เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การอภัยโทษต่อพระเจ้า (เตาบะฮ์) ตอนที่ 1

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การอภัยโทษต่อพระเจ้า (เตาบะฮ์) ตอนที่ 1

 

อะไรคือบาป ปัจจัย ผลข้างเคียงและทางรอด!

 

"บาป" เป็นคำสอนหลักที่มีอยู่ในทุกศาสนา มีความเป็นสากล เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย เป็นสิ่งที่จะพามนุษย์ไปสู่ความมืดมน มีความเหมือนและความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น การลักขโมย การผิดประเวณี การอกตัญญูต่อบุพการี การโกหก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม ในศาสนาพุทธบาปหมายถึงความชั่วร้ายได้แก่ อกุศลกรรมทั้งหลายมี 10 ประการ หรือที่รับรู้กันทั่วไปก็คือการละเมิดต่อศีลห้าถือว่าเป็นบาป(รายละเอียดศึกษาได้จากคำสอนในศาสนาพุทธ) ในศาสนาคริสต์ให้ความสำคัญกับเรื่องบาปเป็นอย่างมาก มีตั่งแต่เรื่องบาปกำเนิด แต่โดยสรุปบาปคือ ความคิด,ความรู้สึกหรือการกระทำที่ขัดกับมาตรฐานของพระเจ้า รวมถึงการฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า โดยทำสิ่งที่ผิดหรือไม่ถูกต้องในสายตาของพระองค์(ศึกษารายละเอียดได้จากคำสอนของศาสนาคริสต์)

 

ในศาสนาอิสลาม บาปคือการกระทำที่ละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งและความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า หมายถึงการไม่เห็นผู้เป็นนายอยู่ในสายตา ปราศจากความเกรงกลัวต่อพระองค์ จนเป็นเหตุทำให้บรรดาชัยฏอนและนัฟซูเข้าครอบงำและชักนำพาไปสู่การทำบาป ซึ่งบาปต่างๆได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องบาปในอิสลามสามารถศึกษาได้จากข้อมูลทั่วไปซึ่งเราจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อนี้แต่จะอธิบายในเหตุ-ปัจจัย ผลข้างเคียงและทางรอด ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและศรัทธา

 

บาปเกิดขึ้นเพราะอะไร? ในการที่คนๆหนึ่งได้ละเมิดฝ่าฝืนต่อคำสั่งของพระองค์ ได้ทำบาป นอกจากจะมีแรงยั่วยุด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำหรือแรงปรารถนาด้านมืด อาจมีปัจจัยอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่สามารถสรุปอย่างคร่าวๆได้ดังนี้คือ


1. ความอ่อนแอของอีหม่าน(ศรัทธา) ส่วนใหญ่ของการละเมิดฝ่าฝืนในบทบัญญัติของพระองค์ ก็เนื่องด้วยความอ่อนแอของความเชื่อและศรัทธา ผู้ที่มีศรัทธาอย่างมั่นคงจะพลาดพลั้งต่อการทำบาปได้ยาก เพราะเชื่อว่าพระองค์ทรงเห็นการกระทำต่างๆของเขา มียางอายต่อหน้าพระองค์ อีกทั้งเชื่อในการตอบแทนตัดสิน


2. ความโง่เขลา หลายต่อหลายครั้งเราทำได้ทำบางสิ่งด้วยกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ถึงผลร้ายที่แท้จริงของมัน การทำบาปก็เช่นกัน อาจลิ้มรสความสุขกับมันบ้างแต่มีผลร้ายที่จะตามมาอย่างแน่นอน


3. การหลับใหล เป็นหนึ่งของปัจจัยในการทำบาป เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ยังไม่ตื่นขึ้นจากการหลับใหลก็ยังไม่เห็นถึงภัยร้ายของบาป ซึ่งผลของมันจะทำให้หัวใจมืดบอด และที่หนักไปกว่านั้นอาจทำให้มนุษย์เลวร้ายยิ่งกว่าเดรัจฉานอีกด้วย

 

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการทำบาป คือความหยาบกระด้างของหัวใจ,ขาดการลิ้มรสชาติในการทำอิบาดะฮ์, ดุอาอ์ไม่ถูกตอบรับ, เป็นเหตุขวางกั้นเนี้ยะมัตอีกทั้งเสี่ยงต่อบะลาอ์ที่จะเกิดขึ้น และที่หนักที่สุดก็คือทำให้หัวใจตายด้าน ไม่รับรู้ความรู้สึกทางด้านจิตวิญญาน หากเราไม่เคยได้ลิ้มรสในการดุอาอ์และไม่เคยดื่มด่ำกับการนมาซ หากการอิบาดะฮ์ของเราไม่หวานชื่น หากการอิบาดะฮ์ของเราเป็นเหมือนการทรมานตัวเอง หากการอ่านกุรอานของเราเต็มไปด้วยความขี้เกียจ นั่นก็เพราะหัวใจของเราหยาบกระด้างจากการละเมิดฝ่าฝืนและการทำบาป เมื่อเป็นเช่นนั้นทางแก้ของมันก็คือการเตาบะฮ์ การกลับตัวกลับใจ ซึ่งถือเป็นความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ เมื่อผิดพลาดไปแล้วก็กลับมาแก้ตัวใหม่โดยต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ พระองค์ทรงให้โอกาสแก่ผู้ที่กลับตัวกลับใจ,พระองค์ไม่เคยขับไล่ปวงบ่าว,ประตูบ้านของพระองค์เปิดต้อนรับอยู่เสมอและพระองค์ย่อมไม่ทอดทิ้งบ่าวของพระองค์ ฉะนั้นจงอย่าหมดหวังจากความเมตตาของพระองค์

 

ส่วนทางรอดสำหรับผู้ที่ได้กระทำบาป คือตื่นรู้พร้อมกับเตาบะฮ์ แล้วการเตาบะฮ์คืออะไร? การเตาบะฮ์คือการกลับ คือภายหลังจากที่ได้เดินหลงทางหรือหันเหออกจากแนวทางของพระองค์ด้วยกับการละเมิดและฝ่าฝืน เดินกลับมาเพื่อชำระล้างความผิดบาปและสิ่งสกปรกที่โสมมที่พาเราหลงทาง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่หลงผิดหรือการกระทำต่างๆที่ทำให้เราออกห่างจากพระองค์ ต้องสำนึกผิดและขออภัยโทษจากพระองค์ ต้องตระหนักด้วยว่าสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้เราเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงต่อพระองค์ก็คือการทำบาป เพราะถ้าใครก็ตามที่สำนึกผิดอีกทั้งกลับตัวกลับใจ เขาจะเป็นผู้ที่พระองค์ทรงรัก "แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้ที่กลับตัวกลับใจ"(ซูเราะฮ์บะกอเราะฮ์ /222) นอกจากนั้นถ้าเขาสำนึกผิดอย่างแท้จริงแล้วกลับตัวกลับใจ ท่านนบีได้กล่าวว่า "เหมือนกับว่าเขามิเคยได้ทำบาปมาเลย"

 

ในเมื่อเรารู้ว่าพระองค์ผู้ทรงเมตตา ทรงเปิดประตูบ้านต้อนรับบ่าวผู้สำนึกผิดให้กลับมาเดินอยู่ในหนทางเสมอ จึงควรใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งใดที่เคยทำผิดพลาดก็ถือโอกาสนี้ในการชำระล้างจิตใจแล้วเริ่มต้นใหม่ เพื่อการพัฒนาตัวเองไปสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์ เมื่อเราได้รับโอกาสที่ดีเช่นนี้จากพระองค์ เราจะไม่รีบฉวยโอกาสที่ดีนี้ไว้เชียวหรือ?

 


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม