เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 16-20

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 16-20

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงการสิ้นสลายในภารกิจการงานของบรรดาผู้บูชาโลก โองการกล่าวว่า

16. أُولئِكَ الَّذِينَ لَيْسَ لَهُمْ فِي الْآخِرَةِ إِلَّا النَّارُ وَحَبِطَ مَا صَنَعُوا فِيهَا وَبَاطِلٌ مَا كَانُوا يَعْمَلُونَ‏

คำแปล :

16. ชนเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่จะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในปรโลก นอกจากไฟนรก สิ่งที่พวกเขาประกอบไว้บนโลกจะสูญสลาย และอันใดที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสีย

คำอธิบาย :

1. คำว่า ฮัตตุน ตามรากศัพท์เดิมหมายถึง สัตว์ที่เผลอตัวกินหญ้าที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองจนเกิดอาการท้องขึ้น จนทำให้สูญเสียระบบการย่อยไป สัตว์ดังกล่าวเมื่อดูภายนอกเหมือนกับอ้วนพลี แต่ภายในนั้นมีโรคร้ายแอบแฝงอยู่

ซึ่งการตีความเช่นนี้ถือว่าชัดเจน เนื่องจากการงานบางอย่างดูภายนอกเหมือนกับมีประโยชน์ แต่ภายในของมันสกปรกสิ้นดี

2. บรรดาพวกบูชาโลกทั้งหลาย ถ้าพวกเขากระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์อื่น ที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเขาจะได้รับการตอบแทนบนโลกนี้ แต่ในปรโลกพวกเขาจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดทั้งสิ้น นอกจากการงานของพวกเขายังสูญเสียไปอีก

3. บรรดากลุ่มชนที่ลุ่มหลงโลกเนื่องจากพวกเขามิได้กระทำสิ่งใดเพื่อพระเจ้า และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสมควรสำหรับตน แน่นอน พวกเขาจะต้องถูกลงโทษในไฟนรก

4. คำว่า บาฏิล ในโองการข้างต้นบางทีอาจบ่งชี้ให้เห็นการงานของพวกเขา โมฆะนับตั้งแต่เริ่มต้นและไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น  แต่พวกเขาจะได้เห็นในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ

5. รายงานบางบทจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพนั้นประชาชาติของฉันจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งพวกเขาต่างเคารพภักดีอัลลอฮฺทั้งสิ้น กลุ่มหนึ่งเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจ อีกกลุ่มเป็นผู้โอ้อวด และอีกกลุ่มเป็นผู้ลุ่มหลงโลก ในเวลานั้นอัลลอฮฺ จะตรัสกับกลุ่มผู้ลุ่มหลงโลกว่า ขอสาบานด้วยเกียรติยศและความสูงส่งของข้าว่า พวกเจ้าจงบอกซิว่า วัตถุประสงค์ของพวกเจ้าในการภักดีข้าคืออะไร พวกเขาตอบว่า พวกเราทำไปเพื่อโลก, อัลลอฮฺ ตรัสว่าสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำหาได้มีประโยชน์อันใดต่อเจ้าไม่ และสิ่งเหล่านั้นจะไม่กลับมาหาพวกเจ้า ดังนั้น จงพาพวกเขาไปลงโทษในไฟนรกเถิด

ทำนองเดียวกันชะตากรรมของพวกที่โอ้อวดก็คือ ไฟนรกเหมือนกัน แต่สำหรับกลุ่มชนที่มีความบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากพวกเขาได้กระทำทุกสิ่งเพื่ออัลลอฮฺ จึงได้รับความช่วยเหลือและได้เข้าสู่สรวงสวรรค์[1]

บทเรียนจากโองการ :

1. จงอย่าเอาโลกเป็นเป้าหมายของชีวิต เพราะในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดทั้งสิ้น และการงานของพวกท่านจะโมฆะ

2. บั้นปลายสุดท้ายของพวกบูชาโลกคือ ไฟนรก

อัลกุรอาน โองการที่ 17 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึงกลุ่มชน 2 กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือมุสลิมผู้มีศรัทธามั่นคง และผู้ปฏิเสธศรัทธาที่แตกแยก ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ โองการกล่าวว่า

17. أَفَمَن كَانَ عَلَى‏ بَيِّنَةٍ مِنْ رَبِّهِ وَيَتْلُوهُ شَاهِدٌ مِنْهُ وَمِن قَبْلِهِ كِتَابُ مُوسَى‏ إِمَاماً وَرَحْمَةً أُولئِكَ يُؤْمِنُونَ بِهِ وَمَن يَكْفُرْ بِهِ مِنَ الْأَحْزَابِ فَالنَّارُ مَوْعِدُهُ فَلَا تَكُ فِي مِرْيَةٍ مِنْهُ إِنَّهُ الْحَقُّ مِن رَبِّكَ وَلكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لَا يُؤْمِنُونَ‏

คำแปล :

17. ดังนั้น ผู้ที่มีหลักฐานอันชัดแจ้งจากพระผู้อภิบาลของเขา และติดตามด้วยผู้เป็นสักขีพยานจากพระองค์  และก่อนนั้นคัมภีร์ของมูซา เป็นผู้นำและเป็นความเมตตากระนั้นหรือ ชนเหล่านั้น (ผู้ถวิลหาความจริง) ได้ศรัทธาต่อเขา และผู้ใดจากพรรคต่าง ๆที่ปฏิเสธศรัทธาต่อเขา ดังนั้น ไฟนรกคือสัญญาของเขา ฉะนั้น เจ้าอย่าได้สงสัยเลย แท้จริง สิ่งนั้นเป็นสัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของเจ้า ทว่ามนุษย์ส่วนมากไม่มีศรัทธา

คำอธิบาย :

1. นักตัฟซีรอัลกุรอาน ส่วนใหญ่ได้แบ่งกลุ่มชนตามระบุของโองการไว้อย่างน้อย 2 กลุ่ม กล่าวคือ

กลุ่มแรก ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของโองการ ซึ่งได้อธิบายสภาพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาผู้ศรัทธาที่ได้ศรัทธาต่อท่านอย่างแท้จริง

กลุ่มที่สอง ถือเป็นวัตถุประสงค์ของโองการอีกเช่นกัน ซึ่งอธิบายสภาพของผู้ศรัทธาที่แท้จริง ซึ่งพวกเขาได้ศรัทธาต่อศาสดาด้วยเหตุผลและหลักฐานอันแจ้งชัด

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าโองการกล่าวถึงเนื้อหาสาระโดยรวม ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) คือตัวอย่างประกอบโองการที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งคำอธิบายแรกนั้นถือว่าเข้ากันกับการตีความของโองการ และรายงานจำนวนมากได้เป็นอย่างดี

2. จุดประสงค์ของคำว่า บัยยินะฮฺ หมายถึงเหตุผลหรือหลักฐานอันชัดแจ้งโนโองการข้างต้น[2]

3. จุดประสงค์ของคำว่า ชาฮิด หรือพยานตามความหมายของโองการคือ ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่แท้จริง เฉกเช่นท่านอิมามอะลี (อ.) เนื่องจากสัญลักษณ์ของความสัจจริงของศาสนาหนึ่งคือ บุคคลที่มีความเลื่อมใสศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เสียสละ และมีความเป็นสุภาพบุรุษ ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) มีปาฏิหาริย์ที่สำคัญยิ่ง 2 ประการได้แก่ อัลกุรอานกะรีม และอะลี (อ.)

4. รายงานที่เชื่อถือได้จำนวนมากจากฝ่ายชีอะฮฺ และซุนนีย์กล่าวว่า จุดประสงค์ของคำว่า ชาฮิด (พยาน) ในโองการข้างต้นหมายถึง อะลี บุตรของอบูฏอลิบ (อ.)[3]

5. บางรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า จุดประสงค์ของ ชาฮิด ในโองการหมายถึง ท่านอิมามอะลี (อ.) และตัวแทนของท่านคนต่อๆ ไป[4]

แน่นอนว่า รายงานเหล่านี้มิได้หมายถึงเป็นการจำกัดความหมายของโองการ ทว่าเป็นการอธิบายถึงองค์ประกอบสมบูรณ์ของโองการ ซึ่งความหมายของโองการครอบคลุมถึง บรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริงทุกคน เช่น อบูซัร ซัลมาล และบรรดาเซาะฮาบะฮฺ (สหาย) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ในลำดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน

5. โองการข้างต้นกล่าวถึงเฉพาะคัมภีร์เตารอตเท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกของการเผยแพร่อิสลามบนแคว้นอาหรับ เฉพาะแนวคิดของยะฮูดีย์เท่านั้นที่เผยแพร่อยู่ในสังคม ส่วนแนวคิดของคริสต์ เผยแพร่ห่างไกลไปจากแคว้นอาหรับ หรืออาจเป็นเพราะว่าคุณลักษณะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์เตารอตโดยรวมมากกว่า

6. โองการข้างต้นได้กล่าวอ้างถึง เตารอต ในฐานะที่เป็นอิมาม (ผู้นำ) ก็เนื่องจากว่า บทบัญญัติของมูซา (อ.) ได้ถูกกล่าวไว้สมบูรณ์ในคัมภีร์เตารอตนั่นเอง

7. เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้รับวะฮฺยูในลักษณะของการดลใจ หรือความรู้ประจักษ์ โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในโองการข้างต้นได้กล่าวแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า “เจ้าจงอย่าสงสัยเคลือบแคลงในสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่เจ้า” เป็นการอธิบายให้เห็นถึง วิธีการของอัลกุรอาน ซึ่งบางครั้งได้กล่าวโดยตรงกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่มีวัตถุประสงค์ไปที่ประชาชาติมุสลิมโดยรวม

8. ความสัจจริงในคำเชิญชวนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) สามารถพิสูจน์ได้ 3 วิธี กล่าวคือ

1. อัลกุรอานเป็นเหตุผลอันชัดแจ้ง

2.คัมภีร์แห่งฟากฟ้าฉบับอื่นก่อนหน้านั้นได้ชี้ให้เห็นถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นว่าชาวคัมภีร์บางคนเฝ้ารอคอยการมาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ด้วยเช่นกัน

3. การศึกษาถึงสภาพผู้ปฏิบัติตามที่แท้จริงของอิสลามเฉกเช่นท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาบุตรหลานผู้บริสุทธิ์ของท่าน

9.โองการข้างต้นกล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ศรัทธา ประเด็นชี้ให้เห็นว่าอัลกุรอานไม่ได้ถือเกณฑ์ตัดสินความจริงต้องขึ้นอยู่กับคนจำนวนมาก ทว่าเกณฑ์ตัดสินความถูกและผิดขึ้นอยู่ความเชื่อ ทัศนะต่างๆ และความประพฤติของมนุษย์

บทเรียนจากโองการ :

1.บุคคลที่มีข้อพิสูจน์และเหตุผลอันชัดแจ้ง กับบุคคลที่ไม่มีเหตุผลอันใดเลยย่อมไม่เท่าเทียมกัน

2. เกณฑ์ของความถูกต้องคือ เหตุผลและพยานไม่ใช่คนจำนวนมาก

อัลกุรอาน โองการที่ 18 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้แนะนำให้รู้จักกลุ่มชนที่อยุติธรรมที่สุด และพวกเขาได้รับการสาปแช่ง โองการกล่าวว่า

18. وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى‏ عَلَى اللَّهِ كَذِباً أُولئِكَ يُعْرَضُونَ عَلَى‏ رَبِّهِمْ وَيَقُولُ الْأَشْهَادُ هَؤُلَاءِ الَّذِين كَذَبُوا عَلَى‏ رَبِّهِمْ أَلَا لَعْنَةُ اللَّهِ عَلَى الظَّالِمِينَ‏

คำแปล :

18. และผู้ใดเล่าที่จะอธรรมยิ่งกว่าผู้กุความเท็จต่ออัลลอฮฺ พวกเขา (ในวันฟื้นคืนชีพ) จะถูกนำมาเสนอต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา และบรรดาสักขีพยานจะกล่าวว่า "พวกเขาคือบรรดาผู้ที่กล่าวเท็จต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา" พึงรู้ไว้เถิด การสาปแช่งของอัลลอฮฺจะประสบแก่บรรดาผู้อธรรม

คำอธิบาย :

1. อัลกุรอานได้กล่าวอธิบายไว้หลายที่ด้วยกันโดยใช้คำว่า อัซลัม หมายถึง ผู้อยุติธรรมที่สุด ซึ่งพระองค์ใช้กล่าวเรียกกลุ่มชนหลายกลุ่มชนด้วยกัน รากที่มาของการหันเหทั้งหลายแหล่เหล่านี้มาจาก การตั้งภาคีและการโกหกโองการต่างๆ ของพระเจ้าอันถือว่าเป็นการใส่ร้ายที่เลวร้ายที่สุด

2. ในมุมมองของอัลกุรอาน การอธรรมที่เลวร้ายที่สุดคือ กุการมุสาต่ออัลลอฮฺโดยการปฏิเสธศาสนทูตของพระองค์ หรือกุการมุสาต่อพวกเขา ซึ่งในความเป็นจริงเท่ากับพวกเขาได้กุการมุสาต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)

3. วัตถุประสงค์ของคำว่า สักขีพยาน (ชาฮิด) ในโองการข้างต้น หมายถึง บรรดาศาสดาและมวลมลาอิกะฮฺทั้งหลาย หรืออาจหมายถึงเจ้าหน้าที่บันทึกการกระทำของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้อาจเป็นไปได้ว่าโองการมีความหมายกว้าง ครอบคลุมความหมายดังกล่าวทั้งหมด

แต่อัลกุรอานบางโองการกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) บรรดาศาสดา และอวัยวะส่วนต่างๆ บนร่างกายของเราคือ สักขีพยานในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ[5]

4. คำว่า สาปแช่ง (ละอ์นัต) หมายถึง การทำให้ห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ ซึ่งในโองการข้างต้นจะเห็นว่าบรรดาผู้อธรรมได้รับการสาปแช่งเอาไว้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้กล่าว หรือผู้เรียกร้องการสาปแช่งนั้นคือ สักขีพยาน

บทเรียนจากโองการ :

1. กุการมุสาต่ออัลลอฮฺ ถือเป็นการอธรรมวัฒนธรรมและอารยธรรมส่วนหนึ่ง

2. ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะมีสักขีพยานจำนวนมากมาย ยืนยันถึงการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น พึงระวังความประพฤติของตนไว้ให้ดี

3.จงประณามสาปแช่งบรรดาผู้อธรรมที่กุการมุสา

อัลกุรอาน โองการที่ 19 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงคุณลักษณะ 3 ประการของบรรดาผู้กดขี่ โองการกล่าวว่า

19. الَّذِينَ يَصُدُّونَ عَن سَبِيلِ اللَّهِ وَيَبْغُونَهَا عِوَجاً وَهُمْ بِالْآخِرَةِ هُمْ كَافِرُونَ‏

คำแปล :

19. บรรดาผู้กีดกัน (มนุษย์) จากทางอัลลอฮฺ และพวกเขาต้องการที่จะให้ (ทาง) บิดเบือน และพวกเขาคือผู้ปฏิเสธต่อปรโลก

คำอธิบาย :

1. บรรดาผู้อธรรมทั้งหลายได้ใช้สื่อต่างๆ ตลอดจนการโฆษณา และการใช้วิธีการต่างๆ ที่จะบีบบังคับและกีดกันผู้คนให้หันเหไปจากหนทางของอัลลอฮฺ

2. บรรดาผู้อธรรมทั้งหลายได้ใช้วิธีการหันเห การตีความอัลกุรอานโดยใช้ความคิดเห็นของตัวเอง และการปกปิดความจริง กีดกันมนุษย์ไปจากหนทางของอัลลอฮฺ เพื่อว่าผู้ที่ถวิลหาความจริงจะได้ไม่พบความจริง และไม่สามารถเข้าหนทางที่เที่ยงธรรมได้

3. บรรดาผู้อธรรมต่างไม่เชื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพและปฏิเสธ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเด็นนี้คือ จุดเปลี่ยนแปลงและเป็นจุดหันเหประเด็นอื่น

4. คำว่า ซุลม์ (อธรรม) หมายถึงการหันเหทุกประเภท หรือการครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงประเด็นความจริง การกระทำ คุณลักษณะ และความเชื่อ ด้วยเหตุนี้เอง คุณลักษณะ 3 ประการข้างต้นจึงรวบอยู่ในความหมายของคำว่า กดขี่ ฉะนั้น ผู้กดขี่ข่มเหงจึงถูกอธิบายด้วยคุณลักสมบัติดังกล่าว

5. รายงานบางบทกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของผู้อธรรมในโองการข้างต้นหมายถึง บรรดาผู้ตั้งตนเป็นศัตรูกับอาลิมุฮัมมัด (ลูกหลานของท่านศาสดา) ซึ่งบางรายงานได้เอ่ยนามของคนเหล่านั้นเอาไว้ด้วย และระบุว่าพวกเขาคืออุปสรรคกีดขวางของอัลลอฮฺและอิมามัต และพวกเขาได้ทำให้ผู้อื่นหลงทางไปจากความจริง[6]

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารายงานเหล่านี้ได้สาธยายโองการไปตามความสอดคล้องในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์

บทเรียนจากโองการ :

1. การกีดขวางแนวทางของอัลลอฮฺ หรือการเบี่ยงเบน หรือทำให้หันเหออกไปล้วนเป็นการกดขี่ทั้งสิ้น

2. จงอย่าต่อสู้กับหนทางของอัลลอฮฺ เพราะในที่สุดแล้วท่านจะกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา

อัลกุรอาน โองการที่ 20 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคุณลักษณะอีกหลายประการของเหล่าบรรดาผู้อธรรม โอกงการกล่าวว่า

20. أُولئِكَ لَمْ يَكُونُوا مُعْجِزِينَ فِي الْأَرْضِ وَمَا كَانَ لَهُمْ مِن دُونِ اللَّهِ مِنْ أَوْلِيَاءَ يُضَاعَفُ لَهُمُ الْعَذَابُ مَا كَانُوا يَسْتَطِيعُونَ السَّمْعَ وَمَا كَانُوا يُبْصِرُونَ‏

คำแปล :

20. ชนเหล่านี้จะไม่รอดพ้นในแผ่นดินนี้ และพวกเขาไม่มีผู้คุ้มครองอื่นจากอัลลอฮฺ การลงโทษแก่พวกเขาจะถูกเพิ่มเป็นสองเท่า พวกเขาไม่สามารถที่จะฟัง (ความจริง) ได้ และมองไม่เห็น

คำอธิบาย :

1.โองการกล่าวถึงการลงโทษเป็นสองเท่าแก่บรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย บางทีอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาหลงทางและกระทำความผิด และยังทำให้ผู้อื่นหลงทางตามเขาไปด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบความผิดพลาดของคนอื่น จึงถูกลงโทษเป็นสองเท่า

2. โองการข้างต้นกล่าวว่าบรรดาผู้อธรรมไม่สามารถรับฟังความจริงได้ เนื่องจากความจริงเป็นสิ่งหนักอึ้งสำหรับพวกเขา จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถรับฟังความจริง

อีกนัยหนึ่ง พวกเขาตั้งใจปิดหูปิดตาของตนเองเนื่องจากความอคติ และการไม่ปฏิบัติในภารกิจ อีกทั้งไม่ยอมรับและไม่ยอมเข้าใจในความจริง แน่นอน เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการกระทำของพวกเขาไม่อาจปฏิเสธการแบกรับผิดชอบในหน้าของตนได้

บทเรียนจากโองการ :

1.จงอย่าเป็นผู้อธรรมเด็ดขาด เนื่องจากผู้อธรรมนั้นไม่สามารถรอดพ้นการลงโทษของอัลลอฮฺ (ซบ.) ไปได้ อีกทั้งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์อีกต่างหาก

2. บรรดาผู้อธรรม หมายถึงผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วยกุการมุสาต่ออัลลอฮฺ และทำให้ตนเองและผู้อื่นหลงทาง จงรอคอยการลงโทษอันแสนสาหัสจากอัลลอฮฺเถิด ซึ่งพวกเขาจะได้รับการลงโทษเป็น 2 เท่าจากพระองค์

3. จงสดับรับฟังความจริง และจงพิจารณาความถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้ท่านหลงทางได้ด้วย

 

อ้างอิง

[1]ตัฟซีรดุรุลมันซูร เล่ม 3 หน้า 323 (ดารุลมะอฺริฟะฮฺ) อัลมีซาน เล่ม 10 หน้า 181, มัจญฺมะอุซซะวาอิด เล่ม 10 หน้า 222, 350, อัลมุอ์ญิม เอาซัต เล่ม 5 หน้า 209, อัลอุฮูด อัลมุฮัมมะดียะฮฺ หน้า 13

[2]จุดประสงค์ของคำว่า มัน หมายถึงท่านศาสดามุฮัมมัด ส่วนจุดประสงค์ของ บัยยินะฮฺ หมายถึงอัลกุรอาน ส่วนวัตถุประสงค์ของคำว่า ชาฮิด ซึ่งมีความเป็น ญินซ์ หมายถึงประเภทของผู้ศรัทธาที่แท้จริง ซึ่งหัวหน้าของมวลผู้ศรัทธาก็คือ อะลี อมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ส่วนคำสรรพนามในประโยคที่ว่า มินฮุ ย้อนกลับไปหาอัลลอฮฺ และคำสรรพนานมในประโยคที่ว่า ก็อลละฮู นั้นย้อนกลับไปมาอัลกุรอาน หรือศาสดามุฮัมมัด ซึ่งทั้งประโยคนี้ในเชิงภาษาถือว่า เป็นประโยคเริ่มต้น ส่วนประโยครอง (เคาะบัร) นั้นถูกซ่อนไว้ ซึ่งประโยครองที่ซ่อนไว้คือ «كَمَنْ لَيْسَ كَذلِكَ»ดังบุคคลที่มิได้เป็นเช่นนั้น หรืออาจเป็นประโยคที่ว่า «كَمَنْ يُرِيْدُ الْحَياةَ الدُّنْيا».ดังบุคคลที่ต้องการชีวิตทางโลก

[3]ตัฟซีรโบรฮาน เล่ม 2 หน้า 211, ตัฟซีรนูรซะเกาะลัยนฺ , ตัฟซีรกุรฏุบียฺ เล่ม 9 หน้า 16 มัจญฺมะอุลบะยาน และตัฟซีรเล่มอื่นๆ อีก, อุซูลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 190, บิฮารุลอันวาร เล่ม 35 หน้า 393,394

[4]อ้างแล้วข้างต้น

[5] อัลกุรอาน บทฮัจญฺ 17, บทนิซาอฺ 41, มาอิดะฮฺ 17, ก๊อฟ 21, นูร 24

[6]ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 439, บิฮารุลอันวาร เล่ม 23 หน้า 342

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม