ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 24 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 24 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวยกตัวอย่างอันสวยงามของ เป้าหมายชีวิตทางโลกแก่เรา โองการกล่าวว่า

 

 إِنَّمَا مَثَلُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا كَمَاءٍ أَنزَلْنَاهُ مِنَ السَّماءِ فَاخْتَلَطَ بِهِ نَبَاتُ الْأَرْضِ مِمَّا يَأْكُلُ النَّاسُ وَالْأَنْعَامُ حَتَّى‏ إِذَا أَخَذَتِ الْأَرْضُ زُخْرُفَهَا وَازَّيَّنَتْ وَظَنَّ أَهْلُهَا أَنَّهُمْ قَادِرُونَ عَلَيْهَا أَتَاهَا أَمْرُنَا لَيْلًا أَوْ نَهَاراً فَجَعَلْنَاهَا حَصِيداً كَأَن لَمْ تَغْنَ بِالْأَمْسِ كَذلِكَ نُفَصِّلُ الْأَيَاتِ لِقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ‏

 

คำแปล :

 

24. แท้จริง อุปมาของชีวิตในโลกนี้อุปไมยดั่งน้ำฝนที่เราได้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า และได้เคล้าน้ำนั้นกับพืชของแผ่นดิน ซึ่งมนุษย์และสัตว์ใช้กินเป็นอาหาร จนกระทั่งเมื่อแผ่นดินได้ถูกประดับด้วยความงดงามของมัน แล้วสะพรั่งด้วยพืชผลอย่างสวยงาม แล้วเจ้าของของมันก็เชื่อว่าแท้จริงพวกเขามีอำนาจเหนือมัน (ทันใดนั้น) พระบัญชา (ภัยธรรมชาติ) ของเราได้มาประสบในเวลากลางคืนหรือกลางวัน แล้วเราได้ทำให้เสมือนถูกเก็บเกี่ยว ประหนึ่งว่ามันไม่เคยงอกงามเลยเมื่อวานนี้ เช่นนั้นแหละ เราได้จำแนกโองการทั้งหลายแจ่มแจ้ง สำหรับหมู่ชนผู้ใคร่ครวญ

 

คำอธิบาย :

 

เป้าหมายชีวิตทางโลก

 

1.ในโองการสุดท้ายที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นถึงชีวิตที่ไม่มีความไม่มั่นคงของโลกนี้ ซึ่งถือเป็นโองการแรกในการวิพากษ์,ขณะเดียวกันความจริงดังกล่าวนี้ ได้ถูกอธิบายโดยการยกตัวอย่างที่น่าสนใจเพื่อว่าม่านของความไม่รู้ และความยโสโอหัง ตลอดจนความหลงลืม จะได้ถูกเปิดออกต่อหน้าของผู้ที่มีความหลงลืมและผู้ที่ละเมิดทั้งหลาย

 

2. โองการได้ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทำให้น้ำฝนซึ่งเป็นเพียงสิ่งหนึ่ง ได้มีพืชภัณฑ์ต่างๆ มากมายงอกเงยขึ้นมา เพื่อยังประโยชน์แก่มนุษย์และบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย(1)

 

3. อัลกุรอาน คือ คัมภีร์แห่งการอบรมสั่งสอนมวลมนุษย์ชาติ และมีหลายประเด็นที่อัลกุรอานได้ใช้สติปัญญาและประวัติศาสตร์ เพื่อขยายความจริงโดยการหยิบยกตัวอย่าง บางครั้งประเด็นนั้นมีความยาวเยิ่นเยื้อแต่อัลกุรอานสามารถย่อสรุปให้เห็นเป็นรูปร่างวางอยู่ตรงหน้า

 

อัลกุรอาน โองการดังกล่าวนี้ได้ย่อสรุปวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีความยาวเกิน 100 ปี ให้เหลือสั้นเพียงนิดเดียวประหนึ่งชีวิตของต้นพืช

 

4.การดำรงชีพของมนุษย์ประหนึ่งสวนที่เขียวขจี ซึ่งจะเขียวชอุ่มอยู่เสมอเมื่อสายฝนได้หลั่งลงมาทำให้ต้นไม้ผลิดอกออกใบบานสะพรั่งไปหมด แต่ทันใดนั้นมันก็จะราบเรียบเป็นหน้ากอง เนื่องด้วยพายุที่พัดโหมกระหน่ำเข้ามา(2)

 

แน่นอน แม้แต่บ้านเมืองที่สวยงามที่ถูกสร้างโดยฝีมือของมนุษย์ เมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหว หรือแรงสั่นสะเทือนไม่กี่ครั้งก็สามารถพังพินาศหมดสิ้นได้ โดยไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่อีกนอกจากซากปรักหักพัง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. จงใช้ตัวอย่างจากธรรมชาติเพื่อการอบรมสั่งสอนประชาชาติเถิด

 

2. การดำรงชีวิตของมนุษย์ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากพืชสีเขียว หรือดอกไม้ที่สวยงาม ที่มีอายุสั้นแล้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว

 

3. ตัวอย่างและสัญลักษณ์ของพระเจ้าได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสาธยาย เพื่อกลุ่มชนที่คิดใคร่ครวญ

 

4.โลกหลอกลวงมนุษย์อยู่ตลอดเวลาว่า เขาเป็นผู้มีความสามารถทั้งที่แท้จริงแล้วมนุษย์คือผู้อ่อนแอ

 

เชิงอรรถ

 

1.คำว่า อิคติลาฏ ตามหลักภาษา หมายถึง การรวม 2 สิ่งเข้าด้วยกัน หรือมากกว่านั้น และไม่ว่าจะเป็นของเหลวหรือของแข็งก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ประโยคจึงหมายความว่า เนื่องจากน้ำฝนบรรดาวัชพืชจากด้านต่างๆ ได้ผสมผสานกันและเจริญงอกงามขึ้นมา ยังประโยชน์แก่มนุษย์และบรรดาสรรพสัตว์ หมายถึง อักษร บาอ์ ในที่นี้หมายถึง สาเหตุ

 

2.คำว่า ลัมตัฆนะ ตามรากเดิมหมายถึง การหยุด หรือการพักในสถานที่หนึ่ง หรือหมายถึง ไร่นาที่ถูกรวบรวมเข้าด้วยกันและเรียบเป็นหน้ากอง ประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์