ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 23 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 23 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความอกตัญญูของมนุษย์ และการระหกระเหินของพวกเขา โองการ กล่าวว่า

 

 فَلَمَّا أَنجَاهُمْ إِذَا هُمْ يَبْغُونَ فِي الْأَرْضِ بِغَيْرِ الْحَقِّ يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّمَا بَغْيُكُمْ عَلَى‏ أَنفُسِكُم مَتَاعَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا ثُمَّ إِلَيْنَا مَرجِعُكُمْ فَنُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُم تَعْمَلُونَ‏

 

คำแปล :

 

23. ครั้นเมื่อเพื่อพระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้รอดแล้ว เมื่อนั้นพวกเขาก็ก่อความเสียหาย ณ แผ่นดินโดยอยุติธรรม โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงการก่อความเสียหายของสูเจ้าล้วนเป็นอันตรายต่อตัวของสูเจ้าเอง เป็นความรื่นเริงสำหรับชีวิตในโลกนี้ แล้วสูเจ้าทุกคนต้องกลับไปหาเรา แล้วเราจะแจ้งแก่สูเจ้าให้รู้ตามที่สูเจ้าได้กระทำ

 

คำอธิบาย :

 

1. บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า หลังจากได้รับความช่วยเหลือให้รอดปลอดภัยแล้ว พวกเขาก็ลืมสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้แก่พระเจ้า แล้วหันไปกดขี่ข่มเหงฉ้อโกงสิทธิของบุคคลอื่น(1) เพื่อให้ตนได้รื่นเริงกับความสุขบนโลกนี้ได้มากที่สุด แต่ในที่สุดแล้วตัวเองต้องประสบกับความทุกข์ยาก เนื่องจากต้องถูกพระเจ้าลงโทษ ขณะที่ความรื่นเริงและความสุขที่ได้รับจากโลกนั้นไม่มีความแตกต่างกัน

 

2. การเนรคุณและการทรยศของมนุษย์และความสนุกสนาน ตลอดจนความลุ่มหลงของเขาล้วนมีความสัมพันธ์กับโลกทั้งสิ้น โดยทั่วไปแล้วการบูชาโลกมักจะนำมนุษย์ไปสู่การหลงทาง การเนรคุณ และการทรยศ

 

3. รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า  มีอยู่สามสิ่งที่จะกลับคืนไปยังเจ้าของได้แก่. การบิดพลิ้วสัญญา, ความอยุติธรรม และการวางแผนเพื่อสังหาร หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการข้างต้น

 

4. โองการก่อนหน้านี้ถ้าสังเกตจะเห็นว่า อัลกุรอานได้ใช้คำสรรพนานแทนบุรุษที่สอง ส่วนในโองการนี้พระองค์ใช้คำสรรพนามแทนบุรุษที่สาม ซึ่งบรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอาน ได้แสดงทัศนะไว้ 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

 

ทัศนะแรก เนื่องจากสภาพของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ขณะที่เขาประสบความทุกข์ยาก ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำหรับชีวิต พระองค์จึงใช้คำสรรพนามบุรุษที่สามแทน

 

ทัศนะที่สองเพื่อแสดงการดูหมิ่นดูแคลนบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า พระองค์จึงใช้คำสรรพนามบุรุษที่สาม ประหนึ่งว่า พระองค์ได้ยอมรับพวกเขาในตอนแรกหลังจากนั้น พระองค์ทรงปล่อยพวกเขาให้ระหกระเหิน

 

ทัศนะที่สามเนื่องจากเป็นธรรมชาติสำหรับผู้โดยสารอยู่บนเรือ เมือเริ่มเดินเรือใหม่ๆ พวกเขายังอยู่ใกล้กับชายฝั่ง จึงสามารถใช้คำสรรพนามแทนบุรุษที่สองได้ แต่พอเดินเรือไกลจากชายฝั่งออกไปแล้วจึงใช้คำสรรพนามบุรุษที่สามแทน

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. บุคคลที่เป็นผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าเป็นบุคคลที่ทรยศ หักหลัง และบิดพลิ้วต่อสัญญา

 

2. การอธรรมผู้อื่นเท่ากับได้อธรรมตัวเองนั้นเอง

 

3. ท่านจงอย่าเป็นผู้อกตัญญู ไม่รู้คุณ เพราะในที่สุดแล้วสิ่งที่ท่านทำไปนั้น  เป็นความเสียหายแก่ตัวเองทั้งสิ้น

 

เชิงอรรถ

 

1.คำว่า บะฆี หมายถึง การเรียกร้อง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า การกดขี่คือ การฉ้อฉลสิทธิของบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงเรียกพวกเขาว่า บาฆี, ตัฟซีรอัลมีซาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์