เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามญะวาด อิมามที่มีอายุน้อยที่สุด

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิมามญะวาด อิมามที่มีอายุน้อยที่สุด

 


มุฮัมมัด บินอะลี บินมูซา ถูกรู้จักในนาม อัลญะวาด  (195-220 ฮ.ศ) เป็นอิมามท่านที่เก้าแห่งบรรดาชีอะฮ์ อิษนาอะชะรี (สิบสองอิมาม)


มีสมญานามว่า อะบูญะอ์ฟัรอัษษานี และในหมู่บรรดาอิมาม ท่านคืออิมามที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะที่เป็นชะฮีด


ท่านอิมามญะวาด (อ.) ดำรงตำแหน่งในฐานะอิมามัต เป็นเวลา 17 ปี และท่านเสียชีวิตในขณะที่มีอายุเพียง 25 ปี เท่านั้น


เนื่องจากท่านอิมามนั้นมีอายุน้อยมากในยามที่บิดาของท่าน หมายถึง ท่านอิมามริฎอ (อ.) เสียชีวิต จนเป็นเหตุให้บรรดาสาวก (อัศฮาบ) ของอิมามริฎอ เกิดความสงสัยในความเป็นอิมามัตของท่านอิมามญะวาด  กลุ่มหนึ่งได้ยึดถือเอา อับดุลลอฮ์ บินมูซา เป็นอิมาม หลังจากท่านอิมามริฎอ บางกลุ่มได้ก่อตั้งสำนักคิด วากิฟีกะฮ์ขึ้นมา แต่ส่วนมากก็เชื่อมั่นและยอมรับว่า ท่านอิมามญะวาด (อ.) คือ อิมามหลังจากท่านอิมามริฎอ


การมีปฏิสัมพันธ์ของอิมามญะวาดกับบรรดาชีอะฮ์ โดยผ่านตัวแทน บรรดาวะกีล ของท่าน ด้วยการเขียนจดหมายผ่านตัวแทนมายังท่านอิมาม


ในยุคสมัยของอิมามที่เก้าของชีอะฮ์ ได้เกิดสำนักคิดต่างๆมากมาย เช่น อะฮ์ลุลฮะดีษ ซัยดียะฮ์ วะกิฟียะฮ์ และพวกฆุลาต ท่านอิมามญะวาดได้อธิบายถึงหลักศรัทธาของสำนักคิดทั้งหลาย และห้ามมิให้มีการทำนมาซตามหลังพวกเหล่านี้ และได้ทำการสาปแช่งกลุ่มฆุลาตอีกด้วย


การโต้ตอบทางวิชาการของท่านอิมามญะวาดกับบรรดานักวิชาการในสำนักคิดต่างๆ ในประเด็นหลักศรัทธา เช่น จุดยืนของคอลีฟะฮ์ทั้งสอง  ประเด็นหลักการปฏิบัติ เช่น การตัดมือของขโมย และหลักการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น ซึ่งถือว่าท่านอิมามญะวาดเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเด็นที่เกี่ยวกับการโต้ตอบทางวิชาการในบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย


บรรดานักวิชาการชาวอะฮ์ลิสซุนนะห์ ต่างก็ให้เกียรติและความเคารพต่ออิมามที่เก้าของบรรดาชีอะฮ์ในฐานะที่เป็นนักการศาสนาผู้หนึ่ง บางคนถือว่า ท่านอิมามเป็นผู้ที่มีความสันทัดและเชี่ยวชาญทางวิชาการทางศาสนาอย่างมาก แม้แต่ คอลีฟะห์ มะอ์มูน แห่งบะนีอับบาซียะฮ์ เอง ยังมีความหลงใหลและมีความสนใจในความรอบรู้ทางวิชาการและจิตวิญญาณของท่านอิมาม ขณะที่ท่านอิมามนั้นยังเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งอยู่ก็ตาม


บรรดานักวิชาการ กล่าวว่า มุฮัมมัด บินอะลี คือ ผู้ที่มีความยำเกรง เป็นคนสมถะและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังในตัวอย่าง รายงานจากอิบนุตัยมียะฮ์ กล่าวว่า เหตุผลที่เรียกเขาว่า ญะวาด เพราะว่า เขาเป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอย่างมาก


ญาฮิซ อุษมาน มุอ์ตะซีละฮ์ ได้กล่าวว่า มูฮัมมัด บินอะลี เป็นนักวิชาการทางศาสนา ผู้สมถะ ผู้ภักดีต่อพระเจ้า ผู้กล้าหาญ ผู้การุณย์ ผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์


ตามรายงานจากเชคมูฟีด กล่าวว่า อิมามญะวาดมีบุตรทั้งหมดสี่คน ได้แก่ อะลี มูซา ฟาฏิมะฮ์ และอิมามะฮ์


บางรายงานกล่าวว่า ท่านอิมามญะวาดมีบุตรีทั้งหมดสามคน คือ ฮะกีมะฮ์ คอดีญะฮ์และอุมมุลกุลษูม


บางรายงานจากนักประวัติศาสตร์ยุคหลัง รายงานว่า อุมมุมุฮัมมัดและซัยนับ คือ ชื่อบุตรีของท่านอิมามญะวาด

 

นักรายงานประวัติศาสตร์ รายงานว่า อิมามญะวาด (อ.) ได้ถือกำเนิดในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 195 ณ เมืองมะดีนะฮ์ แต่ทว่าวันที่และเดือนนั้นมีทัศนะที่แตกต่างกัน ส่วนมากบอกว่า ท่านอิมามถือกำเนิดในเดือนรอมฎอน ขณะที่บางรายงานระบุว่า เป็นวันที่ 15 เดือนรอมฎอน และบางรายงานกล่าวว่า วันที่ 19 เดือนรอมฎอน


เชคฏูซีย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ มิศบาฮุลมุตะฮัจญัด ว่า วันที่ท่านอิมามญะวาด (อ.) ถือกำเนิด คือ วันที่ 10 เดือนรอญับ


ขณะที่บางรายงาน กล่าวว่า ก่อนการถือกำเนิดอิมามญะวาด บางคนจากสำนักคิดวากิฟียะฮ์ กล่าวว่า อะลี บินมูซาจะเป็นอิมามได้อย่างไรกันเล่าในเมื่อเขานั้นไม่มีทายาทสักคน ด้วยเหตุนี้เอง เวลาที่ท่านอิมามถือกำเนิดขึ้นมา ท่านอิมามริฎอจึงเรียกว่า การถือกำเนิดของบุรุษที่มีเกียรติอย่างยิ่งสำหรับบรรดาชีอะฮ์ ขณะเดียวกัน พวกวากิฟียะฮ์ได้ปฏิเสธการเป็นทายาทของอิมามญะวาดจากท่านอิมามริฎอ โดยพวกเขาบอกว่า หน้าตาของญะวาด ไม่มีความคล้ายคลึงกับบิดาของเขาเลย จึงเป็นเหตุให้มีบรรดานักวิชาการที่สัดทัดทางด้านการดูใบหน้ามายืนหยัดว่า อิมามญะวาด คือ บุตรของท่านอิมามริฎอ


เนื่องจากการปิดกั้นทางการเมืองของระบอบการปกครองราชวงศ์อับบาซี และการตะกียะฮ์(การอำพราง)  ทั้งท่านอิมามญะวาดนั้นยังมีอายุที่น้อยมาก จึงเป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถรายงานเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของท่านอิมามได้มากนัก โดยรายงานว่า ท่านอิมามญะวาด (อ.) ใช้ชีวิตในเมืองมะดีนะฮ์ และตามรายงานจากอิบนุบัยฮะกี กล่าวว่า ครั้งหนึ่ง ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้เดินทางมายังเมืองโครอซาน เพื่อเยี่ยมเยียนบิดาของท่าน และหลังจากการเป็นอิมามัตของท่าน  ท่านอิมามญะวาดได้ถูกผู้ปกครองราชวงศ์อับบาซีเรียกตัวท่านให้ไปยังกรุงแบกแดด


แปลและเรียบเรียง โดย เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม