เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 61

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 61

 


อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสดาซอลิฮ์ (อ.) ซึ่งท่านได้เชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียวและ การขอนิรโทษกรรมจากพระองค์ โองการกล่าวว่า

 

وَإِلَى‏ ثَمُودَ أَخَاهُمْ صَالِحاً قَالَ يَا قَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُم مِنْ إِلهٍ غَيْرُهُ هُوَ أَنشَأَكُم مِنَ الْأَرْضِ وَاسْتَعْمَرَكُمْ فِيَها فَاسْتَغْفِرُوهُ ثُمَّ تُوبُوا إِلَيْهِ إِنَّ رَبِّي قَرِيبٌ مُجِيبٌ‏

 

คำแปล :

 

61. และยังหมู่ชนษะมูด (เราได้ส่ง) พี่น้องคนหนึ่งของพวกเขาคือซอลิฮฺ เขากล่าวว่า โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺเถิด พวกท่านไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พระองค์ทรงบังเกิดพวกท่านจากแผ่นดิน และทรงให้พวกท่านพำนักอยู่ในนั้น ดังนั้น จงขอการอภัยต่อพระองค์แล้วกลับคืนสู่พระองค์ แท้จริง พระผู้อภิบาลของฉันทรงอยู่ใกล้ ทรงตอบรับเสมอ

 

คำอธิบาย  :

 

เริ่มต้นชะตาชีวิตของหมู่ชนษะมูด

 

เรื่องราวของหมู่ชนอาดได้สอนบทเรียน และให้แนวคิดมากมายซึ่งได้กล่าวผ่านไปแล้ว ซึ่งต่อไปนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวของหมู่ชนษะมูดบ้าง ขณะเดียวกันในที่นี้อัลกุรอานเมื่อกล่าวศาสดาของพวกเขาคือ ซอลิฮฺ ได้กล่าวว่า พี่น้องของพวกเขา ซึ่งเป็นคำกล่าวที่มีความสละสลวยยิ่ง ดังที่ได้อธิบายถึงความสวยงามไปแล้วในโองการก่อนหน้านี้ ซึ่งแน่นอนว่าพี่น้องที่มีความเป็นห่วงเป็นใย และมีจิตเมตตานั้นเขาจะไม่มีเป้าหมายอื่นใด นอกจากความหวังดีเท่านั้น

 

1. หมู่ชน ษะมูด อาศัยอยู่ในแผ่นดินนามว่า วาดี อัลกุรอ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ระหว่างเมืองมะดีนะฮฺและซูเรีย อาชีพของพวกเขาคือ การทำเกษตรกรรมเรือกสวนไร่นา ท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.) ได้ถูกเลือกให้เป็นศาสดาเพื่อมาชี้นำชนกลุ่มนี้ ซึ่งท่านได้นำอูฐในฐานะที่เป็นปาฏิหาริย์มายังพวกเขา แต่พวกเขาก็ได้สังหารอูฐเหล่านั้นจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง เนื่องจากการลงโทษอันโหดร้ายจากฟากฟ้า ทำให้พวกเขาได้รับความทุกข์ยากอย่างยิ่ง ส่วนศาสดาซอลิฮฺ (อ.) พร้อมกับหมู่ชนของท่านได้รับความช่วยเหลือ อัลกุรอาน หลายโองการได้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสดาท่านนี้เอาไว้ เช่น อัลกุรอาน บทอะอ์รอฟ โองการที่ 73 , บทเตาบะฮฺ โองการที่  70, บทอิบรอฮีม โองการที่ 9 ,บทอิสรอ โองการ 59 , บทชุอ์อะรอ โองการที่ 141 และ ...

 

2. วัตถุประสงค์และโครงการหลักของศาสดาซอลิฮ์(อ.) เป็นโครงการเดียวกันกับบรรดาศาสดาท่านอื่นกล่าวคือ การเชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และปฏิเสธการเคารพรูปปั้นบูชาโดยสิ้นเชิง เนื่องจากรากที่มาของความจำเริญผาสุกและความรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติอยู่ที่ ความเป็นเอกะของพระเจ้า ส่วนรากที่มาของความอับโชคและความตกต่ำทั้งหมดอยู่ที่ การหันเหไปจากความจริงและการเคารพรูปปั้นบูชา

 

3. อัลกุรอาน โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ ศาสดาซอลิฮ์ ได้ถูกแนะนำในฐานะ พี่น้องของหมู่ชนษะมูด ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าซอลิฮฺ มาจากเผ่าพันธุ์อาหรับและมาจากเผ่าษะมูดนั่นเอง หรือเนื่องจากพฤติกรรมที่ดีของท่านซึ่งท่านปฏิบัติกับพวกเขาประหนึ่งเป็นพี่น้องของท่าน

 

4. วัตถุประสงค์ของการสร้างมนุษย์จากดินคือ การสร้างที่มิได้สร้างโดยตรงกล่าวคือมนุษย์ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาจากดิน หรือวัตถุประสงค์อาจหมายถึงว่า เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ทั้งหมดนั้นย้อนกลับไปยังศาสดาอาดัม (อ.) ซึ่งท่านได้ถูกสร้างจากดินบริสุทธิ์

 

5. การสร้างมนุษย์ในฐานะที่เป็นสรรพสิ่งสูงส่งที่สุด ซึ่งได้เริ่มต้นการสร้างด้วยดินที่ไร้ค่าและไม่มีความหมาย แต่ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่ง ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าผู้สร้างนั้นรอบรู้และปรีชาญาณยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สติปัญญาจึงไม่อนุญาตให้มนุษย์เคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์

 

6. จากประโยคที่กล่าวว่า อิสตะอ์มะเราะฮ์ (การพำนัก) ซึ่งรากเดิมของคำนี้หมายถึง การปล่อยวาง การพัฒนาและการสร้างสรรค์แผ่นดินเพื่อคนอื่น กล่าวคืออัลลอฮ์(ซบ.) ทรงมอบปัจจัยในการดำรงชีพ และพัฒนาแผ่นดินไว้ในอำนาจของมนุษย์

 

7. คำว่า อิสติอ์มาร เป็นคำที่มีความสละสลวยอย่างยิ่งในวัฒนธรรมของมนุษย์ชาติ ความหมายของคำนี้ก็คือ การถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือถูกสังคายนา แต่ในโลกปัจจุบันคำๆ นี้ หมายถึง การล่าอาณานิดคม หรืออำนาจเผด็จการในการควบคุมการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และประเทศชาติที่อ่อนแอกว่า ซึ่งบั้นปลายสุดท้ายคือการปล้นสะดมทรัพยากรและชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศนั้น หรือการกระทำอันเลวร้ายอันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากน้ำมือของพวกเผด็จการในศตวรรษหลังนี้ ได้ทำให้ชะตากรรมของประชาชนในประเทศต่างๆ ต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างมาก และในทศวรรษหลังนี้เองพวกเผด็จการได้เปลี่ยนรูปโฉมใหม่ ซึ่งมาในรูปของวัฒนธรรมและการโฆษณาชวนเชื่อ  การโจมตีวัฒนธรรมอย่างโหดร้ายของพวกเผด็จการที่กระหายโลก ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วกับประชาชาติที่ได้รับการกดขี่และอ่อนแอ ดังนั้น การตื่นตัวของเยาวชนคนหนุ่มสาวในประเทศเหล่านั้น สามารถทำลายแผนการใหม่ๆ ของพวกเผด็จการได้เป็นอย่างดี

 

8. อัลกุรอาน โองการข้างต้นมิได้กล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงพัฒนาพื้นดินและมอบไว้ในอำนาจของท่าน ทว่าได้กล่าวว่า การพัฒนาและขยายแผ่นดินให้ก้าวหน้าพระองค์ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมนุษย์

 

แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ครอบคลุมชนชาติทุกเผ่าพันธุ์ อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงมอบพื้นดิน น้ำ พลังงาน และอายุขัยที่ยืนยาวนานไว้ในเจตนารมณ์เสรีของมนุษย์ เพื่อพวกเขาจะได้สร้างและพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

 

9. สำหรับการสร้างและพัฒนาความก้าวหน้าพระองค์ได้ให้เวลาแก่มนุษย์ ทรงมอบเครื่องไม้เครื่องมือในการพัฒนาและงานไว้ในการเลือกสรรของมนุษย์ เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ลงมือทำการพัฒนาด้วยตัวเอง

 

10. หมู่ชนของ ษะมูด ได้พัฒนาพื้นดินเป็นเรือกสวนไร่นาที่มีความอุดม และเต็มไปด้วยความโปรดปราน การเกษตรกรรมของพวกเขามีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงมอบอายุขัยที่ยืนยาวนานแก่พวกเขา มอบพละกำลังและร่างกายที่สูงใหญ่แก่พวกเขา ในลักษณะที่ว่าพวกเขาสามารถระเบิดภูเขา นำหินมาสร้างบ้านที่มีความมั่นคงแข็งแรงและสวยงามยิ่ง

 

11. อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์และทรงตอบสนองการเรียกร้องของเขา แน่นอน ความใกล้ชิดของอัลลอฮ์(ซ.บ.) หมายถึงการที่พระองค์ปรากฏองค์ในทุกที่ตลอดเวลา พระองค์ไม่ทรงมีกายภาพอยู่ในภาวะนามธรรม ดังนั้น จึงไม่ต้องการเวลาและสถานที่เป็นตัวกำกับ

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. นักเผยแผ่ศาสนาทุกคนควรมาจากเขตพื้นทีนั้น และต้องมีความประพฤติเยี่ยงพี่น้อง

 

2. ปรัชญาในการเคารพภักดีต่อพระเจ้าคือ การขอบคุณการสร้างสรรค์และความโปรดปรานของพระองค์

 

3. อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงประสงค์ให้มนุษย์เป็นผู้พัฒนาแผ่นดิน และสร้างสรรค์ความก้าวหน้าบนแผ่นดิน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม