้องปฏิบัติ เนื่องด้วยเหตุผลด้านความสะอาดของร่างกาย) ซึ่งต่างจากหลักปฏิบัติที่เป็นข้อกำหนดอื่นๆ เช่น ในเดือนรอมฏอน หากว่าเราป่วยไข้ไม่สามารถถือศีลอดได้ หรือถ้าถือศีลอดแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกายก็ไม่เป็นข้อบังคับ โดยมีข้อกำหนดให้ชดใช้ หากทำไม่ได้อีกก็ให้ชดใช้ในรูปแบบอื่นแทน หรือ การไปทำพิธีฮัจญ์ แม้จะเป็นบทบัญญัติที่ครั้งหนึ่งต้องไปถ้ามีความสามารถ แต่หากว่าเราไม่มีความสามารถเดินทางไปได้ก็ไม่เป็นข้อบังคับ ซึ่งต่างจากการนมาซที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องปฏิบัติ หากว่ายืนทำไม่ได้ก็นั่งทำ  หากว่านั่งทำไม่ได้ก็ต้องนอน โดยไม่มีข้อยกเว้นตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

 

     กล่าวได้ว่า การนมาซเป็นหลักปฏิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  เป็นหลักปฏิบัติที่อยู่เหนือหลักปฏิบัติทั้งปวง  ในฮะดีษหนึ่งได้บ่งบอกถึงความสำคัญของการนมาซเอาไว้ว่า “นมาซคือเสาหลักของศาสนา”  เปรียบเสมือนกระโจมที่ไม่สามารถตั้งโครงสร้างอยู่ได้หากขาดเสากลาง  และหากนมาซถูกตอบรับ การกระทำทุกๆอย่างก็จะถูกตอบรับและหากนมาซถูกปฏิเสธ การกระทำทุกๆอย่างก็จะถูกปฏิเสธไปด้วย  นักปราชญ์อิสลามได้กล่าวไว้ว่า หากในชีวิตหนึ่ง เราสามารถทำให้นมาซของเราถูกตอบรับแค่เพียง 2 ร่อกาอัต ก็เป็นสิ่งที่สูงส่งและมีคุณค่ายิ่งใหญ่มหาศาลสำหรับเจ้าของนมาซนั้น   ในซูเราะฮ์ อังกะบูต : 45 ได้กล่าวถึงความสำคัญของการนมาซไว้ ซึ่งแปลความได้ว่า “จงดำรงไว้ซึ่งการนมาซ เพราะแท้จริงการนมาซสามารถยับยั้งการกระทำลามกและความชั่ว การรำลึกถึงอัลลอฮ์นั้นยิ่งใหญ่มาก และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” แสดงให้เห็นว่า หากใครที่สามารถเข้าถึงการนมาซได้อย่างแทัจริง หูของเขาจะไม่รับฟังสิ่งที่ไม่ดี  ตาของเขาจะไม่มองสิ่งลามก ปากของเขาจะไม่นินทา ใส่ร้ายและโกหก เท้าของเขาจะไม่เหยียบย่ำไปในที่ๆชั่วร้าย คือบาปทั้งหมดจะถูกระงับยับยั้ง เมื่อพ้นจากบาปก็สามารถพัฒนาจิตวิญญาณไปอีกระดับขั้นเพื่อให้ใกล้ชิดยังพระองค์มากขึ้น

 

             บางคนเมื่อถึงเวลานมาซ ลุกขึ้นวูฎูอ์ชำระล้างร่างกายก็แล้ว ยืนหันหน้าไปทางกิบละฮ์ก็แล้ว ตั้งเจตนาเนียตก็แล้ว  กล่าวตักบีร อัลลอฮุอักบัรก็แล้ว  แต่ใจยังล่องลอยคิดไปถึงเรื่องอื่นๆ  หรือหากใครคุยอยู่ใกล้ๆก็ได้ยินและสามารถเข้าไปร่วมวงคุยต่อได้เลยหลังนมาซ  เท่ากับว่าการนมาซนั้นเป็นแค่การนมาซทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของการนมาซ หรือไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้ามีความสำคัญและมีคุณประโยชน์ต่อเรามากแค่ไหน ยืนอยู่ต่อหน้าใคร  เราสามารถเรียนรู้ความต่างของการให้ความสำคัญของการนมาซ ระหว่างนมาซที่โบยบินอยู่บนฟากฟ้า กับ นมาซแค่ทางกายภาพ ได้อย่างชัดแจ้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบรรดาอิมาม เช่น เหตุการณ์ที่อิมามอะลี โดนดอกธนูปักอยู่ที่ขา และบรรดาคนใกล้ชิดก็ปรึกษากันว่าควรทำเช่นไร จนตกผลึกในที่สุดว่าให้เลือกเวลาที่อิมามทำนมาซแล้วค่อยดึงดอกธนูออก เนื่องจากเวลานั้นเป็นเวลาที่อิมามมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนมาซจนไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด  ในยุคอิมามฮะซัน ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ว่า หากวันใดที่ได้เห็นอิมามแต่งตัวดี สะอาดสะอ้าน หล่อเหลาเหมือนเจ้าบ่าว ก็มั่นใจได้เลยว่าอิมามต้องไปมัสยิดเพื่อทำการนมาซ เพราะรู้ว่าจะต้องไปเข้าเฝ้าต่อผู้ใด  ในสมรภูมิกัรบาลาก็เช่นกัน แม้อิมามฮุเซนจะอยู่ในสมรภูมิรบและสถานการณ์สงคราม ยังต้องหยุดพักเพื่อทำนมาซ  แม้ว่าการต่อสู้ในหนทางของพระองค์(ญิฮาด)นั้นคือที่สุดแล้ว แต่อิมามฮุเซนก็ไม่เคยละทิ้งการนมาซ

 

            เหตุข้างต้นที่กล่าวมานี้บอกอะไรกับเราเกี่ยวกับเรื่องการนมาซ ตั้งแต่ความพิเศษของหลักปฏิบัติที่ไม่มีข้อยกเว้นเหมือนหลักปฏิบัติอื่นๆ  อนุมานได้ว่าทุกอิริยาบถของการทำนมาซซ่อนรหัสที่เปรียบเสมือนกุญแจแต่ละดอกที่จะพาเราค่อยๆพัฒนาจิตวิญญาณขึ้นไปทีละขั้น จนในที่สุดการนมาซที่เข้าถึงแก่นแท้ จะช่วยพาเราให้เข้าใกล้ยังความเมตตาของพระองค์ เมื่อนั้นเสียงเรียกร้องของเราจะถูกตอบรับ  ประตูสู่ชั้นฟ้าก็จะถูกเปิดออก และเราก็จะสามารถโบยบินขึ้นสู่เมียะฮ์รอจ์ได้เช่นกัน

 

 

โปรดติดตามตอนต่อไป


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ
บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี