ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 15 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 15 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงข้ออ้างของเหล่าบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า และการไม่เปลี่ยนแปลงของอัลกุรอาน โองการกล่าวว่า เป็นไปได้ไหมที่อัลกุรอานจะเปลี่ยนแปลง

 

وَإِذَا تُتْلَى‏ عَلَيْهِمْ آيَاتُنَا بَيِّنَاتٍ قَالَ الَّذِينَ لَا يَرْجُونَ لِقَاءَنَا ائْتِ بِقُرْآنٍ غَيْرِ هذَا أَوْ بَدِّلْهُ قُلْ مَايَكُونُ لِي أَنْ أُبَدِّلَهُ مِن تِلْقَاءِ نَفْسِي إِنْ أَتَّبِعُ إِلَّا مَا يُوحَى‏ إِلَيَّ إِنِّي أَخَافُ إِنْ عَصَيْتُ رَبِّي عَذَابَ يَوْمٍ عَظِيمٍ‏

 

คำแปล :

 

15. และเมื่อโองการทั้งหลายอันชัดแจ้งของเราได้ถูกอ่านแก่พวกเขา บรรดาผู้ไม่หวังที่จะพบเรากล่าวว่า “ท่านจงนำกรุอานอื่นจากนี้มาให้เราหรือเปลี่ยนแปลงเสีย” จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) “ฉันไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงกุรอานตามอำเภอใจของฉัน ฉันจะไม่ปฏิบัติตามสิ่งใดนอกจากที่ได้วะฮ์ยูแก่ฉันเท่านั้น แท้จริง ฉันกลัว หากฉันฝ่าฝืนพระผู้อภิบาลของฉัน ต่อการลงโทษในวันอันยิ่งใหญ่ (กิยามะฮ์)

 

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

 

รายงานกล่าวว่ามีผู้เคารพรูปปั้นบูชากลุ่มหนึ่ง ได้กล่าวแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า สิ่งที่อยู่ในอัลกุรอานที่กล่าวถึงบรรดาเทวรูปของเรา เป็นสิ่งที่พวกเราไม่สามารถอดทนได้ ถ้าท่านต้องการให้พวกเราปฏิบัติตามท่านละก็ ท่านจงนำเอาอัลกุรอานอื่นมา หรือไม่ก็จงเปลี่ยนแปลงสาระของอัลกุรอานนี้เสีย โองการข้างต้นจึงได้ถูกประทานลงมาเพื่อตอบแก่พวกเขา และเพื่อต้องการประกาศให้ทุกคนในทุกยุคทุกสมัยได้ทราบว่า อัลกุรอาน ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เด็ดขาด(1)

 

คำอธิบาย :

 

เป็นไปได้ไหมที่กุรอานจะเปลี่ยนแปลงกุรอาน

 

1. จากคำพูดของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าเข้าใจได้ว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นผู้นำสำหรับพวกเขา ทว่าพวกเขาต้องการให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาประดิษฐ์และอุปโลกน์ขึ้นมา และเรียกร้องกุรอานอื่นจากศาสดา เพื่อนำมาสนับสนุนสิ่งที่พวกเขากระทำกันอยู่

 

2.บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ต้องการให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เปลี่ยนแปลงอัลกุรอานทั้งหมดที่มีอยู่ หรือให้ลบโองการที่กล่าวถึงเทวรูปต่างๆ หรือที่กล่าวขัดแย้งกับเทวรูปออกไป

 

3. คำตอบที่อัลกุรอาน ได้ตอบแก่พวกเขาได้ใช้สำนวนที่เปี่ยมไปด้วยโวหาร ซึ่งในที่สุดแล้วอัลกุรอานได้กล่าวในเชิงสรุปถึงปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยกล่าวด้วยคำพูดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า “ฉันไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงกุรอานตามอำเภอใจของฉัน” ซึ่งประโยคดังกล่าวเท่ากับเป็นการปฏิเสธความต้องการทั้ง 2 ประการของผู้ตั้งภาคีโดยสิ้นเชิง เนื่องจากถ้าการเปลี่ยนแปลงอัลกุรอาน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) แน่นอน การเปลี่ยนแปลงอัลกุรอานทั้งหมดย่อมไม่ได้อยู่ในอำนาจของท่านด้วยเช่นกัน

 

4. โองการต่างๆ ของอัลกุรอาน พร้อมทั้งคำและความหมาย หรือทั้งหมดของอัลกุรอาน มิได้อยู่ในอำนาจของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่อย่างใด เพื่อที่ว่าท่านจะได้สามารถเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจได้ ซึ่งทั้งหมดของอัลกุรอาน เป็นไปตามวะฮ์ยูของพระเจ้า แน่นอนว่า ประเด็นนี้ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของอัลกุรอาน และของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. อัลกุรอาน บริสุทธิ์จากการสังคายนาและการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ

 

2. ความกลัวต่อการลงโทษและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ คือปัจจัยสำคัญที่จะนำท่านออกห่างจากการกระทำความผิดและบาปกรรมทั้งหลาย

 

3. นอกเหนือจากวะฮ์ยูแล้วต้องไม่ปฏิบัติตามสิ่งอื่นใดอีก

 

เชิงอรรถ


1.มัจญ์ะอุลบะยาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว, บิฮารุลอันวาร เล่ม 9 หน้า 213, ตัฟซีรอาลูซีย์ เล่ม 11 หน้า 83 ตอนอธิบายโองการดังกล่าว , อัสบาบุลนุซูล อายาต วาฮิดี นีชาบูรีย์ หน้า 179
 

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์