ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 87 บทยูนุส

 ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 87 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้ยังกล่าวถึงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และการเตรียมพร้อมประชาชนของศาสดามูซา (อ.) โดยกล่าวว่า

87. وَأَوْحَيْنَا إِلَى‏ مُوسَى‏ وَأَخِيهِ أَن تَبَوَّءَا لِقَوْمِكُمَا بِمِصْرَ بُيُوتاً وَاجْعَلُوا بُيُوتَكُمْ قِبْلَةً وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ وَبَشِّرِ الْمُؤْمِنِينَ‏

คำแปล :

87. และเราได้วะฮฺยูแก่มูซาและพี่ชายของเขาว่า จงสร้างบ้านให้แก่หมู่ชนของเจ้าทั้งสองในอียิปต์ และจงให้บ้านของพวกเจ้าอยู่ตรงข้ามกัน (เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ) และจงดำรงนมาซ และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้มีศรัทธา (สุดท้ายจะได้รับชัยชนะ)

คำอธิบาย :

ขั้นตอนที่สี่การสร้างสรรค์เพื่อการปฏิวัติ

1. นักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่าน ใช้ประโยชน์จากโองการนี้โดยกล่าวว่า วงศ์วานอิสราอีลในยุคสมัยของท่านศาสดามูซา (อ.) เป็นกลุ่มชนที่กระจัดกระจายไปทั่วไม่มีบ้านเป็นการส่วนตัว และไม่มีศูนย์กลางเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยเหตุนี้ ศาสดามูซาและฮารูน (อ.) จึงได้รับหน้าที่มอบหมายจากพระเจ้าจัดการสร้างบ้าน และศูนย์กลางทางสังคมสำหรับพวกเขา

2. คำว่า กิบละฮฺ ตามความหมายเดิมหมายถึง ตรงกันข้ามกัน และหมายถึง การกำหนดหาทิศทางเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งวัตถุประสงค์ของคำๆ นี้ในโองการข้างต้นนั้นอาจหมายถึงการจัดสร้างบ้านให้เป็นกิบละฮฺ หรือการจัดสร้างบ้านให้ตรงข้ามกันเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติศาสนกิจของวงศ์วานอิสราอีล หรือเพื่อเป้าหมายที่ว่าเมื่อฟิรเอานฺสั่งห้ามไม่ให้ปฏิบัติศาสนกิจในสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ก็ให้ดำรงการปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้านของตนเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในอันตราย[56] แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ความหมายที่สองมีความเหมาะสมและเป้นไปได้มากที่สุด

3. ศูนย์กลางของวงศ์วานอิสราอีลและสังคมของพวกเขาอยู่ในสถานที่หนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเรือนของพวกเขา การทำเช่นนี้ให้ประโยชน์ได้หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

3.1 เพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากการต้องพึ่งพาฟิรเอานฺ โดยมีเมืองอิสระเป็นของตนเอง

3.2 เนื่องจากพวกเขาได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมีความปรารถนาที่จะปกป้องหมู่ชนของตนเองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้กระชับความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างพวกเขาให้แน่นแฟ้นขึ้น

3.3 การสร้างบ้านเมืองให้เป็นของวงศ์วานอิสราอีล เพื่อต้องการรักษาความลับและแผนการของพวกเขาเอาไว้ ไม่ให้แพร่งพรายออกไปถึงมือศัตรู และเพื่อการรู้จักคนแปลกหน้าให้ดียิ่งขึ้น

3.4 วงศ์วานอิสราอีล สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางเพื่อปฏิบัติศาสนกิจของพวกตน ในรูปแบบของการรวมตัวกันปฏิบัติ และยังใข้เป็นสถานที่ปรึกษาหารือกันของตัวแทน และวางแผนการณ์สำคัญอีกต่างหาก

4. โองการได้กล่าวแนะนำเรื่องการดำรงนมาซ เนื่องจากนมาซคือสื่อที่ดีที่สุดในการนำมนุษย์เข้าใกล้ชิดพระเจ้า และยังชำระขัดเกลาจิตวิญญาณที่โสโครกให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้เขาได้รับจิตวิญญาณที่ใหม่อยู่เสมอ

5. นมาซเป็นหนึ่งในศาสนกิจของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่มีอยู่ในบทบัญญัติของศาสดามูซา (อ.) แม้ว่ารูปแบบและเงื่อนไขในศาสนาต่างๆ จะมีความแตกต่างกันก็ตาม

6. สองโองการข้างต้นได้มีคำสั่งแก่ศาสดามูซา (อ.) ว่า ให้สร้างจิตวิญญาณใหม่แก่สังคม และจงแจ้งข่าวดีถึงผลรางวัลอันเป็นชัยชนะเป็นเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแก่พวกเขาด้วย เพื่อพวกเขาจะได้ลดความหวาดกลัว และความหวาดระแวงที่มีต่อฟิรเอานฺ โดยเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็งและความอดทน

7. สิ่งที่น่าสนใจคือ วงศ์วานอิสราอีล มาจากบุตรหลานของ ยะอ์กูบ แน่นอนว่าหมู่ชนกลุ่มหนึ่งของพวกเขาต้องมาจากบุตรหลานของ ศาสดายูซุฟ (อ.) ซึ่งท่านและพี่น้องของท่านได้ปกครองอียิปต์เป็นเวลานานหลายปีด้วยกัน พวกเขาได้ช่วยการทะนุบำรุงและสร้างอียิปต์ให้มีความมั่นคง

แต่เนื่องจากความขัดแย้งภายในประเทศและการเยื้อแย่งตำแหน่งกันเองทำให้อียิปต์กลายเป็นสังคมตกต่ำ ต้องเผชิญกับความยากลำบากและความทุกข์ระทมต่างๆ  จำเป็นต้องสร้างใหม่เพื่อให้อียิปต์กลับมามีความยิ่งใหญ่เหมือนอดีตที่ผ่านมา

บทเรียนจากโองการ :

1.จงสร้างบ้านเรือนให้มีความเหมาะสมกับสังคมและกาลเวลาแห่งยุคสมัย ซึ่งหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจของวะฮฺยู และเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของผู้นำแห่งพระเจ้า

2. การกำหนดทิศทางและรูปลักษณะของบ้านเรือนตลอดจนผังเมือง ศาสนาเป็นผู้กำหนด ดังนั้น ผู้ออกแบบบ้านและผังเมืองต้องปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา

3.ผู้ศรัทธาควรจะอยู่อาศัยให้กระจัดกระจายออกไปในเมืองอย่ารวมอยู่ในที่เดียวกัน

4. จงดำรงนมาซเพื่อสร้างงานและสร้างการปฏิวัติ

5. จงแจ้งข่าวดีแก่สังคม เพื่อให้จิตวิญญาณมีความหวัง