ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 84 บทยูนุส

 ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 84 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงการฝึกอบรมเยาวชนผู้ศรัทธา โดยท่านศาสดามูซา (อ.) โองการกล่าวว่า

84. وَقَالَ مُوسَى‏ يَاقَوْمِ إِن كُنتُمْ آمَنتُم بِاللَّهِ فَعَلَيْهِ تَوَكَّلُوا إِن كُنتُم مُسْلِمِينَ‏

คำแปล :

84.และมูซากล่าวว่า โอ้ หมู่ชนของฉัน  หากพวกท่านศรัทธาในอัลลอฮฺ ดังนั้น จงมอบหมายต่อพระองค์ หากพวกท่านเป็นผู้สวามิภักดิ์

คำอธิบาย :

1. โองการนี้ยังกล่าวถึงขั้นตอนที่สามในการปฏิวัติองศาสดามูซา (อ.) นั่นคือ การโน้มน้าวพลังของเยาวชน และการสร้างงานเพื่อการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามศาสดามูซา (อ.) ได้พยายามสร้างความสงบแก่ความคิด และจิตวิญญาณของพวกเขา ท่านจึงได้กล่าวกับพวกเขาด้วยคำพูดทีนิ่มนวลแฝงไว้ด้วยความเมตตาสงสารว่า โอ้ หมู่ชนของฉัน หากพวกเธอศรัทธาในอัลลอฮฺ และยืนยันในคำพูดของพวกเธอ ความศรัทธา และอิสลามแล้วละก็ พวกเธอจงมอบหมายความไว้วางใจต่อพระองค์เถิด  

2. ศาสดามูซา (อ.) ได้เริ่มการต่อสู้ในขั้นตอนนี้ด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างจิตวิญญาณของประชาชน ท่านได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ตะวักกัล (มอบหมายความไว้วางใจ) ให้แก่เยาวชน

3. คำว่า ตะวักกัล หมายถึง การมอบหมายงานให้คนอื่นและเลือกให้เขาเป็นตัวแทน

ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ตะวักกัล มิได้หมายถึงว่า บุคคลนั้นได้เลิกล้มความพยายามของตน แล้วหลบไปนั่งอยู่ในมุมหนึ่งพร้อมกับกล่าวว่า พระเจ้าคือที่ยึดมั่นสำหรับฉัน ทว่าความหมายที่แท้จริงคือ ตนได้ทุ่มเทความพยายามทั้งหมดในการทำงาน แต่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาหรือไม่สามารถขจัดอุปสรรคให้พ้นทางได้ ไม่ปล่อยให้ความหวาดกลัวแพ่งพรายเข้ามา แต่ตนได้ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องด้วยการพิงพาความเมตตาของพระเจ้า และการยึดมั่นในอาตมันบริสุทธิ์และอำนาจที่ไร้ขอบเขตของพระองค์ หรือแม้แต่ในที่ๆ ตนมีความสามารถตนก็ไม่เลิกราที่จะพึ่งพาความโปรดปรานของพระองค์ เนื่องจากทุกพลังอำนาจล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น

และนี่คือความหมายของการตะวักกัล ซึ่งสิ่งนี้ไม่สามารถแยกออกจากความศรัทธาและอิสลามได้อย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ศรัทธาคนหนึ่งเมื่อได้ยอมสวามิภักดิ์แด่อัลลอฮฺแล้ว เขาย่อมทราบดีว่าทุกอำนาจ ทุกความสามารถ และทุกอุปสรรคปัญหาเมื่ออยู่ ณ พระพักตร์ของพระองค์ล้วนเป็นสะดวกและง่ายดายทั้งสิ้น อีกทั้งยังเชื่อมั่นในสัญญาแห่งชัยชนะที่พระองค์ให้ไว้

บทเรียนจากโองการ

1.ผู้นำแห่งพระเจ้าจำเป็นต้องสร้างงาน และยังต้องให้การอบรมกลุ่มพลังที่เป็นเยาวชนให้มีความเข้าใจ และรู้จักศาสนาให้มากยิ่งขึ้น

2. การมอบหมายความไว้วางใจต่ออัลลอฮฺ คือความจำเป็นของอีมานและการสวามิภักดิ์ต่อพระองค์