เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 36-40

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 36-40

 

อัลกุรอาน โองการนี้ ได้ประกาศความสิ้นหลังจากการได้รับความช่วยเหลือของกลุ่มประชาชาตินูฮฺ ซึ่งนูฮฺรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยพวกเขา โองการกล่าวว่า

36. وَأُوحِيَ إِلَى‏ نُوحٍ أَنَّهُ لَن يُؤْمِنَ مِن قَوْمِكَ إِلَّا مَن قَدْ آمَنَ فَلَا تَبْتَئِسْ بِمَا كَانُوا يَفْعَلُونَ‏

คำแปล :

36. และได้มีวะฮฺยูแก่นูฮฺว่า"จะไม่มีผู้ใดในหมู่ชนของเจ้าสักคนที่จะศรัทธา เว้นแต่บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้ว ดังนั้น เจ้าอย่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ

คำอธิบาย :

1.โองการก่อนหน้าหน้าได้ชี้ให้เห็นขั้นตอนแรกของการปฏิวัติสังคมของนูฮฺ (อ.) กล่าวคือ ขั้นตอนการเผยแผ่และการชี้นำทางด้วยเหตุผลซึ่งมีผลต่อประชาชาติของท่าน แม้จะไม่มากมายก็ตาม เนื่องจากท่านศาสดานูฮฺ (อ.) ได้พยายามเผยแผ่อยู่ยาวนาน แต่มีผู้ศรัทธาเพียงน้อยนิดเท่านั้น

แต่โองการนี้นี้และโองการถัดไปได้กล่าวถึงขึ้นตอนที่สองของการเผยแผ่ของนูฮฺ อันเป็นขั้นการสิ้นสุดระยะเวลาการเผยแผ่ด้วย นั่นหมายถึงว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่จะคิดบัญชีกับสังคมของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และมีความดื้อรั้น บรรดาผู้ปฏิเสธที่ไม่มีความหวังที่จะชี้นำพวกเขาแม้แต่น้อย

2. โองการนี้ตามความเป็นจริงแล้วได้แจ้งข่าวอันเร้นลับ ให้แก่นูฮฺ (อ.) ได้รับทราบว่า ในอนาคตจะไม่มีผู้ใดในหมู่ชนของท่านที่จะศรัทธาอีก แน่นอน บรรดาศาสดาทุกท่านจะประพฤติตนไปตามคำวะฮฺยูของพระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าจึงแจ้งข่าวในอนาคตกาลผ่านวิธีการเหล่านี้

3. จากโองการนี้เข้าใจได้กว่า การลงโทษของพระเจ้า เช่น อายุที่พัดโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ไม่ได้เป็นการล้างแค้นแต่อย่างใด ทว่าเป็นหนึ่งในการคิดบัญชีกับมนุษย์ เพื่อให้ปวงผู้เป็นกัลญาณชนได้หลงเหลืออยู่ต่อไป กล่าวคือบรรดาผู้อธรรมที่ยโสโอหังทั้งหลาย ซึ่งไม่มีความหวังเลยว่าพวกเขาจะศรัทธาหรือยอมรับคำชี้นำ จะได้ถูกขจัดให้หมดไปจากโลกนี้ เพื่อตำแหน่งที่อยู่ของเขาจะได้ถูกทดแทนด้วยคนดีที่มีศรัทธาทั้งหลาย เนื่องจากสรรพสิ่งมีอยู่ทั้งปวงในแต่ละประเภทได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์และเป้าหมาย ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้หันห่างและหลงทางไปจากเป้าหมายโดยสมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พวกเขาจะดำรงอยู่ต่อไปอีก ดังนั้น จึงถูกทำลายให้สิ้นซากไปในที่สุด

บทเรียนจากโองการ :

1. การเผยแผ่ มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นห่วงเป็นใย หรือเป็นทุกข์กับบุคคลที่มีความเหมาะสมและคู่ควรต่อการความดี ซึ่งมีความหวังว่าพวกเขาจะศรัทธาและยอมรับคำชี้นำ

2.ถ้าหากพระเจ้าทรงสิ้นหวังจากประชาชาติ พระองค์จะปล่อยให้พวกเขาระหนไปจนกระทั่งได้เผชิญกับการลงโทษ

อัลกุรอาน โองการที่ 37 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้ประกาศการถูกทำลายให้สิ้นซากของกลุ่มชนของนูฮฺ (อ.) ที่อธรรมและแสดงความยโสโอหัง อีกทั้งยังได้มีพระบัญชาให้นูฮฺสร้างเรือขนาดใหญ่ โองการกล่าวว่า

37. وَاصْنَعِ الْفُلْكَ بِأَعْيُنِنَا وَوَحْيِنَا وَلَا تُخَاطِبْنِي فِي الَّذينَ ظَلَمُوا إِنَّهُم مُّغْرَقُونَ‏

คำแปล :

37. และเจ้าจงสร้างเรือภายใต้การดูแลของเรา และตามการวะฮฺยูของเรา และอย่ามาร้องอุทธรณ์ต่อข้าให้แก่บรรดาผู้อธรรม แท้จริงพวกเขาจะถูกจมน้ำตาย

คำอธิบาย :

1. จุดประสงค์ของประโยคที่ว่า “เจ้าจงสร้างเรื่อภายใต้การดูแลของเรา” ก็คือความพยายามของนูฮฺทั้งหมดในการสร้างเรือนั้นอยู่ในในอำนาจของเขา ดังนั้น เจ้าจงดำเนินงานต่อไปด้วยความสบายใจเถิด แน่นอน ท่านศาสดาได้ปฏิบัติไปตามการวะฮฺยูชองพระเจ้า และภายใต้การดูแลของพระองค์

2. คำว่า เอาฮัยนา เข้าใจได้ว่านูฮฺ (อ.) ได้เรียนรู้วิธีสร้างเรือจากวะฮฺยูของพระเจ้า แน่นอนว่าในความเป็นจริงก็ต้องเป็นดังนั้น เนื่องจากนูฮฺ ไม่มีวันรู้ได้เลยว่าคลื่นและพายุที่จะเกิดนั้นมีความใหญ่มหึมาขนาดใด เพื่อจะได้สร้างเรือให้มีความเหมาะสมกับคลื่นและพายุนั้น

3. การให้ความอนุเคราะห์ (ชะฟาอัต) ของบรรดาศาสดาทั้งหลาย หรือการอุทธรณ์ขอการอภัยโทษให้แก่ประชาชาติ ไม่ได้ถูกยอมรับไปทุกเงื่อนไข ดังนั้น ถ้ากลุ่มชนหนึ่งอธรรมฉ้อฉล และแสดงความอหังการมากซึ่งไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการได้รับการอภัยเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้นการลงโทษพวกเขาเป็นสิ่งแน่นอนยิ่ง การอนุเคราะห์ของท่านศาสดาจะไม่ตกไปถึงพวกเขาเด็ดขาด หรือจะไม่ถูกตอบรับจากพระเจ้า

4.โองการนี้ตอนแรกกล่าวถึงเรื่องการสร้างเรือ เพื่อเตรียมพร้อมการช่วยเหลือประชาชาติและเหล่าสหายของท่านศาสดานูฮฺ (อ.) หลังจากนั้นได้กล่าวถึงการลงโทษและการจมน้ำตายของเหล่าบรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ความเมตตากรุณาของพระเจ้านั้นมาก่อนมากริ้วโกรธของพระองค์เสมอ

5. การสร้างเรือขนาดใหญ่ของนูฮฺ (อ.) เป็นการสร้างไปตามพระบัญชาของพระเจ้า โดยผ่านน้ำมือของนูฮฺ ดังนั้นตามความเป็นจริงแล้วผู้สร้างก็คือ อัลลอฮฺ (ซบ.) นั่นเอง

บทเรียนจากโองการ :

1. บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าเปรียบเสมือนเรือที่ให้ความช่วยเหลือประชาชาติตลอดเวลา

2.เกี่ยวกับบรรดาผู้อธรรมทั้งหลายที่ดื้อรั้น จงอย่าให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเขาเด็ดขาด

อัลกุรอาน โองการที่ 38,39 บทฮูด

อัลกุรอาน ทั้งสองโองการนี้ได้ชี้ให้เห็นถึง การเย้ยหยันของชนชั้นนำจากกลุ่มชนของนูฮฺ เนื่องจากท่านได้สร้างเรือไว้ในป่าลึก และยังได้กล่าวถึง คำตอบของนูฮฺ ที่มีต่อการขู่บังคับเหล่านั้น โองการกล่าวว่า

38 و39. وَيَصْنَعُ الْفُلْكَ وَكُلَّمَا مَرَّ عَلَيْهِ مَلَأٌ مِن قَوْمِهِ سَخِرُوا مِنْهُ قَالَ إِن تَسْخَرُوا مِنَّا فَإِنَّا نَسْخَرُ مِنكُم كَمَا تَسْخَرُونَ* فَسَوْفَ تَعْلَمُونَ مَن يَأْتِيهِ عَذَابٌ يُخْزِيهِ وَيَحِلُّ عَلَيْهِ عَذَابٌ مُقِيمٌ‏

คำแปล :

38. และนูฮฺเริ่มสร้างเรืออย่างชาญฉลาด และคราใดที่บุคคลชั้นนำจากหมู่ชนของเขาผ่านเขา พวกเขาก็เยาะเย้ย เขา (นูฮฺ) กล่าวว่า หากพวกท่านหัวเราะเยาะพวกเรา แท้จริง เราจะหัวเราะเยาะพวกท่าน ดั่งที่พวกท่านหัวเราะเยาะเรา

39. แล้วพวกท่านจะได้รู้ในไม่ช้านี้ว่า ผู้ใดที่การลงโทษอันอัปยศจะมายังเขา และการลงโทษอันยั่งยืนจะประสบแก่เขา

คำอธิบาบาย :

1. คำว่า มะลาอุน หมายถึงชนชั้นผู้นำ พวกเศรษฐีที่มีความยโสโอหัง ซึ่งพวกเขาได้เย้ยหยันพร้อมกับหัวเราะเยาะนูฮฺ (อ.) และเหล่าสหายผู้อ่อนแอของท่าน เนื่องจากนูฮฺ (อ.) กับผู้ปฏิบัติตามได้สร้างเรือขนาดใหญ่โตมหึมากลางป่าที่ไม่มีน้ำ ไม่มีทะเล แต่นูฮฺ (อ.) ได้ปกป้องการเย้ยหยันด้วยความยากลำบาก พร้อมกับขู่กรรโชกบรรดาชนชั้นผู้นำเหล่านั้น

2. โองการข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่าศาสดานูฮฺ (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้กับบรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์ด้วยความเข้มแข็ง และท่านได้ดำเนินการสร้างเรือต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจนกระทั่งเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

3. บรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับศาสดานูฮฺ (อ.) ได้ยินข่าวว่า ในไม่ช้านี้น้ำจะท่วมใหญ่ และน้ำจะพัดพาพวกเจ้าไปทุกที่ และพวกเขาจะส่งร้องตะโกนท่ามกลางกระแสคลื่นยักษ์ เพื่อขอความช่วยเหลือ และในวันนั้นบรรดาผู้ศรัทธาจะหัวเราะเยาะพวกเขาดั่งที่พวกเขาเคยหัวเราะเยาะมาก่อน

4. ความทุกข์ยากของบรรดาผู้ศรัทธาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่การลงโทษของพระเจ้าที่มีต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงทั้งหลาย มันได้ทำลายล้างพวกเขาชนิดไม่มีวันจบสิ้น แน่นอน ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีวันเปรียบเทียบกันได้อย่างแน่นอน

5. การสร้างเรือในยุคสมัยของนูฮฺ (อ.) นั้นวิวัฒนาการยังไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน ขณะที่เรือของนูฮฺนั้นมีความใหญ่โตมหึมา และต้องใช้เวลาสร้างอยู่นานหลายปี เพื่อว่าจะได้สามารถบรรดาบรรดาผู้ศรัทธา และสรรพสัตว์บางชนิดขึ้นไปบนเรือนั้น อีกทั้งต้องสามารถทนต่อกระแสคลื่นที่สาดซัดโหมกระหน่ำเข้ามาอย่างรุนแรงตลอดเวลา

6. การเผชิญหน้ากับเสียงหัวเราะเยาะของเหล่าผู้ปฏิเสธ มิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เนื่องจากผลตอบแทนของมันเลวร้างยิ่งกว่าหลายเท่านัก

บทเรียนจากโองการ :

1.เหล่าบรรดาศัตรูของท่านศาสดาไม่มีเหตุผลอันใดทั้งสิ้น การงานส่วนใหญ่ของพวกเขาคือการหัวเราะเยาะและการเย้ยหยัน

2. จงอย่ากลัวการโจมตีด้านการเผยแผ่ของศัตรู ทว่าจงตอบโต้เหมือนที่พวกเขาได้กระทำ และทำให้พวกเขาเกรงกลัวต่อวันกิยามะฮฺ

อัลกุรอาน โองการที่ 40 บทฮูด

อัลกุรอานโองการนี้ บ่งบอกให้เห็นถึงการเริ่มต้นการลงทาที่มีต่อกลุ่มชนของศาสดานูฮฺ (อ.) พร้อมกับการช่วยเหลือบรรดาผู้ศรัทธา และการรักษาพันธุ์สรรพสัตว์บางประเภทเอาไว้ โองการกล่าวว่า

40. حَتَّى‏ إِذَا جَاءَ أَمْرُنَا وَفَارَ التَّنُّورُ قُلْنَا احْمِلْ فِيهَا مِن كُلٍّ زَوْجَيْنِ اثْنَيْنِ وَأَهْلَكَ إِلَّا مَن سَبَقَ عَلَيْهِ الْقَوْلُ وَمَنْ آمَنَ وَمَا آمَنَ مَعَهُ إِلَّا قَلِيلٌ‏

คำแปล :

40. จนกระทั่งเมื่อคำบัญชา (การลงโทษ) ของเราได้มา และน้ำได้พวยพุ่งออกจากเตา เรากล่าว (กับนูฮฺ) ว่า จงบรรทุกสัตว์เป็นคู่ ๆ ไว้ในเรือ พร้อมกับครอบครัวของเจ้าและผู้ศรัทธา ยกเว้นผู้ที่พระดำรัสได้ลุล่วงแก่เขาก่อนแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดศรัทธาร่วมกับเขานอกจากจำนวนเล็กน้อย

คำอธิบาย :

1.คำว่า อัตตันนูรรุ หมายถึงบริเวณที่ไฟได้ลุกโชติช่วงขึ้นมา หรือ เตา ที่ใช้ทำโรตีสมัยโบราณของชนแถบอาหรับนั่นเอง แต่จุดประสงค์ของคำนี้ในโองการข้างต้นหมายถึง ขนาดของน้ำที่เอ่อล้นขึ้นสูงเต็มสองฝั่งตลิ่ง เหมือนกับว่าภายในเตานั้นน้ำได้ต้มมนุษย์จนเดือดพล่าน ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการลงโทษอย่างรุนแรง จนกระทั่งว่านูฮฺ (อ.) และพรรคพวกได้เตรียมพร้อมตัวเองที่จะขึ้นเรือ ดังปรากฏในรายงานบางบทเช่นกัน (ตัฟซีรซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 443)

หรือวัตถุประสงค์อาจเป็นความหมายเชิงเปรียบเทียบให้เห็น กล่าวคือคำว่า ตะนูร อาจหมายถึงความกริ้วโกรธของพระผู้อภิบาลที่ได้ลุกโชติช่วงขึ้น ประหนึ่งประกายไฟที่พวกพุ่งขึ้นมา

อย่างไรก็ตามความหมายทั้งสองตามกล่าวมา อาจเป็นไปได้ทั้งสิ้นและวัตถุประสงค์ของโองการอาจหมายถึงทั้งสองก็ได้

2. ครอบครัวของบรรดาผู้ศรัทธาและนูฮฺ (อ.) ได้รับการช่วยเหลือ แต่ภรรยาและบุตรของนูฮฺซึ่งไม่ยอมศรัทธาได้จมน้ำตาย เนื่องจากเงื่อนไขของการลงเรือคือ ความศรัทธา เกี่ยวกับภรรยาและบุตรของนูฮฺ (อ.) จะกล่าวอธิบายในโองการต่อไป

3. รายงานบางบทกล่าวว่า สถานที่ดำรงชีวิตของนูฮฺ (อ.) และเหล่าบรรดาผู้ศรัทธากับท่านนั้นอยู่ใกล้ๆ กับกูฟะฮฺ (ชื่อเมืองๆ หนึ่งในประเทศอีรัก) ท่านศาสดานูฮฺ (อ.) ได้ใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่นั้นประมาณ 950 ปี ขณะที่อยู่ท่านได้ประกาศเชิญชวนประชาชนไปสู่แนวทางที่เป็นสัจธรรมความจริง[1]

4. ศาสดานูฮฺ (อ.) ได้เผยแผ่อยู่นานหลายปี แต่มีผู้คนศรัทธากับท่านเพียงเล็กน้อย ซึ่งตามรายงานกล่าวว่าจำนวนของพวกเขามีเพียง 80 คนหรือน้อยกว่านั้น[2] สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนของนูฮฺ (อ.) เป็นผู้อกตัญญูโดยแท้จริง เนื่องจากเขาไม่ขอบคุณในความโปรดปราน

5. ได้มีบัญชาแก่นูฮฺ (อ.) ว่า ให้บรรทุกสัตว์เป็นคู่ๆ ไว้ในเรือ ซึ่งนูฮฺ ได้คัดเลือกสัตว์และต้นไม้เป็นคู่ๆ ไว้ในเรือของท่าน

วัตถุประสงค์ที่ได้กระทำเช่นนั้นก็เพื่อรักษาพันธุ์สัตว์ให้มีชีวิตอยู่บนโลกต่อไป หรืออาจเป็นเพราะว่าในแถบนั้นได้เกิดภัยพิบัติขึ้นซึ่งอาจกล่าวได้ว่าบุคคลแรกที่ได้ลงมือช่วยเหลือชีวิตสัตว์และชีวภาพให้คงเหลืออยู่คือ ศาสดานูฮฺ (อ.) นั่นเอง

6. ตามรายงานกล่าวว่า เรือของศาสดานูฮฺ (อ.) มีความใหญ่โตมาก บางรายงานกล่าวว่าเรือของศาสดานูฮฺ (อ.) มีความยาวถึง 600 เมตร กว้างถึง 400 เมตร สูง 40 เมตร (ตัฟซีรซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 446)  ด้วยเหตุนี้ เรือของศาสดานูฮฺจึงสามารถบรรทุกบรรดาสรรพสัตว์ไว้ได้จำนวนมากมาย

7. โองการนี้ด้านหนึ่งได้กล่าวถึงภรรยาและบุตรของนูฮฺ (กันอาน.) ที่ไม่ศรัทธา ซึ่งเรื่องราวของพวกเขามีกล่าวไว้ในโองการถัดไป เนื่องจากการหลงผิดและหันเหไปจากแนวทางศรัทธา ประกอบกับการมีสัมพันธ์กับพวกปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย พวกเขาจึงได้แยกตัวไปจากนูฮฺ และไม่มีสิทธิลงเรือดังกล่าว เนื่องจากดังกล่าวไปแล้วว่า เงือนไขของการลงเรือร่วมกับนูฮฺ (อ.) คืออีมาน (ศรัทธา) นั่นเอง

บทเรียนจากโองการ :

1.ความศรัทธาคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอดพ้นจากการลงโทษของพระเจ้า

2.จงรักษาสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมสัตว์ทั้งหลาย

สรรพสัตว์ในอัลกุรอาน

1) นามชื่อสัตว์ที่ปรากฏในอัลกุรอาน

ช้าง (บทฟีล, 3) อูฐ (บทอันอาม, 142-145; บทฮัจญ์, 37; บทวากิอะฮฺ, 55; บทตักวีร, 4; บทมุรซะลาต, 33; บทยูซูฟ, 65; อะอ์รอฟ 40,173, และ บทมาอิดะฮฺ, 103), ยุง (บทบะเกาะเราะฮฺ, 26), ม้า ลา และฬ่อ  (บทนะฮฺลุ, 8), วัว (บทอันดาม, 144; บทบะเกาะเราะฮฺ, 64 และ 68 และบทยูซุฟ 43), งูใหญ่และงูเล็ก สิ่งที่คล้ายกับงู (บทฮิจร์, 27; บทฏอฮา, 20, และบทอะอ์รอฟ, 107), ตั๊กแตน (บทอะอ์รอฟ , 33), ลา (บทญุมอะฮฺ, 5; บทมุดัรซิร, 50 และ บทนะฮฺลุ, 8), ปลา (บทอะอ์รอฟ 163, บทกะฮฺฟิ 63), สุกร (มาอิดะฮฺ, 60, บะเกาะเราะฮฺ, 173), ม้า (บทอาลิอิมรอน, 14; ซ็อด 31 บทอาดิยาต, 1), สุนัขจิ้งจอก (บทยูซุฟ 13), แมลงวัน (บทฮัจญ์, 73), แกะ (บทอันอาม, 143; บทซ็อด 23 และ 24 บทอันอาม, 164), ลูกวัว (บะเกาะเราะฮฺ, 51), หนู (สะบะอ์, 16),แมงมุม (อังกะบูต, 41), สิงห์โต (บทมุดัรซิร, 51), เหา (บทอะอ์รอฟ, 133), สุนัข (บทอะอ์รอฟ, 176), แพะ (บทอันอาม, 143), ผึ้ง (บทนะฮฺลุ, 68), มด (บทนัมลุ , 18) และนกหัวขวาน (บทนัมลุ, 20)

2) ชื่อบทอัลกุรอานบางบทเป็นชื่อสัตว์ เช่น บะเกาะเราะฮฺ (วัว) นะฮฺลุ (ผึ้ง) นัมลุ (มด) อังกะบูต (แมงมุม) อาดิยาต (ม้าทั้งหลาย) ฟีลวะอันอาม (ปศุสัตว์ทั้งหลาย)

3) ประโยชน์ของบรรดาสรรพสัตว์

3.1 เนื้อสัตว์เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ทั้งหลาย (บทมาอิดะฮฺ 1)

3.2 อาหารที่ทำมาจากนำน้ำนม (บทอันนะฮฺลุ 16)

3.3 อาหารที่ได้มาจากการล่าสัตว์ในทะเล (บทอันนะฮฺลุ 14, บทมาอิดะฮฺ 96)

3.4 การทำเครื่องนุ่งห่มจากขนและหนังสัตว์ (บทอันนะฮฺลุ 5)

3.5 การใช้ประโยชน์จากสรรพสัตว์ในสนามรบ (บทอันฟาล 60)

3.6 การใช้สัตว์บรรทุกสัมภาระและขับขี่ (บทอันนะฮฺลุ 7-8)

3.7 การใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งเพื่อเป็นอาหารและเยียวยา (บทอันนะฮฺลุ9-68)

3.8 สรรพสัตว์เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์รู้จักพระเจ้า (มุอ์มินูน 21, บทนูร 45)

 

อ้างอิง

[1]ตัฟซีร ชอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 446, ตัฟซีรอะยาชีย์ เล่ม 2 หน้า 114, อุซูลกาฟีย์ เล่ม 8 หน้า 279,

[2]ตัฟซีร ชอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 444, ตัฟซีรมัจญฺมะอุลบะยาน เล่ม 5 หน้า 248

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม