การทดสอบของพระเจ้า ในมุมมองของอิมามอะลี (อ.)


การทดสอบของพระเจ้า ในมุมมองของอิมามอะลี (อ.)

 

    ท่ามกลางเหตุการณ์และการทดสอบต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งยุคสุดท้ายของโลก (อาคิรุซซะมาน) นี้ มนุษย์จะต้องคิดที่จะพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ หรือในคำพูดโดยสรุป คือการรักษาความสมบูรณ์ของศาสนาไว้ให้ได้ และจะต้องให้ความสำคัญและวิงวอนขอ……

 

    มนุษย์จำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์จากการทดสอบต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งในการพัฒนาทางด้านโลกนี้และการพัฒนาการทางชีวิตแห่งปรโลก ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 

فى تَقَلُّبِ الاْحْوالِ عِلْمُ جَواهِرِ الرِّجاَلِ

 

"ในการผันแปรของสภาพการณ์นั้น จะทำให้รู้ถึงเนื้อแท้ของเหล่าบุรุษ" (1)

 

      ความเป็นจริงก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ คุณค่าและสถานภาพของมนุษย์ทุกคนนั้นจะถูกทำให้ปรากฏช่วงเวลาที่เกิดปัญหาและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต แต่ประเด็นก็คือว่า น้อยคนนักที่จะชอบการเผชิญกับปัญหาและเหตุการณ์ในชีวิต (การทดสอบของพระเจ้า) ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงเตือนพวกเราชาวชีอะฮ์ว่า :

 

لایَقُولَنَّ اَحَدُکُمْ: اللَّهُمَّ اِنّى اَعُوذُ بِکَ مِنَ الْفِتْنَةِ، لاِنَّهُ لَیْسَ اَحَدٌ اِلاّ وَ هُو مُشْتَمِلٌ عَلى فِتْنَة وَلکِنْ مَنِ اسْتَعاذَ فَلْیَسْتَعِذْ مِنْ مُضِلاّتِ الْفِتَن

 

"คนใดจากพวกท่านอย่าได้กล่าวว่า "โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากฟิตนะฮ์ (วิกฤตที่เลวร้าย) เพราะเนื่องจากไม่มีใครแม้แต่เพียงคนเดียว เว้นแต่เขาจะต้องเข้าอยู่ในฟิตนะฮ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้) แต่ทว่าผู้ใดที่จะขอความคุ้มครองนั้น เขาจงขอความคุ้มครองจากฟิตนะฮ์ที่จะทำให้หลงออกจากทางนำ" (2)

 

      สาส์นและข้อเตือนสติของฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ก็คือ ในท่ามกลางเหตุการณ์และการทดสอบต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งยุคสุดท้ายของโลก (อาคิรุซซะมาน) นี้ มนุษย์จะต้องคิดที่จะพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ หรือในคำพูดโดยสรุป คือการรักษาความสมบูรณ์ของศาสนาไว้ให้ได้ และจะต้องให้ความสำคัญและวิงวอนขอด้วยบทดุอาอ์ของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) บทนี้ที่ท่านกล่าวว่า :

 

يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوبِ ثَبِّتْ قَلْبِي عَلَى دِينِكَ

 

"โอ้ผู้ทรงผลิกผันหัวใจทั้งหลาย โปรดทำให้หัวใจของข้าพระองค์มั่นคงอยู่บนศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด" (3)

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกาฟี, เล่มที่ 8, หน้าที่ 23

(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 8, หน้าที่ 23

(3) กะมาลุดดีน วะ ตะมามุนเนี๊ยะอ์มะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 352

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ