อัลกุรอาน โองการที่ 21 บทยูนุส

อัลกุรอาน โองการที่ 21 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงปฏิกิริยาของบรรดาผู้ตั้งภาคีพระเจ้า โองการ กล่าวว่า

 

 وَإِذَا أَذَقْنَا النَّاسَ رَحْمَةً مِن بَعْدِ ضَرَّاءَ مَسَّتْهُمْ إِذَا لَهُم مَكْرٌ فِي آيَاتِنَا قُلِ اللَّهُ أَسْرَعُ مَكْراً إِنَّ رُسُلَنَا يَكْتُبُونَ مَا تَمْكُرُونَ‏

 

คำแปล  :

 

 21. ครั้นเมื่อเราให้มนุษย์ลิ้มรสความเมตตาหลังจากทุกข์ภัยได้ประสบแก่พวกเขา เมื่อนั้นพวกเขาก็วางอุบายต่อโองการต่าง ๆ ของเรา จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) อัลลอฮ์ ทรงรวดเร็วยิ่งในการวางผน แท้จริง บรรดาเราะซูล (มลาอิกะฮ์)ของเรา จะบันทึกสิ่งที่สูเจ้าวางแผน

 

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

 

มีรายงานว่าในนครมักกะฮฺ หลังจากกาลเวลาผ่านพ้นไปประมาณ 7 ปี ได้ประสบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรง หลังจากนั้นอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงประทานฝนลงมา แต่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าต่างกล่าวว่า ฝนได้ตกลงมาเนื่องจากเทวรูปต่างๆ นั่นเอง และพวกเขาได้กลั่นแกล้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) (1)

 

คำอธิบาย :

 

ครั้นเมื่อบรรดาผู้ตั้งภาคีได้หันกลับมาสู่พระเจ้า

 

1. คำว่า มักรุน ตามหลักภาษาหมายถึงการคิดอุบาย หรือการวางแผนทุกประเภท โดยมีการปิดบังซ่อนเงื่อนงำเอาไว้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การงานของมารร้าย ซึ่งมีความแตกต่างกัน

 

2. มักรุน เมื่อถูกนำไปใช้กับพระเจ้าจะให้ความหมายว่า เป็นการวางแผนการ หรือการวางอุบาย ซึ่งจุดประสงค์ในที่นี้ก็คือ การลงโทษของพระเจ้านั่นเอง ซึ่งบางครั้งก็ไม่เปิดเผย และมีความฉับพลัน

 

3. วัตถุประสงค์ของ อุบายของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง ก็คือ ข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ แบบไร้สาระ เพื่อหลีกเลี่ยงความจริง ซึ่งบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าได้วางอุบายไว้ เพื่อเผชิญหน้ากับอัลกุรอาน สัญลักษณ์ต่างๆ ความโปรดปราน และการทดสอบต่างๆ  ซึ่งพวกเขาคิดว่าทั้งหมดเหล่านี้เป็นความบังเอิญที่เกิดจากบรรดาเทวรูปของเขา

 

4. บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าแทนที่จะขอบคุณในความโปรดปรานของพระเจ้า พวกเขาได้แสดงความอกตัญญูและไม่สำนึกในบุญคุณ

 

5. มวลมลาอิกะฮ์ จะบันทึกทุกสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำแม้แต่แผนการ อุบาย และการบริหารของมนุษย์

 

6. ในโองการกล่าวถึงคำพูดหนึ่งคือ ฎ็อรรออ์ หมายถึง ความเสียหาย หรือทุกข์ภัย และความเสียใจ ซึ่งใช้ตรงกันข้ามกับคำว่า เราะฮ์มะฮ์  ซึ่งในความเป็นจริงต้องใช้ตรงกันข้ามกับคำว่า ซัรรออ์ หมายถึง ความสบาย หรือความดี ซึ่งการที่อัลกุรอานได้ใช้เช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกความดีและความสุขที่ได้ประสบกับมนุษย์ ล้วนมาจากพระเมตตาของพระเจ้าทั้งสิ้น แต่ทุกข์ภัยที่ประสบเกิดจากผลแห่งการกระทำของตนเอง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบบรรดาผู้อกตัญญูอย่างฉับพลัน

 

2. จงอย่าเป็นผู้อกตัญญูไม่รู้คุณเมื่ออยู่ต่อหน้าความเมตตาของพระเจ้า เนื่องจากการกระทำของท่านจะได้รับการบันทึกเอาไว้

 

เชิงอรรถ

 

1.ตัฟซีรซอฟีย์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 398, ตัฟซีร ซิลาลุลกุรอาน และตัฟซีรกะบีร ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์