ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 20 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 20 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ ของบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ที่มีต่อปาฏิหาริย์ที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แสดงให้เห็น อัลกุรอานกล่าวว่า

 

 وَيَقُولُونَ لَوْلَا أُنزِلَ عَلَيْهِ آيَةٌ مِن رَبِّهِ فَقُلْ إِنَّمَا الْغَيْبُ لِلَّهِ فَانتَظِرُوا إِنِّي مَعَكُم مِنَ الْمُنْتَظِرِينَ‏

 

คำแปล :

 

20.พวกเขากล่าวว่า “ทำไมจึงไม่มีปาฏิหาริย์ถูกส่งจากพระผู้อภิบาลของเขาให้แก่เขาเล่า” จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แท้จริง สิ่งที่พ้นญาณวิสัยนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้น จงคอยดูเถิด แท้จริง ฉันก็อยู่กับพวกท่านในหมู่ผู้คอยดู

 

คำอธิบาย :

 

ปาฏิหาริย์ตามความพอใจ

 

1. คำว่า อายะฮ์ ตามหลักภาษาแล้วหมายถึง สัญลักษณ์ แต่ในโองการข้างต้นหมายถึง ปาฏิหาริย์ กล่าวคือ ปาฏิหาริย์ ที่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ได้เสนอต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ให้นำมาแสดง แน่นอน ตามสัญลักษณ์ที่ปรากฏซึ่งจะกล่าวภายหลังว่า จุดประสงค์ของพวกเขาไม่ใช่ปาฏิหาริย์ทั้งหมด เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) นอกจากอัลกุรอานแล้ว ท่านยังมีปาฏิหาริย์อื่นๆ อีก ซึ่งตามประวัติศาสตร์อิสลาม อัลกุรอานบางโองการได้ยืนยันให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวเอาไว้ ดังเช่น อัลกุรอาน โองการอื่นกล่าวถึงว่า บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ได้ขอให้มีปราสาททองคำ ตาน้ำพุที่พวยพุ่ง และการบินไปในท้องฟ้า (1)

 

2. บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าต่างคิดกันเองว่า ปาฏิหาริย์อยู่ในมือของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เมือใดที่ท่านต้องการท่านจะนำปาฏิหาริย์ออกมาแสดง ซึ่งโองการข้างต้นได้ตอบข้อกังขาของพวกเขา โดยกล่าวว่า ปาฏิหาริย์นั้นเป็นของพระเจ้าและอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์

 

3. ปาฏิหาริย์ เป็นหนึ่งในภารกิจที่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ เป็นการกระทำพิเศษที่อยู่เหนือธรรมชาติ สิ่งนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากต้องได้รับอนุญาตจากพระเจ้า ซึ่งจะถูกแสดงโดยบรรดาศาสดา  (อ.) หรืออิมามท่านใดท่านหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์การเป็นศาสดาหรืออิมาม เพื่อชี้นำประชาชาติ

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) นั้นมีปาฏิหาริย์อันเป็นอมตะได้แก่ อัลกุรอาน และยังมีปาฏิหาริย์อย่างอื่นอีก ซึ่งแต่ละประเภทนั้นเป็นไปเพื่อพิสูจน์ตำแหน่งการเป็นศาสดาของท่าน แต่จุดประสงค์ของบรรดาผู้ที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ต้องการให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นำปาฏิหาริย์ตามความพอใจของพวกเขามาแสดง ซึ่งวัตถุประสงค์ของพวกเขาไม่ใช่เพื่อต้องการรู้จักศาสดา หรือต้องการปฏิบัติตามท่าน

 

4. บางที่จุดประสงค์ของประโยคที่กล่าวว่า “สิ่งพ้นญาณวิสัยนั้นเป็นของอัลลอฮฺ” อาจหมายถึงว่า ปาฏิหาริย์นั้นเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ และเฉพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าเท่านั้น หรืออาจหมายถึงว่าวิทยปัญญาต่างๆ กาลเวลา และสถานที ตลอดจนการประทานปาฏิหาริย์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเร้นลับ ที่เป็นของอัลลอฮฺเท่านั้น ในที่นี้ตัฟซีรที่สองมีความเหมาะสมมากกว่า

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. เวลา สถานที่ และการประทานปาฏิหาริย์นั้นอยู่ในอำนาจของพระเจ้า มิได้อยู่ในเจตจำนงเสรีของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หรืออยู่ในความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด

 

2. จงอย่างได้หาข้ออ้างหรือข้อท้วงติงอันใดเมื่ออยู่ต่อหน้าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเมื่อมีอัลกุรอานเป็นปาฏิหาริย์อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องร้องขอปาฏิหาริย์อย่างอื่นอีก

 

เชิงอรรถ

 

1. อัลกุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 90-94

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์