เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 49-52

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 49-52

 

อัลกุรอาน โองการนี้บ่งชี้ให้เห็นเหตุการณ์โดยรวมของนบีนูฮฺ (อ.)  หรือการรวบรวมบทสรุปเหล่านั้น โองการกล่าวว่า

49. تِلْكَ مِنْ أَنبَاءِ الْغَيْبِ نُوحِيها إِلَيْكَ مَا كُنتَ تَعْلَمُهَا أَنتَ وَلَا قَوْمُكَ مِن قَبْلِ هذَا فَاصْبِرْ إِنَّ الْعَاقِبَةَ لِلْمُتَّقِينَ‏

คำแปล :

49. เหล่านี้คือส่วนหนึ่งจากเรื่องราวอันเร้นลับซึ่งเราได้วะฮียฺแก่เจ้า เจ้าไม่รู้เรื่องนี้และกลุ่มชนของเจ้าก็ไม่รู้มาก่อน ดังนั้น เจ้าจงอดทน แท้จริงบั้นปลายที่ดีสำหรับผู้สำรวมตนจากความชั่ว

คำอธิบาย :

1.การอธิบายอดีตที่แท้จริงของบรรดาศาสดาโดยปราศจากการปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลง มีความเป็นไปได้ถ้าผ่านวะฮฺยู ดังจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ของบรรพชนก่อนหน้านั้นล้วนได้รับการปรุงแต่งผสมผสานกับนิยาย จนไม่อาจแยกแยะได้เลยว่าเรื่องจริงและเรื่องเท็จเป็นอย่างไร

2.บรรดาศาสดาได้รับรู้เรื่องราวความเร้นลับโดยผ่านวะฮฺยูของพระเจ้า แต่จะรับรู้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความประสงค์ของพระองค์

3.อัลกุรอาน โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ชี้ให้เห็นถึงอดีตและอุปสรรคต่างๆ ของนบีนูฮฺ (อ.)  เพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และเชิญชวนให้ท่านมีความอดทนสูง กล่าวคือการอธิบายอดีตต่างๆ เหล่านี้เท่ากับเป็นการให้บทเรียนและสอนบรรดามุสลิมทั้งหลาย และยังเป็นความง่ายดายต่อการจดจำเรื่องราวของบรรดาศาสดา เพื่อว่าจะได้เตรียมพร้อมในการต่อสู้กับบรรดาผู้อธรรมที่ละเมิดทั้งหลาย อีกทั้งจะได้ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคปัญหาที่จะมาประสบ และสุดท้ายมีความหวังในชัยชนะ

และตรงนี้เรื่องราวของนบีนูฮฺ (อ.) ที่มากไปด้วยปาฏิหาริย์และความประหลาดใจได้จบสมบูรณ์ ลำดับต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องราวของนบีฮูด (อ.) ซึ่งอัลกุรอานบทนี้ก็ได้ตั้งชื่อด้วยนามของท่าน

บทเรียนจากโองการ :

1.การกล่าวถึงอดีตที่ถูกต้องของบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น แสดงให้เห็นถึงความจริงของอัลกุรอานและศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)

2.ชัยชนะในบั้นปลายสุดท้ายเกิดจากความอดทนอดกลั้น และการยืนหยัดอย่างเข้มแข็งของตัวเอง

3. จงนำเอาอดีตของนบีนูฮฺ (อ.) มาเป็นบทเรียนสำหรับชีวิต และจงอดทนในหนทางแห่งสัจธรรมความจริง

อัลกุรอาน โองการที่ 50 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้ชี้ให้เห็นสารแห่งเตาฮีดของนบีฮูด (อ.) สำหรับกลุ่มชนอาด โองการกล่าวว่า

50. وَإِلَى‏ عَادٍ أَخَاهُمْ هُوداً قَالَ يَاقَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُم مِنْ إِلهٍ غَيْرُهُ إِنْ أَنتُمْ إِلَّا مُفْتَرُونَ‏

คำแปล :

50. และยัง (หมู่ชนของ) อาด (เราได้ส่ง) พี่น้องคนหนึ่งของพวกเขาคือฮูด เขากล่าวว่า โอ้หมู่ชนของฉันเอ๋ย จงเคารพภักดีอัลลอฮฺเถิด พวกท่านไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พวกท่านไม่ใช่อื่นใดนอกจากปลอมแปลงเท่านั้น

คำอธิยาย :

การทำลายเทวรูปด้วยความหาญกล้า

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อัลกุรอานบทนี้กล่าวถึงเรื่องราวการเชิญชวนของศาสดาทั้ง 7 ท่าน พร้อมทั้งความยากลำบากและอุปสรรคในการเชิญชวนของท่านและบทสรุป โองการก่อนหน้านี้กล่าวถึงเรื่องราวของนบีนูฮฺ (อ.) ปัจจุบันจะกล่าวถึงเรื่องราวของนบีฮูด (อ.)

1.ฮูด เป็นนบีท่านหนึ่งที่ได้ถูกส่งลงมาเพื่อชี้นำหมู่ชนของอาด เรื่องราวของนบีท่านนี้ได้ถูกกล่าวซ้ำหลายครั้งในอัลกุรอาน ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวไว้ในบทอะอ์รอฟ โองการที่ 65 -72 ส่วนในบทนี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวของท่านไว้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงตั้งขื่ออัลกุรอานบทนี้ว่า ฮูด

2. อัลกุรอานโองการที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ได้กล่าวถึงนบีฮูด ในฐานะที่เป็นพี่น้องกับหมู่ชน อาด ซึ่งการกล่าวทำนองนี้ อัลกุรอานได้กล่าวเรียก ซอลิฮฺ ชุอัยบ์ นูฮฺ และลูฏมาแล้ว (อัลกุรอานบทอะอ์รอฟ โอการที่ 73,85, และบทชุอ์อะรอ โองการที่ 106 และ 161 บางทีอาจเป็นเพราะสาเหตุที่ว่า ฮูด มาจากหมู่ชนของอาด ซึ่งโดยปกติหมู่ชนอาหรับมักจะนับประชาชนที่มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันว่า เป็นพี่น้องกัน หรืออาจะเป็นเพราะว่าฮูดได้ประพฤติดีกับหมู่ชนของท่าน พวกเขาจึงนับถือท่านเป็นพี่น้องคนหนึ่ง

3.สาส์นของฮูดคือ การเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว และปฏิเสธการตั้งภาคีเทียบเคียงโดยสิ้นเชิง ซึ่งสิ่งนี้คือเหตุผลและเป็นวัตถุประสงค์ของเหล่าบรรดาศาสดาทั้งหลาย อีกทั้งเป็นรากที่มาของการปรับปรุงแก้ไขสังคม เนื่องจาก เตาฮีด คือแห่งที่มาของความเป็นเอกภาพของสังคม การร่วมมือ และการเสียสละ ส่วนการตั้งภาคีเทียบเคียงคือแหล่งที่มาของความแตกแยก ความขัดแย้ง ความเห็นแก่ตัว และการหลงทาง

4. บรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าต่างมีหน้าที่เชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว คำพูดที่เป็นหนึ่งเดียวกัน การปฏิบัติที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อมนุษย์ทั้งหลายจะได้เคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียวกัน ประดุจดังหยดน้ำที่ละลายในมหาสมุทรเป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมมนุษย์ก็ควรที่จะเกิดปรากฏการณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันเช่นกัน

5. การเคารพรูปปั้นบูชา เท่ากับเป็นการใส่ร้ายและมุสาต่อพระเจ้า เนื่องจากเทวรูปเหล่านั้นไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ไร้ค่าเนื่องจากไม่สร้างคุณหรือให้โทษแก่สิ่งใด ดังนั้น จึงนับว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่เลวร้ายยิ่ง ซึ่งไม่มีการใส่ร้ายใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว การที่มนุษย์ได้ทึกทักและยกย่องเทวรูปเหล่านั้นไว้ในฐานันดรอันสูงส่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงเทวรูปเหล่านั้นไม่มีฐานันดรอันใดทั้งสิ้นเป็นสรรพสิ่งหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา หลังจากนั้นได้ปลุกเสกเวทมนต์และกล่าวว่า เทวรูปนั้นมีอภินิหาร สมควรแก่การเคารพบูชา ซึ่งโดยปกติแล้วบรรดาผู้ที่เคารพรูปปั้นบูชาเป็นการสร้างจินตนาการอย่างหนึ่งในการสักการะ เนื่องจากไม่มีพระเจ้าอื่นใดแล้วที่จะเคารพบูชา

บทเรียนจากโองการ :

1.เตาฮีดคือสาส์นของบรรดาศาสดาทุกท่าน

2. การเคารพสักการะสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการใส่ร้ายเท่านั้น

3. ความประพฤติของเหล่าบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า และบรรดานักเผยแผ่ศาสนาทั้งหลายต้องเป็นไปอย่างพี่น้อง

อัลกุรอาน โองการที่ 51 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงการปราศจากความต้องการของนบีฮูด (อ.) ที่มีไปยังประชาชน พร้อมกับกล่าวถึงการเชิญชวนประชาชนไปสู่การใช้สติปัญญาใคร่ครวญ โองการกล่าวว่า

51. يَاقَوْمِ لَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْراً إِنْ أَجْرِيَ إِلَّا عَلَى الَّذِي فَطَرَني أَفَلَا تَعْقِلُونَ‏

คำแปล :

51. โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย ฉันไม่ได้ขอร้องรางวัลตอบแทนอันใดสำหรับการนี้ (เผยแผ่สาร) รางวัลตอบแทนของฉัน ณ พระผู้บังเกิดฉันมา พวกท่านไม่ใช้ปัญญาหรือ

คำอธิบาย :

1. นบีฮูด (อ.) ได้ประกาศแก่หมู่ชนของท่านว่าการประกาศเผยแผ่ของท่านนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อตำแหน่งหรือความมั่งคลั่งแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ประการหนึ่งทียืนยันถึงความสัจจริง ของบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้า พวกเขาไม่ต้องการสิ่งใดจากประชาชน พวกเขาจะร้องขอรางวัลตอบแทนเฉพาะกับพระเจ้าเท่านั้น

2.บรรดาผู้นำมวลมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำนิกายศาสนาจะต้องไม่ร้องขอสิ่งใดจากประชาชน มิเช่นนั้นเท่ากับว่าท่านได้ปล่อยให้อิสรภาพของตนหลุดลอยมือไป ความต้องการในทรัพย์และวัตถุปัจจัยอื่นมิได้แตกต่างอะไรไปจากโซ่ตรวน ที่จะคอยผูกมัดพวกเขาให้อยู่ในอำนาจการบีบบังคับ และลากจูงเขาไปสู่ความหลงผิด หรือนำเขาไปแขวงไว้เคียงคู่กับการใส่ร้ายป้ายสี

ด้วยเหตุนี้ ในอิสลามจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนอิสลาม (บัยตุลมาล) ขึ้นมา เพื่อให้เหล่าผู้นำและนักเผยแผ่ศาสนาได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนเหล่านั้น และจะได้ไม่ยื่นมือไปขอจากประชาชน

3. โองการที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ได้สนับสนุนประชาชนให้ใคร่ครวญถึงสถานภาพของนบีฮูด (อ.) เพื่อจะได้เข้าใจว่าถ้าหากท่านไม่ใช่นบี แน่นอนท่านต้องเชิญชวนผู้คนไปสู่ท่าน และต้องแสวงหาทรัพย์สินจำนวนมากมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ฉะนั้น ท่านได้มาเพื่อชำระขัดเกล่าบุคคลให้สะอาด เพื่อการเคารพภักดีและเชื่อฟังปฏิบัติตามพระเจ้าองค์เดียว.

บทเรียนจากโองการ  :

1.บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้ามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัตถุปัจจัย หรือแสวงหาผลประโยชน์

2. จงใคร่ครวญด้วยสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ถึงความสัจจริงของบรรดาศาสดาทั้งหลาย

อัลกุรอาน โองการที่ 52 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภารกิจด้านมโนธรรมกับความจำเริญด้านวัตถุปัจจัยของมนุษย์ โองการกล่าวว่า
v52. وَيَاقَوْمِ اسْتَغْفِرُوا رَبَّكُمْ ثُمَّ تُوبُوا إِلَيْهِ يُرْسِلِ السَّماءَ عَلَيْكُم مِدْرَاراً وَيَزِدْكُمْ قُوَّةً إِلَى‏ قُوَّتِكُمْ وَلَا تَتَوَلَّوْا مُجْرِمِينَ‏

คำแปล :

52. โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย จงขออภัยโทษต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ เพื่อพระองค์จะได้ส่ง (ฝน) จากฟ้าลงมาอย่างต่อเนื่อง และจะทรงเพิ่มพลังความแข็งแกร่งแก่พวกท่าน และพวกท่านอย่าหันหลังกลับอย่างทรชน

คำอธิบาย :

สุดท้ายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมพวกเขา และเพื่อขอการอภัยโทษจากสื่อทั้งหมดที่เป็นไปได้ สำหรับการปลุกจิตวิญญาณที่ถวิลหาสัจธรรมแก่หมู่ชนที่หลงทางไปแล้ว ขึ้นอยู่กับรางวัลต่างๆ อันเป็นวัตถุปัจจัย ซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมอบไว้ในเจตนารมณ์เสรีของมวลผู้ศรัทธาทั้งหลายบนโลกนี้

1. คำว่า มิดรอรอน ตามรากศัพท์เดิมหมายถึงแหล่งน้ำนมที่มาจากเต้านม ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำฝนจากฟากฟ้าก็เรียกว่า มิดรอรอน เช่นกัน

สิ่งที่น่าใคร่ครวญคือโองการมิได้กล่าวว่า เราได้หลั่งน้ำฝนจากฟ้าลงมาแก่เจ้า ทว่ากล่าวว่า เราได้ส่งฟ้าลงมาอย่างต่อเนื่องแก่สูเจ้า หมายถึงฝนจะตกหนักอย่างต่อเนื่องประหนึ่งว่าแผ่นฟ้าทั้งหมดอยู่ในฐานะของแหล่งน้ำฝน

2. โองการที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ได้นำเอาปัญหาด้านมโนธรรมและวัตถุมารวมกัน และนำเอาการขออภัยโทษและการนิรโทษเป็นสื่อในการหลั่งน้ำฝน และเพิ่มพูนพละกำลังให้แข็งแกร่งเป็นทวีคูณ

แน่นอน ความสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่รู้จักแต่อย่างใด ถ้าหากเราใคร่ครวญในสังคมเพียงเล็กน้อยก็จะได้ประจักษ์ทันทีว่า เมื่อใดที่สังคมปนเปื้อนไปด้วยความผิดหรือบาปกรรมแห่งอำนาจฝ่ายต่ำ การทรยศหักหลัง การลักขโมย การสงคราม และการกดขี่อธรรม สังคมนั้นก็จะค่อยๆ เสื่อมทรามและหายนะในที่สุด ส่วนสังคมที่มีจิตวิญญาณของเตาฮีด การร่วมมือ และการเสียสละแล้วไซร้ ก็จะพบกับความสูงส่ง ความจำเริญผาสุก และเต็มไปด้วยความเป็นสิริมงคล

3. วัตถุประสงค์ของ การเพิ่มพละกำลังเป็นทวีคูณ ในโองการที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้  ประโยคนี้กล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงเพิ่มพูนพลังความแข็งแกร่งแก่พวกท่าน ภายหลังการขออภัยโทษและการขอนิรโทษกรรม

บางคนกล่าวว่า ประโยคนี้บ่งชี้ให้เห็น การเพิ่มพละกำลังของมนุษย์ ดังที่โองการในบทนูฮฺ ก็ได้กล่าวไว้เช่นกัน

บางคนกล่าวว่า หมายถึงการเพิ่มพลังด้านวัตถุที่มีต่อด้านศีลธรรมและมโนธรรมของมนุษยื

แต่โองการได้ตีความโดยรวม หมายถึงครอบคลุมการเพิ่มพละกำลังทั้งที่เป็นวัตถุปัจจัยและมโนธรรม ซึ่งทัศนะนี้บรรดานักตัฟซีรทั้งหลายต่างมีความเห็นพร้องต้องกัน

4. นบีฮูด (อ.) ได้เชิญชวนหมู่ชนของท่านไปสู่การขออภัยโทษและการขอนิรโทษกรรม ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าการขออภัยโทษโดยพร้อมเพรียงกันของประชาชน จะทำให้สังคมพบกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นสาเหตุทำให้การช่วยเหลือของพระเจ้านั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง

บทเรียนจากโองการ :

1.ปัญหาเรื่องศีลธรรม, มโนธรรม,และจริยธรรมมีผลในเชิงสร้างสรรค์กับชีวิต และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของมนุษย์

2. จงวิงวอนขออภัยโทษและมุ่งมั่นยังอัลลอฮฺเถิด เพราะการกระทำเช่นนี้จะช่วยทำให้ชีวิตทางโลกของท่านก้าวหน้า

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม