ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 36 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 36 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมในการยึดความคิด หรือปฏิบัติตามบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง โองการกล่าวว่า

 

 وَمَا يَتَّبِعُ أَكْثَرُهُمْ إِلَّا ظَنّاً إِنَّ الظَّنَّ لَا يُغْنِي مِنَ الْحَقِّ شَيْئاً إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ بِمَا يَفْعَلُونَ‏

 

คำแปล :

 

36.และส่วนมากของพวกเขามิได้ปฏิบัติตามอันใด นอกจากการเดา แท้จริงการเดาไม่อาจแทนความจริงได้ แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเขากระทำ

 

คำอธิบาย :

 

1. โองการนี้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่บรรดาผู้ตั้งภาคีได้หันเหออกจากความจริง โองการได้กล่าวว่า พวกเขามิได้ปฏิบัติตามอันใด นอกจากการเดา โองการกล่าวว่าพวกเขาติดตามความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ตั้งภาคีทั้งหมด เนื่องจากผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงส่วนใหญ่เป็นผู้บิดเบือนและโง่เขลา พวกเขาติดตามความคิดและการคาดเดาแบบผิดๆ ชนกลุ่มนี้อาจยอมรับคำชี้นำและเป็นเป้าหมายของอัลกุรอาน ขณะที่มีผู้ตั้งภาคีอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่อยู่ในระดับหัวหน้า มีความเข้าใจและต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง จึงขัดขวางแนวทางสัจธรรมและเลือกที่จะเดินไปในหนทางผิดๆ พวกเขาไม่ยอมรับการชี้นำได้ ด้วยเหตุนี้ อัลกุรอานจึงไม่สนใจพวกเขา อัลกุรอานได้ใช้คำว่า อักซัร ซึ่งหมายถึงส่วนมากแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

 

2. คำว่า ซอน ตามความหมายเดิมหมายถึง การเดา ซึ่งได้มาจากการทำสัญลักษณ์ด้วยมือ หรือด้วยสื่ออย่างอื่น แต่ก็พอที่จะทำให้มนุษย์นั้นเลื่อนความคิดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ให้พ้นจากความสงสัยและการจินตนาการ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นของความเชื่อมั่นและความรู้ คำๆ นี้ปรากฏในอัลกุรอานหลายครั้ง บางครั้งให้ความหมายว่า เป็นการคิดชนิดอ่อนแอ  หรือความคิด บางครั้งก็ให้ความหมายว่า การคิดที่แข็งแรงหรือความมั่นใจ หรือที่โดยทั่วไปเรียกว่า ความรู้นั่นเอง

 

3. นักวิชาการฝ่ายอุซูล (วิชาพื้นฐานทีใช้พิสูจน์ความจริงเท็จของวิชาอื่น) บางท่านได้ยึดโองการนี้ และกล่าวว่า ซอน หรือการเดานั้นไม่ถือว่าเป็นเหตุผลหรือข้อพิสูจน์ความจริง ซึ่งสิ่งที่เป็นเหตุผลได้นั้น เฉพาะเหตุผลแน่นอนและถูกต้องที่สุด

 

นักวิชาการฝ่ายอุซูล บางท่านกล่าวอีกว่า ด้วยการพิจารณาภายนอกของอัลกุรอาน และบริบทที่ปรากฏ เข้าใจได้ว่าวัตถุประสงค์ของโองการคือ การเดาที่ไร้พื้นฐานของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเดา ที่เชื่อถือได้หรือที่สติปัญญายอมรับ เช่น เคาะบัรวาฮิด หรือการเป็นพยานของบุคคลที่ไม่มีความยุติธรรม

 

โองการข้างต้นใช้คำว่า ซอน ถึงสองครั้งในสองประโยค ซึ่งประโยคที่สองนั้นได้อธิบายกฎรวมโดยทั่วไป กล่าวคือ ทุกการคาดเดาของมนุษย์ไม่อาจชำนะเหนือความจริงได้ จากประโยคนี้สามารถกล่าวได้ว่า ซอน นั้นมิได้เป็นเหตุผลหลักที่สมบูรณ์

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. การเดา ไม่ถือว่ามีคุณค่าในตัว สิ่งที่มีคุณค่าโดยตัวตนคือ องค์ความรู้

 

2. หลักศรัทธาในอิสลามวางอยู่บนฐานขององค์ความรู้ไม่ใช่การคาดเดา

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์