ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 16 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 16 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึง อดีตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และแนะนำให้เห็นความสัจจริงของอัลกุรอาน โองการ กล่าวว่า

 

قُل لوْ شَاءَ اللَّهُ مَا تَلَوْتُهُ عَلَيْكُمْ وَلَا أَدْرَاكُمْ بِهِ فَقَدْ لَبِثْتُ فُيكُمْ عُمُراً مِن قَبْلِهِ أَفَلَا تَعْقِلُونَ‏

 

คำแปล :

 

16. จงกล่าวเถิด “มาตรว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์ฉันคงจะไม่อ่านอัลกุรอานแก่พวกท่าน และพระองค์จะไม่ทรงให้พวกท่านรู้โดยนัยนี้  แน่นอน ฉันได้เคยอยู่ในหมู่พวกท่านมาชั่วอายุหนึ่งก่อนหน้านี้ (ซึ่งไม่เคยนำโองการมาเลย) ครั้นแล้วพวกท่านไม่ใช้สติปัญญาดอกหรือ?

 

คำอธิบาย :

 

1. โองการได้กล่าวแก่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาได้ขอให้เปลี่ยนแปลงอัลกุรอาน  อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงพิสูจน์ความจริงนี้โดยอ้างอิงไปยังประวัติที่ผ่านมาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และนี่เป็นตัวอย่างประเภทหนึ่งของการใช้สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความจริง

 

2. ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) มีประวัติที่สะอาดบริสุทธิ์มานานถึง 40 ปีด้วยกัน และพวกเขาก็รู้จักกันดี จนได้ยกย่องท่านเป็น อัลอะมีน ผู้ซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ ท่านเป็นชายอาหรับ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ดังนั้น ถ้าหากอัลกุรอานได้มาจากเขาจริง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเขาคงต้องอ่านหรือสาธยายแก่ประชาชนบ้างแล้ว

 

3. นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าความอัจฉริยะ ศักยภาพในการเรียนรู้ ความสามารถ และการสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ  20 ถึง 40 ปี แต่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  จนกระทั่งอายุ 40 ปีแล้ว ท่านก็ยังไม่เคยประดิษฐ์อัลกุรอานสักบท หรือสักโองการหนึ่ง และโดยทั่วไปแล้วเป็นไปไม่ได้ ที่บุคคลหนึ่งจนกระทั่งอายุ 40 ปี ที่เขาได้มีชีวิตท่ามกลางประชาชน เขาจะไม่เคยแสดงความอัจฉริยะหรือศักยภาพของตนให้คนอื่นได้เห็น

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. อัลกุรอาน ไม่ใช่ความคิดของมนุษย์

 

2. ไม่ใช่เฉพาะการลงวะฮ์ยูเพียงอย่างเดียวที่เป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์ ทว่าแม้แต่การอ่านและการประกาศก็เป็นพระประสงค์ของพระองค์ด้วย

 

3. อดีตที่ดีงามของบุคคลหนึ่ง ย่อมเป็นข้อพิสูจน์และเหตุผลได้เป็นอย่างดี ในการยอมรับคำพูดและการกระทำของเขา

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์