การโอ้อวด (ริยาอ์) พฤติกรรมที่ต้องห้าม หนึ่งในโรคร้ายของการเคารพภักดี

การโอ้อวด (ริยาอ์) พฤติกรรมที่ต้องห้าม หนึ่งในโรคร้ายของการเคารพภักดี

 

การโอ้อวด (ริยาอ์) ประเภทหนึ่งของการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

       การโอ้อวด (ริยาอ์) เป็นพฤติกรรมที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เป็นสาเหตุที่จะทำให้อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) เป็นโมฆะ และเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี (ชิรก์) ซึ่งการโอ้อวด (ริยาอ์) นี้คือการที่มนุษย์กระทำอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแสดงให้เพื่อนมนุษย์เห็น

 

       ทุกๆ อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) หากผู้ใดกระทำมันเนื่องด้วยแรงบันดาลใจเพื่อนการสนองตอบและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระองค์ หรือเพื่อขอบคุณในความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) และปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ ของพระองค์ที่ทรงประทานให้แก่เรา หรือเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ หรือเกิดจากความรักที่มีต่อพระองค์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ตัวเองได้รอดพ้นจากการลงโทษของพระองค์ หรือเพื่อแสวงหาผลรางวัลตอบแทนจากพระองค์ อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ซอเหี๊ยะห์) แต่ถ้าหากมีเจตนาเพื่อแสวงหาความความพึงพอใจจากผู้อื่นที่นอกเหนือไปจากพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อแสวงหาสถานะและผลประโยชน์ต่างๆ ทางโลกนี้ (ดุนยา) อันได้แก่ ความเป็นผู้นำ ตำแหน่ง ชื่อเสียงและการสรรเสริญเยินยอจากมนุษย์แล้ว อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ที่มีเจตนาเหล่านี้เคลือบแฝงอยู่ถือเป็นโมฆะ (บาฏิล) (1)

 

ริวายะฮ์ (คำรายงาน)

 

      1.ในหนังสือตัฟซีร (อรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) ของอาลี บินอิบรอฮีม กุมมี ในช่วงท้ายของบท (ซูเราะฮ์) อัลกะฮ์ฟี่ ในการอรรถาธิบายโองการ (อายะฮ์) ที่ 110 ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :

 

فَمَن كَانَ يَرْجُو  لِقَاء رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلاً صَالِحاً وَلا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَداً

 

“ดังนั้นผู้ใดมุ่งหวังที่จะพบองค์พระผู้อภิบาลของเขา เขาก็จงประกอบการงานที่ดีเถิด และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อองค์ พระผู้อภิบาลของเขาเลย”

 

       มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า มีผู้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)เกี่ยวกับการอรรถาธิบายโองการนี้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

من صلی مرائاة الناس فهو  مشرك و من زکی مرائاة الناس فهو  مشرك ومن صام مرائاة الناس فهو  مشرك و من حج مرائاة الناس فهو  مشرك و من عمل عملا  مما أمره الله مرائاة الناس فهو  مشرك و لايقبل الله عز و جل مراء

 

“ผู้ใดกระทำนมาซเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่จ่ายทานซะกาตเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่ถือศีลอดเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่บำเพ็ญฮัจญ์เพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติการงานหนึ่งๆ ที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาแก่เขา เพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และอัลลอฮ์ (ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร) จะไม่ทรงยอมรับการกระทำของผู้โอ้อวดคนใด” (2)

 

      2.มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า :

 

انّ رسول اللَّه صلى الله عليه وآله سئل فيما النجاة غداً؟

فقال: "إنّما النجاة في أن لاتخادع اللَّه فيخدعكم؛ فإنّه من يخادع اللَّه يخدعه،

ويخلع منه الإيمان،ونفسه يخدع لو يشعر".

قيل له: فكيف يخادع اللَّه؟

قال: "يعمل بما أمره اللَّه ثمّ يريد به غيره. فاتّقوا اللَّه في الرياء،

فإنّه الشرك باللَّه. إنّ المرائي يدعى يوم القيامة بأربعة أسماء: يا كافر، يا فاجر،يا غادر، يا خاسر! حبط عملك وبطل أجرك،

فلا خلاص لك اليوم، فالتمس أجرك ممّن كنت تعمل له

      มีผู้ถามท่านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ความรอดพ้นในปรโลกนั้นอยู่ในสิ่งใด?”

      ท่านตอบว่า “อันที่จริงความรอดพ้นนั้นอยู่ในการที่ท่านจะหลอกลวงอัลลอฮ์ มิเช่นนั้นแล้วพระองค์ก็จะหลอกลวงพวกท่านเช่นกัน ดังนั้นใครก็ตามที่หลอกลวงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะหลอกลวงเขาด้วย และจะทรงปลดเปลื้องความศรัทธา (อีหม่าน) ออกไปจากเขา และ (ในความเป็นจริงแล้ว) เขากำลังหลอกลวงตัวเอง หากพวกเขารู้ตัว”

      มีผู้ถามท่านต่ออีกว่า “เขาจะหลอกลวงอัลลอฮ์อย่างไรหรือ?”

      ท่านตอบว่า “เขาจะปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาแก่เขา แต่แล้วเขากลับมุ่งหวังจากผู้อื่นนอกเหนือไปจากอัลลอฮ์

      ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์จากการโอ้อวดเถิด เพราะแท้จริงมันคือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์

      แท้จริงผู้ที่โอ้อวดนั้นจะถูกเรียกในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) ด้วยสี่ชื่อคือ ‘โอ้ผู้ปฏิเสธ’ ‘โอ้คนชั่ว’ ‘โอ้คนหลอกลวง’ ‘โอ้ผู้ขาดทุน’

      การกระทำ (อะมั้ล) ของเจ้านั้นได้สูญสลายไปแล้ว และผลรางวัลของเจ้าก็เป็นโมฆะไปแล้ว

      ดังนั้นในวันนี้ไม่มีหนทางรอดพ้นสำหรับเจ้าอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้เจ้าจงเรียกขอผลรางวัลของเจ้าจากผู้ที่เจ้าได้กระทำ (อะมั้ล) เพื่อเขาผู้นั้นเถิด” (3)

แหล่งอ้างอิง :

(1) สิ่งที่สมควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ประเภทต่างๆ ของการตั้งภาคี (ชิรก์) ซึ่งจะถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ อันได้แก่ การตั้งภาคีด้วยการโอ้อวด การตั้งภาคีในการเชื่อฟัง (ฏออะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และการตั้งภาคีด้วยสื่อต่างๆ ทางธรรมชาตินั้น เป็นคนละกรณีกันกับการตั้งภาคี (ชิรก์) ของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ที่เป็นที่รู้จกกันดี ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) และการตั้งภาคีของบุคคลเหล่านั้นเป็นการตั้งภาคีที่เลวร้ายที่สุด และเป็นการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ร้ายแรงที่สุด เป็นสาเหตุของการปฏิเสธศาสนา (กุฟร์) และการหลุดพ้นออกจากอิสลาม และมันคือการตั้งภาคีในการอิบาดะฮ์ที่มนุษย์ได้กระทำการเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้า

(2) ตัฟซีรอาลี บินอิบรอฮีม อัลกุมมี

(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1} หน้าที่ 11

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ