เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 35 บทยูนุส

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 35 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึง สัญลักษณ์ของพระเจ้าในการชี้นำ และความไร้สามารถของพระเจ้าจอมปลอม โองการกล่าวว่า

 

 قُلْ هَلْ مِن شُرَكَائِكُم مَن يَهْدِي إِلَى الْحَقِّ قُلِ اللَّهُ يَهْدِي لِلْحَقِّ أَفَمَن يَهْدِي إِلَى الْحَقِّ أَحَقُّ أَن يُتَّبَعَ أَمْ مَن لَا يَهِدِّي إِلَّا أَن يُهْدَى‏ فَمَا لَكُمْ كَيْفَ تَحْكُمُونَ‏

 

คำแปล :

 

35. จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) มีผู้ใดในหมู่เจว็ดของพวกท่านไหมที่ชี้นำทางสู่สัจธรรม ? จงกล่าวเถิด อัลลอฮฺ (เท่านั้น) ทรงชี้นำทางสู่สัจธรรม ดังนั้น ผู้ที่ชี้นำทางสู่สัจธรรมสมควรกว่าที่จะได้รับการเคารพภักดี (อิบาดะ ฮฺ) หรือว่าผู้หาทางไม่พบ เว้นแต่จะถูกชี้ทางให้ เกิดอะไรขึ้นกับพวกท่านหรือ ท่านตัดสินได้อย่างไร ?

 

คำอธิบาย :

 

1.พระเจ้าจำเป็นต้องชี้นำผู้ที่จงรักภักดีและปฏิบัติตามพระองค์ไปสู่สัจธรรม แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพระเจ้า ขณะที่พระเจ้าจอมปลอมทั้งหลายมิได้เป็นเช่นนี้

 

2.  วิถีทางแห่งการชี้นำทางประชาชาติอยู่ในอำนาจของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งบรรดาศาสนทูต (อ.) สามารถชี้นำประชาชาติได้ ก็เพราะได้รับการแนะนำจากพระเจ้าพวกเขาจึงประจักษ์แจ้ง ดังนั้น ถ้าหากจะกล่าวว่าจุดประสงค์ของ การชี้นำ มิใช่เพียงแค่การนำเสนอแนวทางเท่านั้น ทว่าการนำไปจนถึงจุดหมายปลายทางก็ถือว่าเป็นวัตถุประด้วยเช่นกัน  และสิ่งนี้ก็อยู่ในอำนาจของพระเจ้าด้วยเหมือนกัน

 

3. หนึ่งในโครงการหลักของพระเจ้าที่ได้ตระเตรียมไว้สำหรับมวลมนุษย์คือ การชี้นำทางพวกเขาไปสู่สัจธรรม แน่นอนว่าการนี้มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน

 

ก) ปลุกธรรมชาติของการถวิลหาความจริงในมนุษย์

 

ข) ให้เหตุผลและภูมิปัญญาในการรู้จักสัจธรรมแก่มนุษย์

 

ค) วางสัญลักษณ์และเครื่องหมายต่างๆ ของพระเจ้า ให้ทั่วงานสร้างของพระองค์

 

ง) ส่งบรรดาเราะซูลไปยังประชาชน และแต่งตั้งบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์

 

จ) ประทานคัมภีร์จากพระเจ้าลงมาเพื่อแนะนำสั่งสอนมนุษยชาติ

 

4. เทพเจ้าของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง สามารถแบ่งเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต กล่าวคือ

 

- เทพเจ้าที่มีชีวิตและมีความรู้สึก เช่น มวลมลาอิกะฮฺ เป็นต้น ซึ่งมวลมลาอิกะฮฺเองยังต้องการคำชี้นำจากพระเจ้า

 

- ส่วนเทพเจ้าที่ไร้ชีวิตและความรู้สึก หรือสมมุติว่ามีสติปัญญาและความรู้สึก แต่ถ้าปราศจากการชี้นำจากพระเจ้าแล้วพวกเขาก็ไม่สามารถกระทำการอันใดได้ทั้งสิ้น

 

5. คำว่า ฮัก ตามรากศัพท์เดิม หมายถึง เข้ากันได้ตรงกัน หรือเห็นด้วยและได้รับความยินยอม แต่ในอัลกุรอานคำนี้ถูกใช้ในหลายความหมายด้วยกัน

 

ก) เป็นผู้สร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นบนพื้นฐานของสติปัญญา ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกพระเจ้าว่า ฮัก

 

ข) สิ่งที่ถูกบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานของภูมิปัญญา ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งถูกสร้างของพระเจ้า

 

ค) ความเชื่อที่ตรงกับความเป็นจริง

 

ง) การกระทำหรือการพูดตามความพอเหมาะของเวลา บนพื้นฐานของหมายกำหนดการที่วางไว้ เรียกว่า ฮัก เช่นกัน(1)

 

ดังนั้น คำว่า ฮัก ในโองการข้างต้นหมายถึงความหมายที่ แรกและความหมายที่สามก็ได้

 

6.  รายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์บุคคลที่เรียกร้องไปสู่สัจธรรมคือ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  ส่วนวัตถุประสงค์บุคคลที่ไม่เรียกร้องไปสู่สัจธรรมคือ ฝ่ายตรงข้ามพวกเขา(2)

แน่นอนว่า ฮะดีษ (รายงาน) เหล่านี้ต้องการอธิบายให้เห็นถึง องค์ประกอบที่สมบูรณ์ของผู้ที่ทำหน้าที่ชี้นำทางไปสู่สัจธรรม ซึ่งความเข้าใจของโองการมิได้เฉพาะอยู่แค่ประเด็นดังกล่าว

 

7.รายงานบางบทจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งได้รายงานไว้ทั้งจากฝ่ายชีอะฮ์และฝ่ายซุนนีย์ว่า อะลีอยู่กับสัจธรรม และสัจธรรมนั้นอยู่กับอะลี

 

และในตอนท้ายของโองการได้กล่าวเตือนสติและประณามอย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกท่านหรือ ท่านตัดสินได้อย่างไร ?

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่ชี้นำมนุษย์ไปสู่สัจธรรม

 

2. บุคคลที่ไม่รู้จักแนวทางที่ถูกต้อง จึงไม่มีความคู่ควรอันใดที่ต้องปฏิบัติตาม

 

เชิงอรรถ

 

1.มุฟรอดาต อิสฟาฮานีย์ คำว่า ฮัก

 

2.ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 402

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม