เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด ภาพรวมของบทฮูด

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด

ภาพรวมของบทฮูด :

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ พระผู้ทรงปรานี พระผู้ทรงเมตตายิ่งเสมอ

ซูเราะฮ์ (บท) อันจำเริญ ฮูด มีทั้งสิ้น 123 โองการ 1715 พยางค์ และ 7513 คำ

เนื้อหาสาระ :

เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักตัฟซีรทั้งหลายว่า อัลกุรอานบทนี้ทั้งหมดถูกประทานลงมาที่มักกะฮ์ จากรายงานทางประวัติศาสตร์ของอัลกุรอานจะพบว่า บทนี้ได้ถูกประทานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นลำดับที่ 51 หลังจากบทยูนุส และก่อนบทยูซุฟ ตามการเรียงของอัลกุรอานในปัจจุบันจะพบว่าบทฮูดอยู่ในลำดับที่ 11 พอดี

ตามทัศนะของนักตัฟซีรบางท่านกล่าวว่า การประทานอัลกุรอานบทนี้ตรงกับช่วงท้ายๆ ของความรุ่งเรืองของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวคือ ท่านได้อยู่ในมักกะฮ์ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ท่านหญิงคอดิญะฮฺ ภรรยาสุดที่รักของท่าน และอบูฏอลิบได้อำลาจากโลกไปพอดี เป็นช่วงที่ท่านศาสดาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากนานาประการ นับได้ว่าเป็นช่วงที่แสนยากลำบากที่สุดสำหรับท่าน เนื่องศัตรูได้กดดันท่าน มีการโฆษณาสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงไปในทิศทางต่างๆ  ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าจะลำบากกว่าช่วงใดๆ ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ในตอนเริ่มต้นบทจึงได้มีคำพูดในลักษณะของการปลอบใจท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และเหล่าบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย

โองการส่วนใหญ่ของอัลกุรอานบทนี้ จะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสดานูฮ์ (อ.) ขณะที่มีกองกำลังอยู่เพียงเล็กน้อยแต่สามารถเอาชนะศัตรูจำนวนมหาศาลได้อย่างง่ายดาย

นามของบท :

นามเพียงนามเดียวของบทนี้คือ ฮูด การที่ตั้งชื่อบทนี้ว่าฮูด สืบเนื่องมาจากเรื่องราวของ ท่านศาสดาฮูด (อ.) ซึ่งกล่าวไว้ในโองการที่ 50 ถึง 60 ของบทนี้ ด้วยเหตุนี้เองอัลกุรอานบทนี้จึงได้ตั้งชื่อว่า ฮูด และนามของฮูดถูกกล่าวในอัลกุรอานถึง 5 ครั้งด้วยกัน

ความประเสริฐของอัลกุรอานบทนี้ :

เกี่ยวกับความประเสริฐของอัลกุรอานบทนี้ มีรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า บุคคลใดก็ตามอ่านอัลกุรอานบทนี้เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับจำนวนผู้ศรัทธาที่ได้ศรัทธาต่อท่าน ศาสดาฮูด (อ.) และบรรดาศาสดาท่านอื่นๆ และเท่ากับจำนวนของผู้ปฏิเสธท่าน และในวันแห่งการฟื้นคืนชีพเขาจะอยู่ในตำแหน่งของชะฮีด การสอบสวนเขาจะง่ายดายยิ่งนัก

ประเด็นสำคัญจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ ผลบุญเหล่านี้สำหรับบุคคลที่อ่านอัลกุรอานบทนี้แล้ว นำเอาคำสั่งสอนไปปฏิบัติตามด้วยความเคร่งครัด โดยถือว่าสาระของอัลกุรอานบทนี้คือแบบอย่างในการดำรงชีวิตของตน

ความพิเศษของอัลกุรอานบทนี้ :

อัลกุรอานบทนี้ถ้านับตามการเรียงลำดับของบทในอัลกุรอาน จะถูกจัดวางไว้หลังบทยูนุสและก่อนบทยูซุฟ มีรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า อัลกุรอานบทฮูดนี้เองที่ทำให้ฉันชราภาพการที่ท่านศาสดามุฮัมมัด  (ซ็อล ฯ) กล่าวเช่นนี้เนื้อจากสาระของโองการที่ 112 ของบทนี้นั่นเอง

วัตถุประสงค์ของอัลกุรอานบทนี้ :

วัตถุประสงค์หลักของอัลกุรอานบทนี้ได้แก่

1. สาธยายถึงหลักการและพื้นฐานของศาสนา

2. สาธยายถึงความถูกต้องและความจริงจังในการเชิญชวนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)

3. การให้ความสนใจต่อวันแห่งการฟื้นชีพและโลกภายหลังจากความตาย

สาระสำคัญประกอบด้วย :

อัลกุรอานบทนี้ท่านจะได้รับทราบถึงสาระสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

ก. หลักความเชื่อศรัทธา

1. การพิสูจน์หลักการและพื้นฐานสำคัญของศาสนา

2. ตอบข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเชิญชวนของอิสลามและท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)

3. กล่าวถึงรางวัลตอบแทนและการลงโทษในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (โองการที่ 22-23 ของบทนี้)

4. วิพากษ์เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของอัลกุรอาน และการเชิญชวนไปสู่ความท้าทาย และการต่อสู้โดยการนำสิ่งคล้ายเหมือนกับอัลกุรอานมาสัก 1 บท (โองการที่ 13 ของบทนี้)

ข. ศีลธรรมและคุณธรรม

1. การเชิญชวนไปสู่การลุแก่โทษ (โองการที่ 3 ของบทนี้)

2. สาธยายถึงมารยาทของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ด้านคำพูดซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างสำหรับมวลมนุษย์ทั้งโลก

3. ความสัมพันธ์ด้านความเชื่อศรัทธากับการกระทำของมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีกับอีกคนหนึ่ง และบทบาทของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อชะตาชีวิตของมนุษย์

ค. บทบัญญัติ

1. มีบัญชาให้ดำรงนมาซในตอนรุ่งอรุณและตอนพลบค่ำ (โองการที่ 114 ของบทนี้)

ง. เรื่องเล่าต่างๆ

1. เรื่องราวเกี่ยวกับศาสดานูฮ์ (อ.) และชัยชนะของท่านที่มีต่อศัตรู (โองการที่ 25 และ 49)

2. เรื่องราวของศาสดาฮูด (อ.) และหมู่ชนของท่านคือ หมู่ชนอาด (โองการที่ 50-60)

3. เรื่องราวของศาสดาซอลิฮ์ (อ.) (โองการที่ 60-68)

4. เรื่องราวของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และมวลมลาอิกะฮ์ (โองการที่  69-76)

5. เรื่องราวของศาสดาลูฎ (อ.) (โองการที่ 77-83)

6. เรื่องราวของศาสดาชุอัยบฺ (อ.) (โองการที่ 84-94)

7. เรื่องราวของศาสดามูซา (อ.) (โองการที่ 97-109)

จ. เรื่องย่อยและรายละเอียดอื่นๆ

1.สาธยายถึงความสัมพันธ์ต่อเนื่องของโองการอัลกุรอาน โองการที่ 1

2. สาธยายเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กับบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงและผู้ปฏิเสธ

3. การปลอบใจท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้ปฏิเสธทั้งหลาย

4. คำสั่งให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และบรรดาผู้ศรัทธายืนหยัดต่อสู้

5. การขู่และภัยคุกคามรุนแรงที่มีต่อศัตรู

6. วิพากษ์เกี่ยวกับการสร้างท้องฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน โองการที่ 7

7. สาธยายถึงเป้าหมายการสร้าง กล่าวคือความเมตตาของพระเจ้า โองการที่ 119

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม