เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 2 บทยูซุฟ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 2 บทยูซุฟ

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงวิทยปัญญาของอัลกุรอานที่ลงมาเป็นภาษาอาหรับ โองการกล่าวว่า

2. إِنَّآ أَنزَلْنهُ قُرْءَاناً عَرَبِيّاً لَّعَلَّكُمْ تَعْقِلُونَ‏

คำแปล :

2. แท้จริง เราได้ประทาน อัล-กุรอานเป็นภาษาอาหรับลงมา เพื่อสูเจ้าจะได้ใช้ปัญญาคิด

คำอธิบาย :

1.คำว่า อาหรับ ตามหลักภาษาหมายถึง ความสว่าง ความกระจ่าง และความชัดเจน แต่ในที่นี้เป็นไปได้ที่จะให้ความหมายเช่นที่กล่าวมา หรืออาจหมายถึงภาษาอาหรับก็ได้

2. อัลกุรอาน โองการดังกล่าวนี้กล่าวถึง ความเป็นวิทยปัญญาของภาษาอาหรับ แต่โดยรวมแล้วสามารถกล่าวถึงเหตุผลด้านล่างนี้ว่า เป็นเหตุผลที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ กล่าวคือ

2.1 เนื่องจากภาษาอาหรับเป็นภาษาที่กว้างและมากไปด้วยคำ พยางค์ และความหมาย ซึ่งสามารถเข้าใจได้ถึงรายละเอียดแห่งปาฏิหาริย์ของวะฮฺยูแห่งพระผู้อภิบาล แต่ภาษาอื่นไม่สามารถทำให้เยี่ยงภาษาอาหรับและไร้ความสามารถในการสื่อสารทำนองนี้

2.2 ศาสดาในทุกประชาชาติจะสามารถโน้มน้าวประชาชนให้หันมาสู่ศาสนาของท่านได้ ก็ต่อเมือท่านมีความสันทัดในภาษาของประชาชาตินั้น และเนื่องจากว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เกิด ณ แคว้นอาหรับ ท่านจึงจำเป็นต้องนำสาส์นที่เป็นภาษาอาหรับมาสั่งสอนประชาชน และวะฮฺยูก็ได้ประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชาติมุสลิมหันมาสู่ท่านศาสดา อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อเตรียมพร้อมการแผ่ขยายแนวคิดให้กว้างต่อไปในอนาคต

2.3 การประทานอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ และเนื่องจากภาษามีศักยภาพด้านวาทศาสตร์สูง มีความยอดเยี่ยมในเชิงของสำนวนและโวหาร อีกทั้งเป็นภาษาที่มีความสละสลวย มีความลงตัวและสื่อสารได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับการใคร่ครวญพิจารณาในอัลกุรอานเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะพิจารณษคำและโองการอัลกุรอานมากเท่าใด เราก็จะได้สาระเพิ่มมากขึ้น ได้คำอธิบายโองการมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดตัฟซีรใหม่อยู่เสมอสำหรับอัลกุรอาน อัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอียฺ นักตัฟซีรชื่อดังแห่งยุคสมัยนี้ เชื่อว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ทุกๆ 2 ปีควรจะมีตัฟซีรอัลกุรอานใหม่ๆ เกิดขึ้น

3. ท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ.) กล่าวว่า  ได้มีชายคนหนึ่งถามท่านอิมามญะอฺฟัร อัซซอดิก (อ.) ว่า เพราะเหตุใดหรือ ทุกสิ่งที่อัลกุรอานได้สอนสั่ง เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็ยังได้รับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) มิได้ประทานอัลกุรอานลงมาให้จำกัดอยู่แค่เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเพื่อประชาชาติใดประชาชาติหนึ่งเท่านั้น ทว่าอัลกุรอาน เป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอตราบจนถึงแห่งการฟื้นคืนชีพ ดังนั้น อัลกุรอานจึงใหม่อยู่ตลอดเวลา และเป็นสิ่งใหม่สำหรับทุกหมู่ชนที่เกิดขึ้นใหม่”[2]

4. อัลกุรอาน เป็นภาษาอาหรับซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประสงค์จากเราคือ ให้เราคิดใคร่ครวญและพิจารณาโองการอัลกุรอานให้มาก ด้วยเหตุนี้  ภาษาอาหรับจึงเป็นภาษาที่สองสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ภาษาอาหรับ เพื่อจะได้รับกุญแจแห่งวะฮฺยูและความสัจจริงไว้ในมือ และสร้างความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นต่อไป

5. อัลกุรอาน ได้เน้นว่าตนได้ถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับถึง 10 ครั้งด้วยกัน ซึ่งเป็นคำตอบแก่บุคคลที่ใส่ร้ายท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้เป็นอย่างดีที่ว่า ท่านศาสดาได้เรียนรู้อัลกุรอานจากบุคคลที่ไม่ใช่อาหรับ

6.โองการข้างต้นได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญนี้ว่า วัตถุประสงค์ของการประทานอัลกุรอานมิได้จำกัดอยู่แค่เพียงการอ่านด้วยเสียงไพเราะ หรือการท่องจำอัลกุรอานเท่านั้น ทว่ายังมีวัตถุประสงค์อันสูงส่งอย่างอื่นอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปฐมบทสำคัญของอัลกุรอานเท่านั้นเอง กล่าวคือวัตถุประสงค์สุดท้ายของอัลกุรอานคือ การใคร่ครวญพิจารณา การสร้างความเข้าใจโองการต่างๆ ของอัลกุรอาน ความเข้าใจภายนอกอันเป็นปัจจัยสำคัญที่เรียกร้องมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติตามอัลกุรอาน.

บทเรียนจากโองการ :

1. การประทานอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับนั้น เพื่อการศึกษาและสร้างความเข้าใจของมนุษย์

2. ภาษาอาหรับ เป็นภาษาของอัลกุรอาน เป็นภาษาที่เป็นทางการของมุสลิมทั้งปวง

3. จงเรียนรู้ภาษาอาหรับเพื่อเป็นปฐมบทในการสร้างความเข้าใจอัลกุรอาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม