เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 4-7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 4-7

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงเรื่องการฟื้นคืนชีพและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า โองการกล่าวว่า

4. إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ وَهُوَ عَلَى‏ كُلِّ شَيْ‏ءٍ قَدِيرٌ

คำแปล :

4. ยังอัลลอฮฺคือการกลับของพวกท่าน และพระองค์ทรงมีอานุภาพเหนือทุกสิ่ง

คำอธิบาย :

1.โองการนี้เท่ากับเป็นหลักข้อที่ 5 ของการเชิญชวน เนื่องจากกล่าวถึงเรื่องการฟื้นคืนชีพ และอำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้า กล่าวคือถ้ามนุษย์ใส่ใจต่ออำนาจสมบูรณ์ของพระองค์ หรือพึงระวังต่อความเป็นไปได้ในการเกิดมะอาด  (การฟื้นคืนชีพ) ซึ่งมีความจริงจังกับปัญหาดังกล่าวนั้นโดยไม่ปฏิเสธแต่อย่างใด

2. โองการนี้สาธยายให้เห็นว่าเพราะเหตุใดท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงมีความกลัวแทนบุคคลที่ปฏิเสธวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าพวกท่านทั้งหลายต้องกลับคืนสู่พระองค์แน่นอน และพวกท่านต้องถูกสอบสวนโดยพระองค์ ดังนั้น ผู้ที่เป็นปรปักษ์กับอัลลอฮฺ พึงระวังเถิด จงเกรงกลัวและขอนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง

บทเรียนจากโองการ :

1. การกลับของพวกท่านไปยังอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น ฉะนั้น จงเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพเถิด

2. จงใส่ใจในอำนาจของพระเจ้า เพื่อว่าความเป็นไปได้เรื่องมะอาดจะได้ชัดเจนสำหรับท่าน และจงจริงใจกับประเด็นนี้เถิด

อัลกุรอาน โองการที่ 5 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความรอบรู้ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่มีเหนือภารกิจทั้งหมดของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง แม้ว่าเขาจะปฏิบัติอย่างลับๆ หรือซ่อนเร้นก็ตาม โองการกล่าวว่า

5. أَلَا إِنَّهُمْ يَثْنُونَ صُدُورَهُمْ لِيَسْتَخفُوا مِنْهُ أَلَّا حِينَ يَستَغْشُونَ ثِيَابَهُمْ يَعْلَمُ مَا يُسِرُّونَ وَمَا يُعْلِنُونَ إِنَّهُ عَلِيمٌ بِذَاتِ الصُّدُورِ

 คำแปล :

5. พึงรู้เถิดว่า แท้จริงพวกเขา (มุชริก) ปกปิดความลับไว้ในทรวงอกของพวกเขา เพื่อพวกเขาจะซ่อนความลับจากนบี พึงรู้เถิดว่า ขณะที่พวกเขาเอาอาภรณ์ปกคลุมตัวนั้นพระองค์ทรงรู้สิ่งที่พวกเขาปกปิด และที่พวกเขาเปิดเผย แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในทรวงอก

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

มีรายงานว่าผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงกลุ่มหนึ่งเมือพวกเขาเดินผ่านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) พวกเขาจะเดินก้มศีรษะ หรือบางครั้งจะเอาเสื้อคุมศีรษะเอาไว้ เพื่อว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะได้มองไม่เห็นพวกเขา โองการข้างต้นจึงได้ประทานลงมา เพื่อแจ้งกับพวกเขาว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงรอบรู้ทุกสภาพของพวกเขาไม่ว่าจะเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ตาม

คำอธิบาย :

1. โองการนี้อาจเป็นไปได้ที่ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงทุกการปิดบังซ่อนเร้นของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า หรือแม้แต่การหันหลังให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือขณะที่สนทนากับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็ตาม

พวกเขาจะเดินก้มศีรษะตลอดเวลา ยิ่งเมื่อเดินเข้าไปใกล้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พวกเขาจะยิ่งเดินก้มหรือแม้แต่การดึงเสื้อมาปกปิดใบหน้าและศีรษะ เพื่ออำพรางตัวเอง และเพื่อซ่อนความอคติในใจตนเอาไว้

2. โองการนี้ได้ปลอบใจท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ้อล ฯ) ว่าอย่าได้เสียใจต่อพฤติกรรมและปฏิกิริยาเลวร้ายที่ซ่อนเร้นของพวกเขา เพราะทั้งหมดอยู่ภายใต้การมองเห็นของพระเจ้าสิ้น อีกทั้งเป็นการเตือนสำทับบรรดาผู้ตั้งภาคีว่า การปิดบังซ่อนเร้นการงานของพวกเขา ไม่ยังประโยชน์อันใดทั้งสิ้น

บทเรียนจากโองการ :

1. บรรดาผู้ตั้งภาคีทั้งหลายได้แสดงปฏิกิริยาที่ซ่อนเร้นอำพรางแก่บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าเสมอ พวกเขาแสร้งเป็นยอมรับคำเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะเดียวกันก็ปิดบังความจริงเอาไว้

2. บรรดาผู้เป็นปรปักษ์กับอิสลามไม่จำเป็นต้องซ่อนเร้นการงาน เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงรอบรู้ในการงานเหล่านั้นเป็นอย่างดี

อัลกุรอาน โองการที่ 6 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงหลักประกันในการประทานเครื่องยังชีพแก่บรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และชี้ให้เห็นถึงความรอบรู้ของอัลลอฮฺ (ซบ.) โองการกล่าวว่า

6. وَمَا مِن دَابَّةٍ فِي الْأَرْضِ إِلَا عَلَى اللَّهِ رِزْقُهَا وَيَعْلَمُ مُسْتَقَرَّهَا وَمُسْتَوْدَعَهَا كُلٌّ فِي كِتَابٍ مُبِينٍ‏

คำแปล :

6. และไม่มีสรรพสัตว์ตัวใดในแผ่นดิน เว้นเสียแต่เครื่องยังชีพของมันเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงรู้ที่พำนักถาวร และที่พักชั่วคราวของมัน ทุกสิ่งอยู่ในบันทึกอันชัดแจ้ง

คำอธิบาย :

1.คำว่า (ริซกุน) หมายถึงการให้อย่างต่อเนื่อง การให้เครื่องยังชีพแก่บรรดาปศุสัตว์และให้อย่างต่อเนื่องของพระเจ้า เรียกว่า ริซกุน

แน่นอน ริซกุน นั้นครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุปัจจัยและมโนธรรม กล่าวคือดังที่คำนี้หมายรวมถึงเรื่องอาหารการกินและเครื่องยังชีพด้านวัตถุ ขณะเดียวกันก็หมายถึงวิชาการความรู้ มโนกรรม และการเป็นชะฮีด (พลีชีพในหนทางของอัลลอฮฺ) ด้วยเช่นกัน

2. คำว่า กิตาบุนมุบีน หมายถึงการบันทึกไว้โดยชัดเจน หรือการทำให้ชัดเจน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงความรอบรู้อันกว้างไกลของพระเจ้า หมายถึงทั้งนามชื่อ สถานที่ของสรรพสัตว์ทั้งหมดบนโลกนี้ถูกบันทึกไว้ในความรอบรู้ของพระเจ้าอย่างหมดสิ้น โดยไม่มีวันเล็ดรอดไปจากการจดบันทึกของพระองค์ได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น ไม่ต้องเป็นกังวลใจว่านามของท่านจะไม่ได้รับการบันทึกจากพระองค์

3. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงรอบรู้เหนือทุกสรรพสิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงประทานเครื่องชีพแก่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดบนหน้าแผ่นดิน อีกทั้งพระองค์ทรงทราบดีถึงสถานที่พำนักถาวรและไม่ถาวร ตลอดจนการเคลื่อนย้ายที่อยู่ของสิ่งเหล่านั้น พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้จักบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ใต้ก้นมหาสมุทรลึกไหลโพ้นออกไป หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตลอดจนมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ และสัตว์บกทุกชนิด ตลอดจนหมู่มวลวิหคทั้งหลาย พระองค์คือผู้ประทานเครื่องยังชีพแก่บรรดาสรรพสัตว์เหล่านี้ทั้งหมด โดยไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง

4. วัตถุประสงค์ของการที่ตรัสว่า “เครื่องยังชีพของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ” ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพยายามตระเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ต้องทำงาน อ่อนแอและเกียจคร้านได้ตามความพอใจ หรือปล่อยโอกาสให้หลุดลอยมือไปจนกระทั่งว่าความยากจนได้รุมล้อมประชาชน ทว่าวัตถุประสงค์ของโองการคือเครื่องยังชีพของประชาชนอยู่ในอำนาจของอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งขึ้นอยู่กับการขวนขวายพยายามของประชาชน ดังที่จะเห็นว่าแม้แต่ท่านศาสดามุฮัมมัด  (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เฝ้าคอยความช่วยเหลือจากคนอื่นแต่อย่างใด

5. โองการข้างต้นเปรียบเสมือนเป็นเบรกสำหรับกลุ่มชนที่บูชาโลกและมีความลุ่มหลงไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งพวกเขาได้ร่วมมือกันฉ้อฉลเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องยังชีพ และทรัพย์สิน พวกเขาได้ก่อกรรมทำเข็ญกับบุคคลอื่นโดยคิดว่า ถ้าหากพวกเขาไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับเครื่องยังชีพแน่นอน

โองการข้างต้นและรายงานอีกจำนวนมากได้กล่าวเตือนสำทับพวกเขาว่า จงอย่าแสวงหาปัจจัยยังชีพด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง ไม่อนุมัติ หรือด้วยการกดขี่ระรานคนอื่น หรือได้มาโดยผิดกฎหมายเพื่อการดำรงชีพของตนและครอบครัว จงมั่นใจเถิดว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเติมเต็มความต้องการของมนุษย์ทุกคน

6. รายงานจากท่านอิมามอะลี (อะลัยฮิสลาม) ซึ่งได้เขียนจดหมายส่งถึงบุตรชายสุดที่รักของท่าน อิมามฮะซัน มุจญฺตะบา (อะลัยฮิสลาม) ว่า โอ้ บุตรรักของฉัน พึงรู้ไว้เถิดว่าเครื่องยังชีพนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือประเภทหนึ่งลูกจะต้องขวนขวายและสรรหาด้วยตัวเอง ส่วนอีกประเภทหนึ่งเครื่องยังชีพนั้นจะมุ่งหมายมาหาเธอ[1]

แน่นอนว่าบางครั้งปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด อากาศ ฝน และการชี้นำต่างๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) หรือธรรมชาติ ไม่จำเป็นที่เราต้องขวนขวายแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้จะมาหาเรา ขณะเดียวกันถ้าเราไม่พยายามปกป้องรักษาเอาไว้ เราก็จะสูญเสียไป หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดทิ้งสิ้น

บทเรียนจากโองการ :

1.จงไว้เถิดว่าเครื่องยังชีพของเราอยู่ในอำนาจของพระเจ้า ฉะนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่นไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองตกต่ำ และจงอย่ากลัว อย่าบูชาหรือลุ่มหลงโลกจนเกินเหตุ

2. ทุกสิ่งทุกอย่างของท่านจะได้รับการจดบันทึกเอาไว้ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงล่วงรู้ดีในสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น จงอย่าระแวงหรือเป็นกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญพึงระวังในการแสวงหารปัจจัยเหล่านั้น

อัลกุรอาน โองการที่ 7 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างโลกและข้ออ้างต่างๆ ของบรรดาผู้ปฏิเสธเมื่อเผชิญหน้ากับวันแห่งการฟื้นคืนชีพ โองการกล่าวว่า

7. وَهُوَ الَّذِي خَلَقَ السَّماوَاتِ وَالْأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ وَكَانَ عَرْشُهُ عَلَى الْمَاءِ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا وَلَئِن قُلْتَ إِنَّكُم مَبْعُوثُونَ مِن بَعْدِ الْمَوْتِ لَيَقُولَنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا إِنْ هذَا إِلَّا سِحْرٌ مُبِينٌ‏

คำแปล :

 7.และพระองค์คือผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในหกวาระ และบัลลังก์ (อำนาจบริบาล) ของพระองค์อยู่เหนือน้ำ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบสูเจ้าว่า ผู้ใดในหมู่สูเจ้ามีการงานที่ดีเยี่ยม และหากเจ้ากล่าวว่า แท้จริงพวกท่านจะถูกให้ฟื้นขึ้นหลังจากที่ได้ตายไปแล้ว บรรดาผู้ปฏิเสธก็จะกล่าวว่า นี่ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากมายากลอันชัดแจ้ง

คำอธิบาย : เป้าหมายการสร้าง

โองการนี้ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญไว้ 3 ประเด็นด้วยกัน

ประการแรกกล่าวถึงการสร้างโลกและจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นการสร้างซึ่งเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงอำนาจของพระผู้อภิบาล อันเป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ อัลกุรอานจึงกล่าวว่า พระองค์คือผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินใน 6 วาระ

1.วัตถุประสงค์ของการสร้างโลกใน 6 วัน หมายถึงการสร้างใน 6 วาระที่ยาวนานหรืออาจจะสั้น เนื่องจากเมื่อพระองค์เริ่มสร้างสรรค์ยังไม่มีวันธรรมดาเหมือนที่เป็นอยู่คือหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง อีกทั้งไม่มีดวงตะวัน และไม่มีพื้นดินด้วย

2.อัลลอฮฺ (ซบ.) คือผู้ทรงเดชานุภาพยิ่ง พระองค์ทรงสร้างโลกขึ้นมาอย่างฉับพลัน โดยวางระบบการสร้างไว้ใน 6 วาระ เพื่อว่าทุกครั้งจะได้มีหน้าใหม่อันเป็นการแสดงให้ถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ

3.วัตถุประสงค์ของคำว่า อัรชุน ซึ่งตามรากหลักของคำหมายถึง เพดาน หรือสิ่งที่มีหลังคาปกคุม หรือหมายถึงบัลลังก์หรือเตียงของกษัตริย์ที่มีความสูง แต่ต่อมาคำนี้ถูกใช้ในความหมายของ อำนาจ

บางครั้งก็หมายถึงจักรวาลและสรรพสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งอำนาจของอัลลอฮฺ (ซบ.) ควบคลุมอยู่เหนือสรรพสิ่งเหล่านั้น

4. วัตถุประสงค์ของคำว่า มาอุ ซึ่งความหมายโดยทั่วไปหมายถึง น้ำ แต่บางครั้งก็หมายถึงของเหลวทุกชนิดเหมือนกัน เช่น โลหะเหลวหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน

ในการเริ่มต้นการสร้างสรรค์นั้น โลกอยู่ในลักษณะที่วัสดุเหลวร้อน โลกและจักรวาลตลอดจนรากฐานอันมั่นคงของทั้งสองอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือวัสดุเหลวที่เรียกว่าน้ำหรือกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่

หลังจากนั้น ในขั้นตอนต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวหรือการหมุนของมวลน้ำอย่างรุนแรงและมีการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งบางส่วนของพื้นผิวได้ถูกสาดออกไป มีการเชื่อมต่อและความต่อเนื่องเพื่อการแยกตัวอีกครั้ง เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา ทำให้กลุ่มก๊าซค่อยๆ หดตัวลง ในขณะที่ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มก๊าซที่อยู่ด้านในจะเริ่มรวมตัวเป็นดวงอาทิตย์ กลุ่มก๊าซที่อยู่ด้านนอกจะค่อยๆ แยกตัวออกมาเป็นวงแหวนหลายวงแหวน และในแต่ละวงแหวน จะเกิดการรวมกลุ่มกัน กำเนิด เป็นดาวบริวาร หรือดาวเคราะห์ ทั้ง 8 ดวง รวมทั้ง โลกของเรา และดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แต่ละดวงด้วย ส่วนที่เหลือ กลายเป็นดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกาบาต และเทหวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะ (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาบทแรกก็กล่าวถึงสิ่งนี้ไว้เช่นกัน)

ประการที่สอง สิ่งที่โองการข้างต้นกล่าวถึงคือ เป้าหมายของการสร้างสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลก ซึ่งเป้าหมายนั้นเป็นส่วนสำคัญของการสร้าง นั้นคือ มนุษย์และมนุษย์นั้นต้องอยู่ในหนทางของการอบรมสั่งสอนและการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์เพื่อความใกล้ชิดมากที่สุดกับพระเจ้า อัลกุรอานเน้นว่า “การสร้างครั้งใหญ่นี้ได้กระทำเพื่อพระองค์จะทรงทดสอบสูเจ้าว่า ผู้ใดในหมู่สูเจ้ามีการงานที่ดีเยี่ยม”

5. โองการข้างต้นได้กล่าวแนะนำถึง เป้าหมายของการสร้างมนุษย์ว่า พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อทดสอบแต่ไม่ใช่เพื่อตรวจสอบสภาพภายใน ความคิด หรือความรู้ของแต่ละคน ทว่าเพื่อการพัฒนาและการอบรมสั่งสอนมนุษย์ และเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ใดในหมู่สูเจ้ามีความดีและความประเสริฐมากกว่ากัน

6.โองการกล่าวว่า คุณค่าของมนุษย์ทุกคนอยู่ที่ การประพฤติดี กล่าวคือแทนที่จะให้ความสำคัญต่อความหลากหลายและปริมาณ อัลกุรอานได้เน้นเรื่องคุณภาพและการปฏิบัติ

7. รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ มิทรงปรารถนาการปฏิบัติจำนวนมากมาย ทว่าพระองค์ปรารถนาการปฏิบัติที่ถูกต้องจากท่าน ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ การปฏิบัติด้วยความนอบน้อมต่อพระเจ้ามีสมาธิ ควบคู่กับการมีเจตจำนงบริสุทธิ์[2]

8. ประการที่สาม อันถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของโองการนี้  ซึ่งโองการได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่อง มะอาด (การฟื้นคืนชีพ)  ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับปัญหาการสร้างโลก และการสาธยายถึงเป้าหมายของการสร้าง เนื่องจากการสร้างโลกมีเป้าหมายเพื่อความสมบูรณ์ของมนุษย์ทั้งหลาย ความสมบูรณ์ของมนุษย์นั้นเนื่องจากความเตรียมพร้อมที่จะดำรงชีวิตให้โลกที่มีความกว้างไพศาลขนาดมหึมา และมีความสมบูรณ์ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า ถ้าหากกล่าวกับพวกเขาว่า พวกท่านหลังจากตายไปแล้วจะฟื้นขึ้นมาอีก บรรดาผู้ปฏิเสธจะกล่าวด้วยความประหลาดใจว่า สิ่งนี้ไม่อาจเป็นไปได้ และไม่มีความเป็นจริงแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพียงมาลากลและไสยศาสตร์เท่านั้นเอง

9.ประโยคสุดท้ายของโองการนี้ ได้กล่าวถึงคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เนื่องจากบรรดาผู้ปฏิเสธกล่าวว่า คำพูดของท่านเกี่ยวกับปัญหาการฟื้นคืนชีพเป็นเพียง มายากลเท่านั้นเอง เป็นคำพูดที่ไม่มีรากที่มาแต่อย่างใด

หรือบางทีอาจบ่งชี้ถึงอัลกุรอาน กล่าวคือ บรรดาผู้ปฏิเสธกล่าวว่า อัลกุรอานนี้เป็นเพียงมายากลเท่านั้น

แต่สิ่งที่มีความเป็นไปได้คือ คำพูดแรก เพราะเมือพิจารณาจากบริบทของโองการ จะเห็นว่าโองการกำลังกล่าวถึงเรื่องมะอาด (การฟื้นคืนชีพ) ซึ่งเข้ากันได้มากกว่า

บทเรียนจากโองการ :

1.วัตถุประสงค์ในการสร้างโลกคือ การทดสอบมนุษย์ ดังนั้นจงพยายามให้มากที่สุดเพื่อเราจะได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบครั้งนี้

2. คุณภาพของการปฏิบัตินั้นมีความสำคัญมากกว่า ปริมาณของการปฏิบัติ ฉะนั้น จงพิจารณาคุณภาพของงานให้มากยิ่งขึ้น

3. ผู้ปฏิเสธวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) ไม่มีเหตุผลอันใดทั้งสิ้น ทว่าเป็นเพียงการใส่ร้ายเท่านั้น

 

อ้างอิง
[1]นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายที่ 31 อันเป็นพินัยกรรมของท่านอิมามอะลี ที่ส่งให้บุตรชายคือท่านอิมามฮะซัน (อ.) ,บิฮารุลอันวาร เล่ม 100 หน้า 39, 88

[2]ตัฟซีร บุรฮาน เล่ม 2 หน้า 207, กาฟีย์ เล่ม 2 หน้า 16 ฮะดีษที่ 4, บิฮารุลอันวาร เล่ม 67 หน้า 230 ฮะดีษที่ 6

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม