เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การอภัยโทษต่อพระเจ้า (เตาบะฮ์) ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


การอภัยโทษต่อพระเจ้า (เตาบะฮ์) ตอนที่ 2

 

อยากรู้ไหมว่า อิมามอะลีพูดถึงการขออภัยโทษต่อพระเจ้าไว้ว่าอย่างไร?


เตาบะฮ์ คือ การกลับตัวกลับใจ เปรียบเสมือนคนที่เดินหลงอยู่กลางทะเลทรายอันมืดมิดในยามค่ำคืนแล้วได้พบเห็นแสงสว่างรำไรจากระยะทางอันไกลโพ้น นั่นคือโอกาสที่พระองค์ทรงหยิบยื่นให้กับเขาก่อน คือพาเขากลับมาก่อน พอเขาตื่นรู้ แล้วทำการเตาบะฮ์ขออภัยโทษต่อพระองค์ค่อยถือเป็นระดับขั้นที่สองของเตาบะฮ์ นับว่าเป็นความเมตตาอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงเตือนสติและให้โอกาสแก่เขา แม้แต่การเตาบะฮ์พระองค์ก็ยังเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้ก่อนด้วยซ้ำ

 

หากเราเปรียบหัวใจของเราเป็นกระดาษสีขาวสะอาดตา เมื่อใดเราก็ตามที่เราทำบาป บนหน้ากระดาษของเราก็จะถูกแต้มด้วยจุดสีดำลงไป ถ้ามันถูกแต้มจนดำไปทั่วทั้งหน้ากระดาษ(ทั้งหัวใจ)แล้ว หมายความว่าที่ตรงนั้นมันได้กลายเป็นที่อยู่ของชัยฏอนไปเรียบร้อยแล้ว มันมืดบอดไปหมด แต่ถ้าหากเขาตื่นขึ้นจากการหลับใหล ตื่นรู้แล้วสำนึกผิด กลับตัวกลับใจได้ พระองค์จะให้อภัยโทษแก่เขา แม้ว่าความผิดที่เขาได้ทำมามันจะยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าบาปจะใหญ่สักเพียงใดก็อย่าหมดหวังจากความเมตตาและการให้อภัยจากพระองค์

 

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ได้กล่าวถึงผู้ที่กลับตัวกลับใจอย่างแท้จริงไว้ว่า"ผู้ที่กลับตัวกลับใจจากการทำบาป เหมือนคนที่ไม่เคยทำบาปมาเลย" คนที่เคยทำผิดแล้วสำนึกผิดอย่างแท้จริงจะกลายเป็นคนที่พระองค์ทรงรัก "แท้จริงพระองค์ทรงรักผู้ที่กลับตัวกลับใจ"(ซูเราะฮ์บะกอเราะฮ์ /222) ยิ่งไปกว่านั้น ความผิดและความชั่วร้ายต่างๆที่เขาเคยทำมาจะถูกลบออกแล้วแทนที่ด้วยกับความดีงาม อัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า" เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว ศรัทธาและประกอบการงานที่ดี เขาเหล่านั้นอัลลอฮ์จะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ"(ซูเราะฮ์ ฟุรกอน/70) บางรายงานกล่าวถึงขั้นให้มาลาอิกะฮ์ที่จดบันทึกลืมบันทึกในสิ่งที่ไม่ดีของเขา ให้ร่างกายและแผ่นดินที่เห็นการกระทำที่ไม่ดีของเขาเก็บเรื่องราวทั้งหมดไว้เป็นความลับ เมื่อเขาผู้นั้นได้สำนึกผิดและเตาบะฮ์อย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้แสดงถึงความเมตตาอันแผ่ไพศาลของพระองค์ที่มีต่อผู้ที่เขากลับตัวกลับใจอย่างแท้จริง


แต่ทว่าการกลับตัวกลับใจและการขออภัยโทษที่แท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น ตามบรรทัดฐานของอิมามอะลี ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวออกมาจากปากเพียงเท่านั้น แต่มันมีเงื่อนไขอยู่6ประการด้วยกัน ท่านได้กล่าวตำหนิ เมื่อได้ยินชายคนหนึ่งพูดว่า "ฉันขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์" พร้อมกับได้แจ้งถึงแก่นแท้ของการขออภัยโทษ ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้จริงค่อยกล่าวคำนี้ออกมา เงื่อนไขหกประการที่ท่านได้สอนสั่งไว้มีดังนี้คือ

 

1 "ต้องสำนึกผิดในสิ่งที่เคยทำ" ตั้งแต่ที่เราโตขึ้นมาเราเคยฝ่าฝืนและละเมิดต่อคำสั่งของพระองค์แค่ไหน? ทำบาปมามากนัอยแค่ไหน? เราควรสำนึกผิดและละอายใจที่สุดอย่างแท้จริง แม้เพียงแค่คิดเรามีความละอายใจในสิ่งที่ทำนั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก


2."ต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำอีกต่อไป" ตั้งแต่วินาทีนี้เราจะไม่ทำอีก ต้องตั้งใจจริง ที่สำคัญแม้จะทำผิดมากมายแค่ไหนก็ตามต้องไม่บอกใครทั้งสิ้นต้องคอยปกปิดด้วยความละอาย บอกสารภาพต่อพระองค์เพียงเท่านั้น


3."ต้องชดใช้แก่ผู้ที่เราเคยละเมิดในสิทธิของเขา" ถ้ามีสิทธิติดค้างใครอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของทรัพย์สินหรือในแง่สิทธิอื่นๆต้องชดใช้ให้หมด ตัวอย่างเช่น ถ้าเคยใส่ร้ายใครก็ต้องแก้ข่าวให้เขาทั้งหมด ต้องไปขอโทษ ไปชดเชย และทดแทนสิทธิของเขาให้ครบถ้วน


4."อะไรก็ตามที่เป็นบทบัญญัติวายิบที่ได้ทำให้สูญเสียไป ตัองชดใช้" คือข้อบังคับใดที่ได้ทำขาดไปต้องชดใช้ เช่น การนมาซ การไปทำฮัจญ์ การจ่ายซะกาต การถือศีลอด ฯลฯ


5."หากกินสิ่งที่เป็นฮารอมไปต้องสลายมันทิ้งไป จนกว่าจะมีส่วนใหม่มาแทนที่" อาหารที่ฮารอมไม่ว่าจะฮารอมด้วยคำสั่งห้าม หรือจากเงินที่ฮารอม ต้องขับอวัยวะที่เพิ่มขึ้นมาบนร่างกายด้วยกับของที่เป็นฮารอม อาจด้วยกับการออกกำลังกายหรือถือศิลอด


6. "ให้ร่างกายลิ้มรสด้วยกับการปฏิบัติในบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด ทดแทนตอนที่มันลิ้มรสความสุขด้วยกับบาป " เสพสุขกับบาปจนหลงลืมพระองค์ ฉะนั้นต้องจัดการกับร่างกายของเรา บังคับทรมานให้ทำความดีทดแทน

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ชี้ให้เห็นว่าการขออภัยโทษต่อพระองค์อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่แค่กล่าวออกมาจากปากเท่านั้น สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องทำการเตาบะฮ์ด้วยหัวใจ สำนึกผิดจริงๆ พร้อมกับตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ย้อนกลับไปทำมันอีก แล้วอย่าทอดเวลาของการเตาบะฮ์ออกไป เพราะมันจะสายเกินไป อีกทั้งเป็นการขาดทุนอย่างย่อยยับ แทนที่เราจะได้อิ่มเอมกับความหวานชื่นจากการที่ได้ใกล้ชิดยังพระองค์ แต่เรากลับมองข้ามและปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านเลยไป สุดท้ายอาจเสียชีวิตก่อนการเตาบะฮ์ หรืออย่าเก็บการเตาบะฮ์ไว้ในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งการเตาบะฮ์นั้นก็หาค่าใดๆไม่ได้ เพราะพระองค์จะไม่รับการเตาบะฮ์นั้น ดังนั้นถ้าตื่นรู้เมื่อไหร่จงรีบไขว่คว้าทันที แล้วอย่าให้โอกาสในการเตาบะฮ์นั้นหลุดลอยไป...

 


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม