ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการ 88 บทยูนุส

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการ 88 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึง คำสาปแช่งของศาสดามูซา (อ.) ที่มีต่อฟิรเอานฺ โดยกล่าวว่า

88. وَقَالَ مُوسَى‏ رَبَّنَا إِنَّكَ آتَيْتَ فِرْعَوْنَ وَمَلأَهُ زِينَةً وَأَمْوَالًا فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا رَبَّنَا لِيُضِلُّوا عَن سَبِيلِكَ رَبَّنَا اطْمِسْ عَلَى‏ أَمْوَالِهِمْ وَاشْدُدْ عَلَى‏ قُلُوبِهِمْ فَلَا يُؤْمِنُوا حَتَّى‏ يَرَوُا الْعَذَابَ الأَلِيمَ‏

คำแปล :

88. และมูซาได้กล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของพวกเรา แท้จริงพระองค์ทรงประทานความสำราญและทรัพย์สิน แก่ฟิรเอานฺและชนชั้นผู้นำของเขาในชีวิตแห่งโลกนี้ โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา พวกเขาทำให้ผู้คนหลงไปจากแนวทางของพระองค์ โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทำลายทรัพย์สินของพวกเขา และโปรดทำให้หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง เพื่อไม่ให้พวกเขาศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะได้เห็นการลงโทษอันเจ็บปวด

คำอธิบาย :

โองการนี้ได้สาธยายถึงสาเหตุที่ฟิรเอานฺและพรรคพวกมีความหยิ่งจองหอง และแสดงความยโสอยู่ตลอดเวลาก็เนื่องจากว่า พระผู้อภิบาลได้ให้ทรัพย์สินและความสำราญทางโลกแก่พวกเขา

1.บรรดาชนชั้นผู้นำและผู้มั่งคลั่งทั้งหลายภารกิจของพวกเขาคือ การทำให้ประชาชนหลงทางเนื่องจาก อักษรลาม ในประโยคที่กล่าวว่า ลิยุฏิลลุ ตามหลักภาษาหมายถึง ลามที่เป็นผลสรุปหมายถึง กลุ่มชนที่มีความมั่งคลั่งและเป็นชนชั้นผู้นำ พวกเขาจะพยายามทำให้ประชาชนหลงทางไปจากแนวทางของพระเจ้า เนื่องจากโครงการของพระเจ้าคือ การปลุกประชาชาติให้ตื่นจากความหลับใหล และร่วมกันต่อต้านแผนการของพวกมั่งคลั่งทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ชนชั้นผู้นำที่มีความร่ำรวยยโสโอหังเหล่านั้น จึงกดขี่ประชาชนด้วยการทำให้หลงทางออกไปจากศาสนา เพื่อพวกเขาจะได้สามารถปล้นสะดมทรัพย์สินของประชาชนต่อไป ดังนั้น ท่านศาสดามูซา (อ.) จึงได้สาปแช่งพวกเขา โดยขอให้อัลลอฮฺ ทำลายเศรษฐกิจของพวกเขาให้ล่มจม

2. ศาสดามูซา (อ.) ได้สาปแช่งฟิรเอานฺโดยหวังใน 2 สิ่งจากพระเจ้ากล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ขอให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทำลายทรัพย์สินของฟิรเอานฺและพวกพร้องให้พินาศและไร้ค่า

ประการที่สอง ขอให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทำให้หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง ไร้สำนึกและความคิด

3. คำว่า «طمس»ความหมายในพจนานุกรมหมายถึง การลบทิ้ง หรือการทำให้สิ่งหนึ่งเสื่อมหรือหมดคุณภาพ รายงานบางบทกล่าวว่า หลังจากการสาปแช่งของศาสดามูซา (อ.) ทรัพย์สินของฟิรเอานฺกลายเป็นสิงไร้ค่าเหมือนวัตถุและหิน บางที่ต้องการจะเปรียบเปรยให้เห็นถึง ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลงทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ไร้ค่าประหนึ่งขยะและสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้คือทุนหลักของประชาชาติทั้งหลาย ดังนั้น ถ้ามันหยุดชะงักงันขึ้นมาเมื่อไหร่ความพินาศและความล่มจมก็จะเกิดขึ้นกับประเทศนั้น

4. ศาสดามูซา (อ.) ขณะที่วิงวอนอยู่นั้นได้ย้ำเตือนว่า ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วฟิรเอานฺกับพวกไม่มีทรัพย์สินอันใดทั้งสิ้น เพียงแต่ทรัพย์สินเหล่านี้ได้ตกอยู่ในครอบครองของฟิรเอานฺช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง

บทเรียนจากโองการ :

1.ทรัพย์สินถ้าตกไปอยู่ในมือของคนไม่ดี เขาก็จะใช้จ่ายไปเพื่อทำให้ประชาชนหลงทางไปจากความจริง และออกนอกศาสนา

2. การดุอาอ์ของท่านจะต้องไม่ลืมการสาปแช่งกลุ่มชนผู้อธรรมฉ้อฉล และผู้ตั้งตนเป็นศัตรูกับแนวทางของพระเจ้า