ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 84

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 84

 


อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสดาชุอัยบ์ (อ.) เป้าหมายในการเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว และการชี้นำของท่าน โองการกล่าวว่า

 

وَإِلَى‏ مَدْيَنَ أَخَاهُمْ شُعَيْباً قَالَ يَا قَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُم مِنْ إِلهٍ غَيْرُهُ وَلَا تَنْقُصُوا الْمِكْيَالَ وَالْمِيزَانَ إِنِّي أَرَاكُم بِخَيْرٍ وَإِنِّي أَخَافُ عَلَيْكُمْ عَذَابَ يَوْمٍ مُحِيطٍ

 

คำแปล:

 

84. และยังกลุ่มชนของมัดยัน เราได้ส่งพี่น้องคนหนึ่งของพวกเขาคือชุอัยบฺ เขากล่าวว่า โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺเถิด พวกท่านไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ และพวกท่านอย่าให้การตวงและการชั่งบกพร่อง แท้จริงฉันเห็นพวกท่านอยู่ในความดี (มั่งคั่ง) แท้จริงฉันกลัวแทนพวกท่านต่อการลงโทษในวันที่ถูกห้อมล้อมไว้

 

คำอธิบาย:

 

มัดยัน แผ่นดินของชุอัยบ์

 

หลังจากจบเรื่องราวอันเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ของหมู่ชนลูฎ (อ.) แล้ว ลำดับต่อไปจะกล่าวถึงหมู่ชนของ ชุอัยบ์ ศาสดาท่านที่ 6 ที่กล่าวถึงในบทนี้พร้อมทั้งชาวเมืองมัดยัน ชาวเมืองซึ่งได้ละทิ้งการเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว โดยสักการรูปปั้นบูชาแทน มิใช่รูปปั้นเท่านั้นที่พวกเขาสักการบูชา ทว่าทรัพย์สินเงินทองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาบูชา ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงแสวงหาปัจจัยทุกวิถีทางทั้งด้านการค้า การกระทำทุกสิ่งที่มีรายได้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิดก็ตามแม้กระทั่งการโกงตราชั่ง และการกระทำผิดอย่างอื่นอีกมากมาย

 

1.มัดยัน หมายถึงถึงชื่อเมืองและเป็นชื่อชนเผ่าของศาสดาชุอัยบ์ (อ.) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอ่าวอุกบะฮ์ ประชาชนชาวเมืองนี้ เป็นบุตรหลานที่สืบเชื้อสายมาจากศาสดาอิสมาอีล (อ.) พวกเขาได้ทำการค้าขายกับชาวเมืองเลบานอน อียิปต์ และปาเลสไตน์ วันนี้เมืองดังกล่าวถูกรู้จักกันในนามของ มะอาน (Ma'an) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในประเทศจอร์แดน

 

2. วัตถุประสงค์ของสาส์นศาสดาชุอัยบ์ (อ.) คือ การเชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว และละทิ้งการสักการบูชารูปปั้นโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุประสงค์ของบรรดาศาสดาทั้งปวง และยังเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสังคมและจริยธรรมของมนุษย์

 

3.คำว่า มิกยาล หมายถึง การตวงหรือการชั่ง ส่วนคำว่า มีซาน หมายถึง ตราชั่ง ส่วนการชั่งหรือตวงให้เล็กน้อยหรือพร่องลงไปหรือโกงตราชั่ง ถือได้ว่าเป็นการโกงสิทธิของบุคคลอื่น ตามหลักการของอิสลามจัดว่าเป็นการกดขี่ประเภทหนึ่งที่มีต่อบุคคลอื่น

 

4. บรรดาศาสดาแห่งพระเจ้านอกจากจะเอาใจใส่ในเรื่องหลักความเชื่อศรัทธา หลักจริยธรรมของประชาชนแล้ว ท่านยังเอาใจใส่ในเรื่องธุรกิจการค้าของประชาชนอีกด้วย ท่านได้ร่วมต่อสู้กับคอรัปชั่น และการปรับปรุงแก้ไขสังคม

 

5. นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของศาสดาชุอัยบ์ (อ.) ที่กล่าวว่า “แท้จริงฉันเห็นพวกท่านอยู่ในความดี (มั่งคั่ง)” ว่ามี 2 ทัศนะด้วยกัน กล่าวคือ

 

ทัศนะแรก กล่าวว่าหมายถึงความหวังดีที่ท่านมีต่อหมู่ชน คำตักเตือนที่ท่านมีต่อหมู่ชนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความมั่งคั่ง ด้านการค้า ราคาสินค้าก็ถูกลง

 

ทัศนะที่สอง กล่าวว่าหมายถึง ฉันได้ทำให้พวกท่านมั่งคั่งมีทรัพย์สินมากมาย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอีกต่อไปที่พวกเขาจะขายแพง หรือโกงตราชั่ง

 

6. คำว่า มุฮีฏ หมายถึงการ ความแพร่หลาย หมายถึงวันซึ่งการลงโทษได้แพร่หลายออกไป ประเด็นนี้สามารถระบุให้เห็นชัดเจนถึงการลงโทษในวันสุดท้ายหรือการลงโทษที่แพร่หลายอยู่บนโลกนี้

 

7. การกล่าวว่า อะคอฮุม (พี่น้องของพวกเขา) เกี่ยวกับชุอัยบ์ นั้นอาจเป็นเพราะว่า ศาสดาชุอัยบ์ (อ.) มาจากเผ่ามัดยัน หรืออาจเป็นเพราะว่าการประพฤติเยี่ยงพี่น้อง และความหวังดีที่ท่านมีต่อหมู่ชนนั้น

 

บทเรียนจากโองการ:

 

1.เป้าหมายของชุอัยบ์ (อ.) เหมือนกับศาสดาท่านอื่นๆ กล่าวคือ เชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว และปฏิเสธการสักการรูปปั้นบูชาโดยสิ้นเชิง

 

2.บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าล้วนมีหน้าที่แก้ไขสังคมและต่อสู้กับคอร์รัปชั่น

 

3. มะอาด (ความเชื่อในวันฟื้นคืนชีพ) คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ละเว้นการทำบาป