ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 87

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 87

 


อัลกุรอาน โองการนี้ได้ตอบโต้คำเย้ยหยันของชาวมัดยันที่ได้กล่าวแก่ศาสดาชุอัยบ์ (อ.)  โองการกล่าวว่า

 

قَالُوا يَا شُعَيْبُ أَصَلاتُكَ تَأْمُرُكَ أَن نَتْرُكَ مَا يَعْبُدُ آبَاؤُنَا أَو أَن نَفْعَلَ فِي أَمْوَالِنَا مَا نَشَاءُ إِنَّكَ لأنتَ الْحَلِيمُ الرَّشِيدُ

 

คำแปล :

 

87. พวกเขา (ผู้ปฏิเสธ) กล่าวว่า โอ้ ชุอัยบ์เอ๋ย การนมาซของท่านสั่งสอนท่านว่า ให้เราละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษของเราสักการะ หรือว่าให้เรากระทำต่อทรัพย์สินของเราตามที่เราเห็นชอบกระนั้นหรือ แท้จริง ท่านเป็นผู้อดทนขันติ เป็นผู้มีสติปัญญา

 

คำอธิบาย :

 

ตรรกะที่ไม่มีมูลความจริงของผู้ดื้อรั้น

 

บัดนี้ ลองพิจารณาหมู่ชนที่ดื้อรั้น เมื่อเผชิญหน้ากับผู้ปรับปรุงแห่งฟากฟ้า พวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ?

 

พวกเขาคิดว่าเทวรูปเหล่านั้นคือร่องรอยและเป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างอันถูกต้องด้านวัฒนธรรมของพวกเขา

 

1.คำพูดที่ประชาชนชาวมัดยันได้โต้ตอบคำพูดของศาสดาชุอัยบ์ (อ.) มีหลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

 

ก. พวกเขากล่าวถึงการเชิญชวนไปสู่การเคารพภักดีอัลลฮ์ และละเว้นการสักการรูปปั้นบูชาโดยสิ้นเชิงว่า สิ่งนี้ขัดแย้งกับแนวทางของบรรพบุรุษของเรา และพวกเขาต้องการยึดถือปฏิบัติตามบรรพบุรุษเยี่ยงคนหูหนวกตาบอดต่อไป

 

ข. พวกเขากล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไขระบบเศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น การโกงตราชั่งและการก่อความเสียหายว่า การทำเช่นนั้นขัดกับหลักการค้าอิสระ และการค้าเสรีของพวกเรา

 

2. บรรดาผู้ที่เป็นปรปักษ์กับศาสดาชุฮัยบ์ (อ.) ได้เน้นเรื่อง นมาซ ประเด็นนี้อาจเป็นเพราะว่า ศาสดาชุอัยบฺ (อ.) ปฏิบัตินมาซอย่างมากมาย ขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างนมาซ กับการห้ามมิให้กระทำความผิด หรืออาจเป็นเพราะคำว่า นมาซ บ่งชี้ให้เห็นถึง สำนักคิดและศาสนาของชุอัยบ์ เนื่องจาก นมาซ คือ สัญลักษณ์ของศาสนา

 

3. นมาซ คือ สื่อที่นำพามนุษย์ให้รำลึกถึงอัลลอฮ์ และการพิพากษาด้วยความยุติธรรมของพระองค์ ปลุกความรู้สึกสำนึกและรับผิดชอบในหน้าที่ ความสำรวมตนต่ออัลลอฮ์ การรู้จักความจริงในตัวมนุษย์ให้ตื่นขึ้น นอกจากนั้น นมาซยังเป็นเครื่องมือที่คอยปัดฝุ่นแห่งอัตตา ตัวตน และความเห็นแก่ตัวให้พ้นไปจากจิตใจ และนำพามนุษย์ไปสู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์สะอาดบริสุทธิ์ นำพามนุษย์ให้ออกห่างจากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า การคอร์รัปชั่น การโกงตราชั่ง และการกินดอกเบี้ย นอกจากนั้น บทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับนมาซ เช่น การไม่ได้ขโมยเสื้อผ้าชุดนมาซ ยังเป็นอุปสรรคกีดขวางด้านเศรษฐกิจ การขายสินค้าราคาแพง และการฉ้อโกงอีกด้วย

 

แน่นอน นมาซยังเป็นตัวกีดขวางมนุษย์ให้ออกห่างจากพฤติกรรมชั่วร้าย อันน่ารังเกลียดอีกด้วย

 

4. บรรดาผู้เป็นปรปักษ์กับศาสดาชุอัยบ์ (อ.) ได้กล่าวในเชิงเย้ยหยันกับท่านศาสดาว่า “แท้จริง ท่านเป็นผู้อดทนขันติ เป็นผู้มีสติปัญญา” หรือว่าพวกเขาทราบเป็นอย่างดีแก่ใจตัวเองว่า ชุอัยบ์ คือบุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนั้นจริง และพวกเขาคิดว่าการเป็นปรปักษ์กับพฤติกรรมที่ผิดพลาด หรือความผิด หรือความเชื่อของบรรพชน กับบุคลิกของชุอัยบ์ไม่เข้ากัน

 

5. ในศาสนาของชนก่อนหน้านั้นก็มีนมาซเช่นกัน เพียงแต่ว่ารูปแบบและวิธีการตลอดจนปริมาณมีความแตกต่างกับนมาซในคำสอนอิสลาม

 

6. การคอรัปชั่นถือว่ามีอิสระในหมู่นักธุรกิจหรือผู้ควบคุมระบบการค้า พวกเขาจึงสามารถกดขี่และขูดรีดได้ตามความพอใจ โดยมิได้ใส่ใจต่อสิทธิของบุคคลอื่น ดังนั้น เมื่อพวกเขาจึงเห็นว่ากฎเกณฑ์และความซื่อสัตย์ยุติธรรม คือ อุปสรรคสำคัญในระบบการค้า ขณะที่ความอิสระเต็มรูปแบบของนายทุนคือสาเหตุของการก่อความเสียหาย และความยากจน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบเศรษฐกิจต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีกำคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน

 

7. รากที่มาของธุรกิจที่หลงทางคือ มนุษย์มักคิดว่าความโปรดปรานของพระเจ้าคือสมบัติของตน ฉะนั้น ตนมีเสรีภาพสมบูรณ์ในการใช้จ่ายตามอำเภอใจ ขณะที่เหตุผลทางศาสนากล่าว่า ทรัพย์สมบัติมีเงื่อนไข กล่าวคือทรัพย์เหล่านั้นเป็นสิ่งสำรองของอัลลอฮ์และมาจากพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้ให้อยู่ในครอบครองของมนุษย์ในรูปแบบของอะมานะฮ์

 

ดังนั้น อัลลอฮ์ คือ ผู้มีสิทธิในการวางกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายทรัพย์สินเหล่านั้น

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1.บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า คือ ผู้ที่ต่อต้านและต่อสู้กับปวงผู้ปฏิเสธ (แต่เป็นผู้มีความขันติธรรม)

 

2. บรรดาพวกคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะใฝ่หาความอิสระเสรีชนิดเต็มบริบูรณ์ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อว่าเขาจะได้ก่อความเสียหายได้อย่างเต็มที่

 

3. บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าเป็นปรปักษ์กับการเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรพชนแบบหูหนวกตาบอด