ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 19 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 19 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความเป็นเอกภาพของประชาชนในตอนแรก และการแปลกแยกของพวกเขาในตอนหลัง โองการ กล่าวว่า

 

 وَمَا كَانَ النَّاسُ إِلَّا أُمَّةً وَاحِدَةً فَاخْتَلَفُوا وَلَوْلَا كَلِمَةٌ سَبَقَتْ مِن رَّبِّكَ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ فِيَما فِيهِ يَخْتَلِفُونَ‏

 

คำแปล :

 

19. และมนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นอื่น (ตั้งแต่ต้น) นอกจากเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วพวกเขาได้แตกแยกกัน และมาตรว่าพจนารถหนึ่ง (แบบฉบับ) ของพระผู้อภิบาลของเจ้า (เกี่ยวกับการลงโทษฉับพลันแก่ผู้กระทำผิด) มิได้บัญญัติล่วงหน้าไว้ก่อน แน่นอน คงต้องถูกตัดสินระหว่างพวกเขาในเรื่องที่พวกเขาขัดแย้งกัน

 

คำอธิบาย :

 

1.โองการข้างต้นได้สาธยายเข้ากันได้กับโองการก่อนหน้านี้ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการปฏิเสธการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า โดยกล่าวเน้นถึงธรรมชาติแห่งเตาฮีด ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน โดยกล่าวว่า มนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นอื่น (ตั้งแต่ต้น) นอกจากเป็นประชาชาติเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า นอกจากความเชื่อในเรื่องพระเจ้าองค์เดียวแล้ว ไม่มีศาสนาอื่นใดอีก แต่เนื่องจากว่าบางคนได้รับอิทธิพลความคิดของชัยฏอนมารร้าย ทำให้พวกเขาหลงผิดไป และหันไปเคารพรูปปั้นบูชา และตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า

 

2. คำว่า กะลิมะฮ์ ในโองการข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นถึง แบบฉบับของพระเจ้าในการสร้างสรรค์ ซึ่งพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามเจตจำนงเสรี ซึ่งเจตจำนงเสรีของมนุษย์นั้นอยู่ในแนวทางของการชี้นำ และการหลงทาง อันถือได้ว่าเป็นรหัสและความสมบูรณ์และความก้าวหน้าของมนุษย์นั่นเอง

 

3. มาตรว่าอัลลอฮ์ ทรงรีบเร่งตัดสินในประเด็นที่ขัดแย้งกันของมนุษย์ และรีบเร่งหลงโทษบรรดาพวกที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์ ความเชื่อศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อพระองค์ ก็จะวางอยู่บนพื้นฐานของการบีบบังคับ และความหวาดกลัว แน่นอน ความศรัทธาประเภทนี้มิได้มีคุณค่าแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของมนุษย์ด้วย ด้วยเหตุนี้ การลงโทษมนุษย์จึงล่าช้าออกไปจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เพื่อว่ามนุษย์จะได้มีอิสระและเสรีภาพในการตัดสินใจและกระทำ

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. รากเดิมของมนุษย์คือเอกภาพและมีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว อันถือได้ว่าเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของเขา ซึ่งการตั้งภาคีเทียบเคียงเป็นประเภทหนึ่งของการอุปโลกน์ และการหลงผิดไปจากธรรมชาติ ซึ่งได้เกิดในภายหลัง

 

2. มนุษย์ต้องย้อนไปให้ความสนใจต่อความเป็นเอกภาพของพระเจ้า และธรรมชาติของตน ซึ่งตั้งแต่ต้นมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน มีความคิดเหมือนกัน

 

3. แบบฉบับของพระเจ้า คือ การให้โอกาสและความอิสระแก่มนุษย์ในการเลือกสรรอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์