เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่118-119

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่118-119

 


อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงกฎเกณฑ์ของพระเจ้า และความแตกต่างระหว่างประชาชน โองการกล่าวว่า

 

وَلَوْ شَاءَ رَبُّكَ لَجَعَلَ النَّاسَ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَا يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ‏

 

คำแปล :

 

118. และมาตรว่าพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังคงขัดแย้งกัน

 

คำอธิบาย :

 

1.ไม่มีอุปสรรคอันใดทั้งสิ้นถ้าหากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะบังคับให้มนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน และเป็นผู้ศรัทธาทั้งหมด แต่แบบฉบับในการสร้างของพระองค์คือ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของโครงร่าง จิตวิญญาณ ร่างกาย ความคิด รสนิยม และอื่นๆ  บนพื้นฐานดังกล่าวนี้จะเห็นว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือกวิถีที่แตกต่างของตัวเอง

 

2. ถ้าหากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงสร้างมนุษย์ให้เหมือนกันหมด และบังคับให้ทุกคนมีศรัทธา ความศรัทธาและความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นจะไม่มีคุณค่าอันใดทั้งสิ้น และจะไม่มีเหตุผลสำหรับการดีกว่าของบุคคล นอกจากนั้นสื่อในการสร้างความสมบูรณ์ ตลอดจนสิทธิในการรับผลรางวัลตอบแทน หรือการลงโทษจะไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น เนื่องจากทุกสิ่งที่ได้กระทำและเป็นไปนั้น มิได้เป็นไปบนเจตนารมณ์เสรีของมนุษย์

 

3. ความแตกต่างของมนุษย์ทั้งในแง่ของร่างกาย ความคิด คุณค่า รสนิยมที่ร่วมกับเจตนารมณ์เสรีและความอิสระ คือเหตุผลของการเติบโต และความสมบูรณ์ของมนุษย์ และอยู่ในเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ เป็นคุณค่าและความพิเศษของมนุษย์ที่มีความแตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับมวลมลาอิกะฮ์ และบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

4. เมื่อมีความแตกต่าง ความประสงค์ และอิสรภาพเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่าจะเกิดความแตกต่างในหมู่มนุษย์ และสิ่งนี้กลายเป็นสาเหตุทำให้ชนกลุ่มหนึ่งยอมรับสัจธรรมความจริง และอีกกลุ่มหนึ่งยอมรับความเท็จ ดังนั้น มนุษย์ที่มีรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์จึงได้ใช้ประโยชน์จากความเมตตาของอัลลอฮ์ จนกระทั่งตนได้พบกับความสมบูรณ์ และมีอิสรภาพ

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1.กฎเกณฑ์และแบบฉบับของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) วางอยู่บนพื้นฐานของความอิสระและความแตกต่างของมนุษย์

 

2. จงอย่ารอคอยว่าความขัดแย้งทางธรรมชาติของมนุษย์จะหมดไป โดยปราศจากความเมตตาของพระเจ้า

 

โองการที่ 119 บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงวัตถุประสงค์หนึ่งในการสร้างมนุษย์ และได้เตือนสำทับพวกเขา อัลกุรอานกล่าวว่า

 

إِلَّا مَن رَحِمَ رَبُّكَ وَلِذلِكَ خَلَقَهُمْ وَتَمَّتْ كَلِمَةُ رَبِّكَ لَأَمْلَأَنَّ جَهَنَّمَ مِنَ الْجِنَّةِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِينَ‏

 

คำแปล :

 

119 เว้นแต่ผู้ที่พระผู้อภิบาลของเจ้าทรงมีเมตตา และเช่นนั้นแหละพระองค์ทรงบังเกิดพวกเขา และพระพจนารถของพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นครบสมบูรณ์แล้ว แน่นอน ข้าจะให้นรกเต็มไปด้วยพวกญินและมนุษย์ทั้งหมด

 

คำอธิบาย :

 

วัตถุประสงค์ในการสร้างมนุษย์และโลก

 

1.สื่อที่ที่ขจัดความแตกแยกระหว่างมนุษย์คือ ความเมตตาแห่งพระผู้อภิบาล กล่าวคือถ้าหากความสัมพันธ์ทางสังคมวางอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาและความรัก หรือมุ่งไปสู่ความเมตตา อีกทั้งได้เชื่อฟังปฏิบัติตามพระบัญชา พระองค์จะเปลี่ยนให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรัก และการร่วมมือระหว่างกัน

 

2. นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายโองการนี้ว่า เป้าหมายการสร้างมนุษย์คือ ความเมตตา บางท่านกล่าวว่า เป้าหมายการสร้างมนุษย์ คือ เอกภาพ แน่นอน ตัฟซีรทั้ง 2 ทัศนะนี้สามารถนำมารวมกันได้ เนื่องจากเอกภาพคือหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของความเมตตาของพระผู้อภิบาล

 

3. โองการอัลกุรอานกล่าวถึงเป้าหมายหลายประการในการสร้างมนุษย์ อาทิเช่น

 

3.1 เพื่อการอิบาดะฮ์ อัลกุรอานกล่าวว่า “ข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่อการใด นอกเสียจากเพื่อแสดงความเคารพภักดีต่อข้า” (บทอัซซารียาต โองการที่ 56)

 

3.2 เป็นความเมตตาของพระเจ้า เช่น โองการข้างต้นที่กำลังกล่าวถึง

 

3.3 เพื่อการทดสอบประชาชน ดังที่อัลกุรอาน บทอัลมุลก์ โองการที่ 2 กล่าวว่า “พระผู้ทรงให้ความตายและชีวิต เพื่อทดสอบสูเจ้าว่าผู้ใดบ้างในหมู่สูเจ้าที่มีผลงานดีเยี่ยม พระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจและทรงให้อภัยเสมอ”

 

3.4 เพื่อการพบอัลลอฮ์ อัลกุรอาน บทอินชิกอก โองการที่ 6  กล่าวว่า “โอ้ มนุษย์เอ๋ย แท้จริงเจ้าต้องพากเพียรไปสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าอย่างทรหดอดทน แล้วเจ้าจะได้พบพระองค์”

 

3.5 เพื่อการมุ่งไปสู่พระเจ้า อัลกุรอาน บทบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 156 กล่าวว่า “บรรดาผู้ที่เมื่อทุกข์ภัยประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”

 

ทุกโองการเหล่านี้ได้กล่าวถึงเป้าหมายประการหนึ่ง หรือหลายประการในการสร้างมนุษย์ และจากโองการกลุ่มนี้เข้าใจได้ว่าเป้าหมายในการสร้างมนุษย์มีหลายประการด้วยกัน ซึ่งบางวัตถุประสงค์เป็นปฐมบทของอีกประการหนึ่ง แต่วัตถุประสงค์สุดท้ายก็คือ การย้อนกลับไปยังอัลลอฮ์และพบกับความเมตตาที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์

 

4. แน่นอน เป้าหมายในการสร้างมนุษย์ตามความเป็นจริงแล้วย้อนกลับไปหามนุษย์เอง   มิใช่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) กล่าวคือ เป้าหมายคือสิ่งถูกสร้างมิใช่ผู้สร้าง เนื่องจากพระผู้อภิบาลทรงปราศจากความต้องการและไร้ที่สิ้นสุด ดังนั้น ความบกพร่องและเป้าหมายมิได้อยู่ภายนอกซาตของพระองค์ เพื่อว่าจะได้สร้างขึ้นเพื่อสิ่งนั้น ฉะนั้น ถ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อความสมบูรณ์ของมนุษย์

 

5. ประโยคสุดท้ายของโองการได้บ่งชี้ให้เห็นแบบฉบับของพระเจ้านั่นคือ อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงเติมเต็มนรกของพระองค์ด้วยมนุษย์และญินที่ดื้อรั้นและฝ่าฝืน แน่นอน สิ่งเหล่านี้มิใช่การกำหนดหรือลิขิตว่ามนุษย์ต้องถูกลงโทษในนรก ทว่าแต่ละคนได้ออกนอกสาระบบความเมตตาของพระเจ้า อีกทั้งปฏิเสธการชี้นำของบรรดาศาสดา พวกเขาจึงได้เดินหน้าไปสู่นรกอเวจี

 

6. ฮะดีษบางบทจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) กล่าวว่า  จุดประสงค์ที่ว่า บุคคลที่ได้รับความเมตตา ในโองการข้างต้นหมายถึงบรรดาอะฮ์ลุลบัยตฺ (ทายาทของศาสดามุฮัมมัด) และบรรดาชีอะฮ์ของท่าน (อุซูลกาฟีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 429  บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 5 หน้าที่ 195, ฮะดีษเลขที่ 24)

 

เป็นที่ประจักษ์ว่าฮะดีษเหล่านี้ได้กำหนดองค์ประกอบสำคัญของโองการให้ชัดเจนขึ้นว่า บรรดาลูกหลานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และชีอะฮ์ของท่านคือผู้ได้รับความเมตตาจากและเป็นผู้ยอมรับสัจธรรม แต่โองการมิได้จำกัดความหมายอยู่เพียงเท่านี้

 

7. นรกมีความจำกัดซึ่งอาจเป็นไปได้ที่นรกจะเต็ม แต่เราก็จะต้องไม่ลืมว่า การเติมเต็มนรก นั้นเป็นเพียงข้อเปรียบเปรยให้เห็นมนุษย์ชาวนรกจำนวนมากมาย

 

8. บรรดาญินก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการลงโทษ และมีการตอบแทนผลรางวัล

 

จากมุมมองของอัลกุรอาน โลกได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ ดังนั้น เป้าหมายในการสร้างโลกก็เพื่อให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ ฉะนั้น เป้าหมายในการสร้างมนุษย์ก็คือเป้าหมายในการสร้างโลก

 

ก. วัตถุประสงค์การสร้างมนุษย์ในอัลกุรอาน

 

1.เพื่ออิบาดะฮ์ (ซาริยาต 56)

 

2.เป็นความเมตตาของพระเจ้า (ฮูด 119)

 

3. เพื่อความรู้ (เฎาะลาก 12)

 

4. เพื่อการพบองค์พระผู้อภิบาล (อิงชิกอก 6)

 

5. เพื่อการทดสอบ (มุลก์ 2)

 

ฮะดีษจากท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.) พระผู้ทรงเกรียงไกรมิได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อการใด ยกเว้นเพื่อการรู้จักพระองค์ เมื่อมนุษย์ได้รู้จักพระองค์แล้ว เขาก็จะแสดงความเคารพภักดีต่อพระองค์  เมื่อมนุษย์ได้เป็นบ่าวของพระองค์ เขาก็จะไม่เป็นบ่าวของคนอื่น (อิลัลชะรอยิอ์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 9 บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 5 หน้าที่ 312)

 

ข. วัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รอง

 

วัตถุประสงค์ของการสร้างในที่นี้มิใช่พระผู้สร้าง เนื่องจากเป้าหมายของการมีคือความจำเป็นของความบกพร่อง ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการกระทำของพระองค์คือ มนุษย์ มิใช่เพื่อพระองค์

 

ส่วนวัตถุประสงค์หลักคือ ความสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายของมนุษย์ กล่าวคือ ความใกล้ชิดยังอัลลอฮ์ และการได้พบพระองค์ ส่วนเป้าหมายรองและเป้าหมายหลักของมนุษย์สามารถกล่าวได้คือ ความรู้ การรู้จัก และการภักดี หรือเพื่อการเริ่มต้น เพื่อความสมบูรณ์ และเพื่อการสิ้นสุด

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. วัตถุประสงค์ในการสร้างมนุษย์ (คือการยอมรับและการแสวงหา) ความเมตตาของพระเจ้า

 

2. แนวทางเดียวที่สามารถขจัดความขัดแย้งให้หมดลงได้ และก้าวไปถึงยังเอกภาพคือความกรุณาและความเมตตาของพระผู้อภิบาล

 

3. หนึ่งในแบบอย่างของพระผู้อภิบาลคือ พระองค์จะเติมเต็มนรกของพระองค์ด้วยมนุษย์และญิน ดังนั้น จงระวังความประพฤติของตนให้ดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม