เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 11

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 11


เราจะรับมือกับโทสะที่เป็นกุญแจแห่งความชั่วร้ายทั้งมวลได้อย่างไร?

 

บาปใหญ่ของศาสนาหลักที่มีจุดร่วมไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจนคือ เรื่องตัณหาราคะ และโทสะ ศาสนาทั้งหลายมองการกระทำเหล่านี้เป็นบาปอย่างรุนแรง เป็นพลังความรู้สึกด้านลบที่ควรเหยียบและกดไว้ภายในใจมิให้มันสำแดงฤทธิ์ออกมา ซึ่งมีการเน้นย้ำบรรจุคำสอนหรือบรรจุเป็นข้อห้ามไว้ในคัมภีร์ของแต่ละศาสนาไว้อย่างชัดเจน แต่ในมุมมองของศาสนาอิสลามมีมุมมองที่ต่างออกไป คือตัณหาราคะหรือโทสะ มีทั้งด้านบวกและด้านลบ อยู่ที่การนำมาใช้ หากเรารู้จักใชัสติปัญญาควบคุมมัน ใช้มันให้ถูกที่ มิให้มันเกินเลยออกนอกกรอบของความพอดีก็จะส่งผลบวกให้กับเราด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องของตัณหาราคะ หากเราเหยียบกดมันเอาไว้ ไม่นำมันมาใช้ อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการการสืบพันธุ์ของมนุษย์ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน และหากอารมณ์นี้มิได้ถูกนำมาใช้มนุษย์คงสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปนานแล้ว ทางออกในการใช้อารมณ์ความต้องการในเรื่องของตัณหาราคะที่เหมาะที่ควรคือการแต่งงาน ใช้มันกับคู่สมรสของเราเพียงเท่านั้น หากนำมันไปใช้แบบไร้การควบคุม ปัญหาและความวิบัติจะตามมา

 

ประเด็นของโทสะก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึกด้านนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องกับคนอื่น แม้แต่กับคนใกล้ตัวในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในบางครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ด้วยอารมณ์โทสะในช่วงนั้นทำให้เผลอหลุดกล่าววาจาไม่ดีออกไปที่ทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย และหากปล่อยให้มันเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยที่ไม่ควบคุม นั่นหมายถึงการสะสมของตะกอนความขุ่นมัวในครอบครัวที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งในวันนึงมันอาจปะทุออกมากลายเป็นปัญหาครอบครัว เกิดการหย่าร้างกันในที่สุด และไม่เพียงแต่ภายในครอบครัว อารมณ์โทสะที่เกิดขึ้นนอกบ้านกับคนนอกก็สามารถส่งผลเสียร้ายแรงได้ ดังที่เราจะได้เห็นภาพข่าวอยู่เสมอเรื่องอารมณ์โทสะจากการทะเลาะวิวาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับรถบนท้องถนน อารมณ์หึงหวงชู้สาว ซึ่งอารมณ์โทสะที่ถูกใช้ไปอย่างไร้การควบคุมนี้ ก่อให้เกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมตามมาในหลายต่อหลายครั้ง

 

แต่ในศาสนาอิสลามอารมณ์โทสะใช่ว่าจะมีแต่ด้านลบ อิมามโคมัยนีกล่าวว่า พลังของโทสะถือเป็นเนี้ยตมัตหนึ่งที่พระเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์ เราสามารถใช้โทสะปกป้องตัวเองและเผ่าพันธุ์หรือแม้แต่ศาสนาจากศัตรูที่เข้ามารุกราน คือหากถึงเวลาที่ต้องทำการปกป้องแล้วเรานิ่งเฉยไม่โต้ตอบเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเรา เราก็ถูกกระทำอยู่ร่ำไปหรือไม่ก็อาจถูกทำลายล้าง แต่ปัญหามันจะมีเมื่อใช้อารมณ์โทสะแบบไร้ขอบเขต ไร้การควบคุมอย่างถูกต้อง มันจะลุกเป็นไฟ ขาดสติ ขาดการควบคุมนั่นหมายถึงให้รอเวลาพบกับความวิบัติในชีวิตได้เลย ท่านศาสดาได้กล่าวถึงอารมณ์โทสะไว้ว่า “ โทสะเป็นกุญแจแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง" และท่านยังได้กล่าวอีกว่า“ โทสะจะทำลายศรัทธา เปรียบเสมือนน้ำส้มสายชูที่ทำลายน้ำผึ้ง" เพราะน้ำผึ้งคือสิ่งที่มีราคาเพียงแค่มีน้ำส้มสายชูที่มีราคาน้อยกว่ามากหยดลงไปมันก็ทำให้เสียรสชาติไปหมด ความศรัทธาก็เช่นกันเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งเพียงพอสำหรับการทำลายมันด้วยกับโทสะ คือหากเรานำสิ่งเจือปนอื่นที่เป็นสิ่งแปลกปลอมมาผสมกับความรู้สึกดีงามภายใน มันจะทำให้ความอารมณ์ความรู้สึกที่ดีงามของเราสูญเสียไปด้วย ท่านอิมามบาเกรได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า“โทสะเหมือนหินร้อนของชัยฏอน ที่คอยสุมไฟอยู่ในหัวใจ"

 

อารมณ์โทสะ สามารถทำลายชีวิตได้หากไม่ควบคุม คดีความต่างๆที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่มาจากโทสะ ในช่วงแรกที่เราโมโห อารมณ์จะเดือดดาล ควันออกหู พร้อมที่จะดับเครื่องชนกับทุกสิ่ง แต่พอได้สติกลับมานั่งคิด หลายครั้งกลายเป็นว่าเรื่องมันเล็กนิดเดียว แต่ทำไมเราถึงควบคุมมันไม่ได้ ทำไมเราถึงควบคุมพฤติกรรมของสัตว์ร้ายที่อยู่ภายในของเราไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ว่าจะเอาอารมณ์โทสะออกจากตัวเราได้อย่างไร เราจะเอาชนะชัยฏอนที่กระซิบกระซาบอยู่ภายนอกและนัฟซูที่อยู่ภายในได้อย่างไร เราควรควบคุมอารมณ์ด้านมืดที่ซ่อนอยู่ภายในให้ได้อย่างไร อิมามโคมัยนีแนะนำให้ต่อสู้กับโทสะด้วยการรู้จักเหตุที่มาของมัน นักวิชาการด้านศาสนาส่วนใหญ่มองว่าการยึดมั่นถือมั่นในตัวเองคือสาเหตุหลัก ส่วนท่านอิมามก็มองคล้ายๆกันแต่ท่านจะเน้นว่าความรักและการยึดติดในตัวเองคือสาเหตุหลักแห่งโทสะ และการใช้สติควบคุมมันเป็นทางแก้ไข อธิบายได้ดังนี้คือ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปกระทบกระทั่งกับตัวเราหรือสิ่งที่เรารัก โดยที่เราเห็นเพียงด้านลบของมัน เราจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบกลับไปในความรู้สึกหรือด้วยกับการกระทำ เช่นเราโกรธเมื่อมีใครมาแตะต้องถึงเราหรือสร้างความเสียหายให้กับเรา คือมีเหตุเกิดขึ้นที่กระทบต่อความรู้สึกของเราทางลบ โทสะก็จะเกิดขึ้น โดยเริ่มหลุดออกจากการควบคุม ดังนั้นถ้าจะควบคุมโทสะให้ได้ ก็ต้องลดความรักตัวเองและการยึดติดกับตัวเองลง (ถ้ามีโอกาสจะอธิบายถึงเรื่องความรักและการยึดติดกับตัวเองในคราวต่อๆไป เพราะมันร้ายกาจกว่าการหลงดุนยาด้วยซ้ำ)สรุปสั้นๆก็คือเราต้องลดความรักและการยึดติดในตัวเองลงพร้อมกับใช้สติเท่านั้นถึงจะควบคุมโทสะได้

 

ท่านศาสดาได้แนะนำวิธีที่จะจัดการกับอารมณ์โทสะ ให้สงบลงเฉพาะหน้าก็คือ"ให้เปลี่ยนอิริยาบถ คือเมื่อยืนอยู่ให้นั่ง ถ้านั่งอยู่ให้นอน" หมายถึงถ้าเกิดโทสะจากตรงนี้ให้เดินไปที่อื่น เดินออกไปจากสถานการณ์ที่ตรงนั้น เพื่อให้เราลืมมันหรือลดความรู้สึกโกรธลง - หรืออีกวิธีหนึ่งที่เราได้เคยกล่าวไปแล้วก็คือการทำวุฏูอ์ เพราะน้ำวุฎูอ์อาจดับไฟแห่งโทสะ หรือเพราะวุฏูอ์ทำให้รำลึกถึงพระองค์อีกทั้งมีเวลานึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเข้าใจถึงสาเหตุของโทสะพร้อมกับพยายามลดระดับของมันลงมาเพื่อควบคุมมันให้ได้ มิเช่นนั้นมันก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายในชีวิต ทางที่ดีท่องจำเอาไว้อยู่เสมอว่า "โทสะเป็นกุญแจแห่งความชั่วร้ายทั้งมวล"...


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม